SHEIN (ชีอิน) แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นชื่อดังสัญชาติจีน ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ 66,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังอยู่ระหว่างการระดมทุนกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการ IPO และเตรียมจดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ
แต่เส้นทางของ SHEIN ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น บริษัทฯกำลังเจอกระแสต่อต้านหลายด้านทั้ง ประเด็นการใช้แรงงาน หรือการที่อยู่ในอุตหกรรม Fast Fashion ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำลายสิ่งแวดล้อมโลก หรือแม้กระทั้งการละเมิดลิขสิทธิ์แบรนด์ดัง ทั้งหมด อาจส่งผลให้ SHEIN ต้องเลื่อนเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ หากยังไม่สามารถชี้แจงข้อมูลที่กระจ่างแจ้งต่อสาธารณะชนได้
SPOTLIGHT พาทุกคนมารู้จักกับแบรนด์แฟชั่นชื่อดังสัญชาติจีนอย่าง SHEIN อะไรที่ทำให้แบรนด์ SHEIN ครองใจสายแฟชั่น รวมถึงเปิดข้อกังขากับประเด็นดราม่า #แบนshein ผ่านโลกออนไลน์
SHEIN (ชีอิน) คือ แบรนด์บริษัทเสื้อผ้าแฟชั่นและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากประเทศจีน ก่อตั้งขึ้นโดย Chris Xu นักธุรกิจจีนจากเมืองหนานจิง (Nanjing)
ราคาสินค้าของ SHEIN นับว่าเป็นกลยุทธ์เด็ดมัดใจลูกค้า เพราะมีราคาที่ย่อมเยา สามารถหาซื้อได้ไม่ยาก โดย SHEIN มีราคาเริ่มต้นไม่ถึง 1 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับเครื่องประดับ ไปจนถึง 10 เหรียญสหรัฐสำหรับ ชุดเดรส หรือ เสื้อผ้าแบบอื่นๆ
SHEIN ขายเสื้อผ้าที่เป็น Fast Fashion หรือเสื้อผ้าตามกระแสนิยม ดังนั้น SHEIN ต้องมีการอัพเดทสินค้าใหม่อยู่เสมอ โดยเฉลี่ยแล้วมีสินค้าใหม่มากกว่า 2,800 รายการต่อสัปดาห์
SHEIN มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตรงต่อความต้องการของคนทุกเพศ ทุกวัย เช่น เสื้อผ้าผู้หญิง เสื้อผ้าผู้ชาย เสื้อผ้าเด็ก เครื่องสำอาง ของใช้ในครัว ของเล่น-เสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง ไปจนถึงของแต่งบ้านและอุปกรณ์แต่งสวน
SHEIN มีการผลิตออร์เดอร์ตามความต้องการของผู้บริโภค และคำสั่งซื้อ โดยระยะเวลาในการผลิตของ SHEIN ตั้งแต่กระบวนการดีไซน์-การผลิตเสื้อผ้า – เพิ่มจำนวน SKU บนเว็บไซต์ ขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียง 3-5 วันเท่านั้น ส่งผลให้ทางบริษัทลดการสร้างของเสียจากสินค้าคงคลังมากเกินไป และทำให้ลูกค้าพึงพอใจเมื่อไม่ต้องรอหลายสัปดาห์กว่าจะทำตามคำสั่งซื้อ
ในช่วงปีที่ผ่านมาหากเราเล่น TikTok , Instagram หรือ YouTube เราจะพบวีดีโอ SHEIN Haul จากเหล่าอินฟลูเอนเซอร์สายแฟชั่น ร่วมกันเปิดถุงอวดเสื้อผ้าที่เหล่านักช้อปต่างกดซื้อผ่าน SHEIN พร้อมแจกโค้ดลดสำหรับผู้ติดตามของตนเพื่อนำไปเป็นส่วนลดเพิ่มได้เมื่อกดคำสั่งซื้อ
SHEIN Haul กลายเป็นคลิปไวรัลบนสื่อโซเชียมีเดีย จนมีชาวเน็ตหลายคนเริ่มทำวีดีโออวดของตามกัน ซึ่งนี่นับว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่นักช้อปสายแฟชั่น
ส่งผลให้ปัจจุบันในปี 2566 Instagram official ของ SHEIN (@Sheinoffical) มีผู้ติดตามมากกว่า 30 ล้านคน SHEIN ประเทศไทย (@Shein_thailand)มีผู้ติดตามกว่า 9 แสนคน รวมถึง TikTok official ของ SHEIN (@Shein_offical) มีผู้ติดตามกว่า 8.5 ล้านคน
สำนักข่าว CNBC ได้รายงานว่า ปัจจุบันมูลค่าของบริษัท SHEIN อยู่ราวที่ 66,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดูเหมือนว่าทางบริษัทพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ขององค์กร จากการถูกมองว่าขายเสื้อยืดมูลค่า 5 เหรียญ ให้กลายเป็นเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลด้วยการยื่นจดทะเบียน ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (SEC) อย่างลับ ๆ เพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป [IPO] ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
