Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
หรือรถปลั๊กอินไฮบริดคือทางเลือกยุคเปลี่ยนผ่านสำหรับคนที่ยังไม่กล้าซื้ออีวี?
โดย : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

หรือรถปลั๊กอินไฮบริดคือทางเลือกยุคเปลี่ยนผ่านสำหรับคนที่ยังไม่กล้าซื้ออีวี?

29 มี.ค. 67
20:45 น.
|
665
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

  • รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทะลุ 7.4 หมื่นคันในปี 2566 และคาดว่าจะแตะ 1 แสนคันในปี 2567
  • Pain Point ของคนที่ลังเล ยังไม่ตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้าคือเรื่องการอัดประจุแบตเตอรี่หรือการชาร์จไฟ โดยเฉพาะเมื่ออยู่นอกบ้าน กลายเป็นว่าหลายบ้านเลือกซื้อรถไฟฟ้าเป็น ‘รถคันที่สอง’
  • รถปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) จะเข้ามาตอบโจทย์และอุดช่องว่างในจิตใจของผู้ที่ยังกล้าๆกลัวๆ กับการใช้งานรถอีวีเป็นรถคันเดียว หรือ รถคันแรก 

คงพอจะบอกได้แล้วว่างานมอเตอร์โชว์รอบนี้ เป็นเวทีของค่ายรถยนต์แบรนด์จีนจริงๆ

เพิ่งจะเริ่มเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาสำหรับงาน Bangkok International Motorshow ครั้งที่ 45 ที่เมืองทองธานี เป็นมหกรรมยนยนต์ที่จัดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนในประเทศอยู่ในจุดที่ท้าทายอย่างยิ่ง จากทั้งปัญหาความล่าช้าจากการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐที่ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และหนี้ครัวเรือนที่ทะลุ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็นกว่า 90% ของขนาดเศรษฐกิจประเทศเข้าไปแล้ว สะท้อนผ่านยอดขายรถยนต์ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์หายไปถึง 1.8 หมื่นคัน หรือกว่า 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น คนจะกู้ก็กู้ยากขึ้น อัตราการปฏิเสธสินเชื่อรถพุ่งสูงถึง 30%

คนที่ยังมีกำลังซื้อดีก็พร้อมจะควักเงินจ่ายซื้อรถราคาสูงขับต่อไป เช่นเดียวกับชนชั้นกลางที่ข้อมูลเครดิตและประวัติการชำระเงินปกติก็พร้อมจะลองใช้ ‘รถไฟฟ้าคันแรก’ กับเขาบ้าง ส่วนกลุ่มที่มีหนี้รุมเร้าและระดับฐานรากคงเลิกคิดเรื่องซื้อรถใหม่ไปก่อนในช่วงนี้

รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีเป็นกระแสที่มาแรง ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทะลุ 7.4 หมื่นคันในปี 2566 และคาดว่าจะแตะ 1 แสนคันในปี 2567 จากปัจจัยสนับสนุนที่ภาครัฐเข้ามาช่วยอุดหนุน รวมทั้งการทำการตลาดที่เข้มข้นของบรรดาค่ายรถ ไม่ว่าจะเป็น BYD ของทาง ‘เรเว่ ออโตโมทีฟ’ โดยสองพี่น้อง ประธานวงศ์และประธานพร พรประภา ที่เปิดเกมดุ ขยายโชว์รูม 100 จุดในปีแรกที่ทำตลาด มีรถพร้อมส่งมอบลูกค้าทันที แตกไลน์สินค้าครอบคลุมทั้ง Atto3 รถเอนกประสงค์เอสยูวีสำหรับครอบครัว  Seal รถซีดานสำหรับผู้ที่ชอบความปราดเปรียว และทีเด็ดคือ Dolphin รถขนาดเล็กที่เปิดราคาเริ่มต้นเพียง 7 แสนบาทก็เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าได้แล้ว โดยทางผู้บริหารของเรเว่ ออโตโมทีฟก็เตรียมลุยตลาดรถเชิงพาณิชย์สำหรับการขนส่งในก้าวต่อไปด้วย