โดยเมื่อเดือนมี.ค.66 ที่ผ่านมา เริ่มมีข่าวว่า SHEIN เตรียมระดมทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์โดยมี General Atlantic, Mubadala, Tiger Global และ Sequoia Capital China เป็นผู้ลงทุนในบริษัท และ เตรียมจ่อเสนอขายหุ้น IPO จดทะเบียน ตลาดสหรัฐ อีกรอบ
ส่งผลให้ตัวแทนพรรคการเมืองในสหรัฐออกมาคัดค้านการเสนอขายหุ้นของบริษัท และเรียกร้องให้ ก.ล.ต.สหรัฐตรวจสอบเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานของบริษัท ก่อนที่จะอนุญาตให้มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
อุตสาหกรรม Fast Fashion ปล่อยมลพิษมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ เพราะการผลิตเสื้อผ้าแต่ละครั้งจะมีการใช้น้ำและพลังงานอย่างมาก ไม่รวมถึงของเสียและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สารเคมีย้อมผ้าที่ถูกปล่อยออกมา
เป็นที่รู้กันว่า SHEIN ผลิตสินค้าแฟชั่นที่เน้นปริมาณไม่เน้นคุณภาพ เน้นเร็วตามกระแส เสื้อผ้าของ SHEIN ถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ยิ่งเสื้อผ้าทุกตัวได้ถูกบรรจุใส่อยู่ในถุงพลาสติกอีก ทำให้อาจก่อเกิดเกิดปัญหาเรื่องขยะพลาสติกเพิ่มอีกเป็นเท่าตัว
SHEIN ได้ออกมายืนยันว่า ทางบริษัท เลือกใช้วัสดุรีไซเคิลเเละเทคโนโลยีที่ลดการใช้พลังงาน รวมถึงมีโครงการรีไซเคิลเพื่อจูงใจให้เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัสดุหมุนเวียนมากขึ้น เช่น เส้นใยโพลีเอสเทอร์รีไซเคิล (จากเสื้อผ้า 52,000 แบบ มีเพียง 64 แบบที่ผลิตจากเส้นใยโพลีเอสเทอร์รีไซเคิล) อย่างไรก็ตามยังไม่มีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงยังไม่มีความชัดเจนมากนัก
จากกระแสดราม่า #แบนSHEIN มีคนได้ออกมาเปิดเผยว่า SHEIN ใช้ฝ้ายที่ได้มาจากแรงงานในเขตอุยกูร์ ถูกกล่าวหาว่าใช้แรงงานเด็ก รวมถึงการให้เงินเดือนที่ไม่เป็นธรรม และแรงงานต้องทำงานถึงดึกดื่น อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย โดยแต่ละกะต้องทำนานถึง 15 ชั่วโมง เพราะต้องรีบส่งสินค้าให้ทันภายใน 7 วัน
ที่ผ่านมาโฆษกของ SHEIN ได้ออกมาเปิดเผยตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค 64 ว่าทาง SHEIN ขอปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากทางบริษัทได้จ้างพนักงานที่โรงงานกว่างโจว ไม่มีการใช้แรงงานเด็กอย่างที่ถูกกล่าวอ้าง เช่นเดียวกันพนักงานจะได้รับเงินค่าจ้างในการผลิต 16 หยวน หรือ 187 บาทต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ SHEIN ยังถูกกล่าวหาว่า มักนำแนวคิดหรือรูปแบบการดีไซน์ต่างๆมาจากเหล่าแบรนด์ดังอื่นๆ แล้วมาพัฒนาเป็นสินค้าของตนเอง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเข้าของลิขสิทธิ์ แถมยังมีประเด็น ร้องเรียนว่าสินค้าไม่ตรงปกที่เวลาหลายคนสั่งมาจะได้สินค้าคนละแบบกับในรูป
จากประเด็นข้อกล่าวหาทั้งหมด SHEIN เคยได้ออกมาปฎิเสธข่าวลือกับสำนักข่าวรอยเตอร์ทางอีเมลล์ ว่าทางบริษัทขอปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา และไม่ขอตอบรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
จะเห็นได้ว่า SHEIN พยายามสร้างความเข้าใจต่อสังคมในบางเรื่อง โดยมีการเปิดเผยข้อมูลบ้างบางส่วน แต่หลายเรื่องยังคงคลุมเครือ ทำให้กระสังคมบางส่วนยังคงต่อต้านแบรนด์ SHEIN อยู่ไม่น้อย ยิ่งหาก SHEIN กำลังมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดสหรัฐ ยิ่งคงต้องเพิ่มการพิสูจน์ตัวเอง รวมถึงเปิดเผยความ SHEIN มากกว่านี้ เส้นทางบริษัทแฟชั่นรายใหญ่จากจีน ‘SHEIN’ จะจบลงอย่างไรคงต้องติดตามดูกันต่อไป เพราะนอกจากรอคำชี้แจงของบริษัทแล้ว การต่อสู้กันทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐ กับ จีน ก็อาจส่งผลต่อเส้นทางธุรกิจของ SHEIN ได้เช่นกัน