BYD

แบรนด์แรกๆที่ทำตลาดรถไฟฟ้าในไทยก่อนใครอย่าง MG ก็เปิดรถใหม่หลายรุ่น ที่โดดเด่นและคาดหวังไว้สูงคือ MG4 โฉมใหม่ที่เสียงตอบรับจากรุ่นเดิมค่อนข้างดี ทั้งสมรรถนะและระดับราคาที่ดึงดูด โดยรุ่นล่าสุดนี้เป็นล็อตแรกที่เริ่มผลิตในประเทศไทยตามเงื่อนไขของมาตรการ EV 3.0 ก่อนหน้าที่ต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 1 คัน เพื่อชดเชยการนำเข้ารถไฟฟ้า 1 คัน ก่อนจะค่อยๆเพิ่มสัดส่วนการผลิตรถยนต์ในประเทศต่อรถยนต์นำเข้าจนถึงสัดส่วน 1: 3 ในปี 2570

ขณะที่น้องใหม่ใจถึงอย่างเสี่ยวเผิง (Xpeng) ที่มีบริษัทลูกของ ปตท. เป็นผู้แทนจำหน่าย และฉางอัน (Changan)ที่เพิ่งเข้ามาตั้งโรงงานที่จังหวัดระยอง ก็เปิดตัวยิ่งใหญ่ในงาน ใช้พื้นที่จัดงานขนาดใหญ่ทัดทียมกับค่ายรถยนต์อื่นหวังตีตลาดประเทศไทย

Xpeng

changan

สิ่งที่น่าสังเกตคือค่ายรถต่างพยายามผลักดันยอดขายรถอีวีด้วยส่วนลดก้อนโตรวมทั้งเปิดตัวรถรุ่นเล็กราคาถูก พุ่งเป้าไปที่รถระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทที่ถือว่าซื้อง่ายขายคล่อง ฐานลูกค้ากว้าง สร้างจุดตัดสินใจให้เปลี่ยนหรือทดลองใช้ (Switching point) ได้ไม่ยาก จึงไม่แปลกที่ผู้บริหารของบางค่ายจะเริ่มกังวลเรื่องสงครามราคาที่หลีกเลี่ยงได้ยากในประเทศไทย แม้ก่อนหน้านี้ค่ายรถจีนจะออกโรงแถลงข่าวตอกย้ำว่าจะไม่ลดราคาแข่งกันก็ตาม

ผมไม่ทำ คุณก็ทำ

สิ่งที่ถือว่าเป็นปัญหาหรือ Pain Point ของคนที่ลังเล ยังไม่ตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้าคือเรื่องการอัดประจุแบตเตอรี่หรือการชาร์จไฟ โดยเฉพาะเมื่ออยู่นอกบ้าน กลายเป็นว่าหลายบ้านเลือกซื้อรถไฟฟ้าเป็น ‘รถคันที่สอง’ สำหรับการใช้ประจำวัน ขับขี่ในเมือง แต่เมื่อต้องเดินทางออกต่างจังหวัดก็ยังเลือกใช้รถเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบเดิมอยู่เพื่อความั่นใจว่าจะมีปั๊มให้เติมน้ำมันตลอดทาง คล่องตัว ไม่ต้องต่อคิดรอชาร์จไฟ ยิ่งถ้าเป็นช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว ก็ยิ่งไม่กล้าคิดใช้รถไฟฟ้าเลย

โจทย์เรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นการบ้านข้อใหญ่ของทั่วโลกในการสร้างระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะในยุคเริ่มต้นแบบนี้ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนยากจะคาดเดา การลงทุนขนาดใหญ่โดยไม่คิดให้รอบคอบก็อาจเสี่ยง ‘ตกยุค’ ได้ง่ายๆ เรื่องนี้จึงเหมือนปัญหาไก่กับไข่ ที่ตัวผู้ใช้งานก็รอโครงสร้างพื้นฐาน สถานีชาร์จเพิ่มจำนวนให้ทั่วถึงและครอบคลุม ส่วนคนลงทุนก็รอจำนวนผู้ใช้งานให้มีมากพอเพื่อขยายธุรกิจเพื่อให้แน่ใจว่าจะคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่จ่ายไป   

จึงไม่แปลกที่ ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญนี้รถปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) จะเข้ามาตอบโจทย์และอุดช่องว่างในจิตใจของผู้ที่ยังกล้าๆกลัวๆ กับการใช้งานรถอีวีเป็นรถคันเดียว หรือ รถคันแรก โดยปลั๊กอินไฮบริดเป็นการใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรถในระยะที่กำหนด เมื่อถึงจุดหนึ่งถ้าแบตเตอรี่หมด รถจะตัดกลับไปใช้น้ำมัน ผู้ขับขี่สามารถขับต่อไปได้โดยไม่ต้องกังวล กลับไปชาร์จไฟที่ปลายทางทีเดียว ซึ่ง BYD ก็เตรียมเปิดตัว SEAL UDM-I รถเอสยูวีแบบปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวไปแล้วที่งานเจนีวา ประเทศเยอรมนี หรือค่ายญี่ปุ่นอย่าง Mazda ก็เปิดตัว MX-30 รถเอสยูวีปลั๊กอินไฮบริดเครื่องยนต์โรตารี่ในงานมอเตอร์โชว์เช่นเดียวกัน ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของค่ายรถที่ยังเห็นความจำเป็นของสินค้าที่ตอบโจทย์ช่องว่างทางการตลาดนี้

ค่อนข้างชัดว่าเซ็กต์เมนต์ของตลาดนี้มีกำลังซื้อ ต้องการความชัวร์ให้กับการขับขี่ของตนเองและครอบครัว ไม่อยากเจอกับสถานการณ์ ‘ไปตายเอาดาบหน้า’ โดยเด็ดขาด

หรือค่ายรถหรูอย่าง Mercedes Benz ก็ยังเปิดตัว New E-Class Launch Edition E350 ปลั๊กอินไฮบริด ในราคา 4 ล้านต้นๆ เพื่อทำตลาดรถผู้บริหารที่เป็นแฟนๆของ E-Class อย่างเหนียวแน่น โดยรถคันนี้สามารถวิ่งด้วยพลังงานจากแบตเตอรี่ในระยะทาง 100 กิโลเมตร จากนั้นจึงใช้ระบบน้ำมัน ซึ่งระยะทาง 100 กิโลเมตรนี้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในเมืองได้เป็นอย่างดีที่ขับรถไปกลับบ้านและที่ทำงาน ถึงจะแวะบางจุดระหว่างอย่าง ระยะวิ่งโดยรวมก็คงไม่เกิน 100 กิโลเมตร ยังได้สัมผัสประสบการณ์แบบรถไฟฟ้าที่ประหยัดค่าเชื้อเพลิงในการเดินทางไปในตัว

mercedes-benz-e-class-05

“ลูกค้าของเบนซ์ประมาณครึ่งนึงซื้อรถด้วยเงินสดครับ อีกครึ่งก็ติดต่อธนาคาร ทุกคนต้องการความสบายใจทั้งหมด เราจึงต้องให้ประสบการณ์ที่ดีที่สุดกับเขา” อัชฌ์ บุณยประสิทธิ์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท เมอร์เซเดส เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับผู้เขียนและตอกย้ำเรื่องทิศทางการทำตลาดที่สอดประสานระหว่างความเป็นจริงของตลาดและการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยมองว่าถ้าโจทย์คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือต่ำที่สุดการใช้รถอีวีก็อาจไม่ใช่คำตอบเดียวก็ได้เพราะปัจจุบันเมอร์เซเดส เบนซ์ได้พัฒนาเครื่องยนต์มาตรฐานสูงที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเดิมหลายเท่าตัวอยู่แล้ว

ทิศทางของตลาดรถยนต์จากนี้คงไม่ใช่แค่ขาวกับดำโดยมีรถอีวีเป็นเส้นแบ่ง หากแต่เป็นการผสมผสานกันของรถยนต์หลากหลายประเภทที่ตอบสนองเงื่อนไขชีวิตของผู้ขับที่ที่แตกต่างกันออกไป ใครที่จับจังหวะช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้ ก็จะได้เปรียบมากกว่า...เพราะวันข้างหน้าไม่รู้ว่าคนจะใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันหมดหรือเปล่า รู้แต่ว่าวันนี้ยังต้องขายของและธุรกิจต้องอยู่ต่อไปให้ได้ 

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวเศรษฐกิจและผู้ก่อตั้งเพจ BizKlass

แชร์

หรือรถปลั๊กอินไฮบริดคือทางเลือกยุคเปลี่ยนผ่านสำหรับคนที่ยังไม่กล้าซื้ออีวี?