‘Pride Month’ หรือ เดือนไพรด์ เป็นอีเวนท์ประจำปีที่เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกในฐานะเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในกลุ่ม LGBTQ+ ได้ออกมาแสดงพลังเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ และออกมาเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศที่มากกว่าการเป็น ‘ชาย-หญิง’
แต่แม้จะเป็นอีเวนท์ที่หลายๆ คนรู้จักและคุ้นเคยกันดีแล้ว เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไม Pride Month จึงจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน? และทำไมคำว่า ‘Pride’ จึงกลายมาเป็นสโลแกนของชาว LGBTQ+ ในการเรียกร้องสิทธิให้กับคนในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ?
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ และระลึกถึงการต่อสู้ของชาว LGBTQ+ ในบทความนี้ SPOTLIGHT จะพาทุกคนไปดูที่มาของเดือนไพรด์กันว่า มีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ใด และทำไมจึงพัฒนามาเป็นหมุดหมายแห่งการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมทางเพศของชาว LGBTQ+ ทั่วโลก
หากดูจากรูปแบบการจัดงานไพรด์ในปัจจุบัน หลายๆ คนอาจจะเข้าใจไปว่า งานไพรด์เป็นการเฉลิมฉลอง ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมาเดินขบวนโชว์อัตลักษณ์ ตัวตน และความหลากหลายให้แก่คนทั่วไปพบเห็น ซึ่งในแง่หนึ่ง การเดินขบวนเพื่อแสดงตัวตนก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญในเดือนไพรด์ เพราะเป็นการทำให้คนในสังคมรับรู้และยอมรับการมีตัวตนของชาว LGBTQ+
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดที่แท้จริงของงานไพรด์ การบอกว่าเดือนไพรด์เป็นการเฉลิมฉลองก็อาจจะเป็นการจำกัดความที่แคบ และผิดจุดประสงค์ที่แท้จริงของการเดินขบวนเดือนไพรด์ไป
เพราะแท้จริงแล้ว เช่นเดียวกับการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในด้านอื่นๆ Pride Month ไม่ได้มีจุดกำเนิดมาจากงานรื่นเริงเฉลิมฉลอง แต่เริ่มต้นมาจาก ‘การประท้วง’ และการเดินขบวนปะทะกับผู้มีอำนาจเพื่อเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมให้กับตัวเอง
โดยการประท้วงที่ว่า ก็คือ ‘การจลาจลสโตนวอลล์’ (Stonewall Riot) ที่เกิดขึ้นในเช้าตรู่วันที่ 28 มิถุนายนปี 1969 ณ บาร์เกย์ในโรงแรม Stonewall Inn ในกรีนิชวิลเลจ กรุงนิวยอร์ก หลังจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นคนในบาร์ โดยอาศัยกฎหมายเกี่ยวกับแอลกอฮอลล์และสิ่งเสพติด และกฎหมายกำหนดเครื่องแต่งกายให้ประชาชนแต่งกายให้ตรงกับเพศกำเนิด ซึ่งแน่นอนว่า เป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้แต่งกาย และแสดงออกตามเพศสภาพที่แท้จริงของตัวเอง
การบุกเข้าจับกุมประชาชนในบาร์และสถานที่บันเทิงเป็นสิงที่เกิดขึ้นเป็นประจำในยุคนั้น และก่อนหน้าก็ไม่มีใครเคยโต้ตอบจริงจัง เพราะไม่อยากเจ็บตัวหรือมีปัญหากับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย จนกระทั่งในวันที่ 28 มิถุนายนปี 1969 ที่ชาว LGBTQ+ และเพื่อนในบาร์สโตนวอลล์สู้กลับ
การจลาจลในครั้งนั้นได้พัฒนาไปเป็นการประท้วงเป็นเวลายาวนานหลายวัน เพื่อเรียกร้องสิทธิในการแสดงออกตามอัตลักษณ์และเพศสภาพ และสิทธิในการดำเนินชีวิตที่เท่าเทียมของชาว LGBTQ+ และนับเป็นจุดกำเนิดของการประท้วงเพื่อสิทธิมนุษยชนของชาว LGBTQ+ ในยุคสมัยใหม่
ดังนั้น เพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญของชาว LGBTQ+ ที่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เสี่ยงชีวิตเพื่อสิทธิของตัวเองในวันนั้น นักเคลื่อนไหวและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็ได้มีการจัดการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิให้ชาว LGBTQ+ เป็นประจำทุกปีในวันที่ 28 มิถุนายน
นอกจากนี้ คำว่า ‘Gay Pride’ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ‘Pride Month’ ก็ถูกใช้เป็นครั้งแรกในงานไพรด์ปี 1970 ซึ่งเป็นการจัดงานไพรด์ครั้งแรกของโลก โดยนักเคลื่อนไหวที่ชื่อว่า Craig Schoonmaker ที่ตัดสินใจใช้คำว่า pride แทนคำว่า power
เพราะเขามองว่าอำนาจไม่ใช่สิ่งที่ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบอย่างชาว LGBTQ+ จะมีได้ และไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ ‘ความภาคภูมิใจ’ และความพึงพอใจในความเป็นตัวเอง ไม่ปล่อยให้กฎเกณฑ์สังคมแคบๆ มาทำให้รู้สึกว่าตัวเองแปลกประหลาด ด้อยกว่า หรือไม่สมควรได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ
ในช่วงแรก การเดินขบวนไพรด์มีอยู่ในเพียงเมืองใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น นิวยอร์ก ชิคาโก และแคลิฟอร์เนีย และจัดขึ้นภายในวันที่ 28 มิถุนายน เท่านั้น ไม่ได้จัดขึ้นทั้งเดือน หรือว่าจัดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลกเหมือนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป การรายงานของสื่อ และการประชาสัมพันธ์ของผู้จัดงาน ก็ทำให้การจัดงานไพรด์เป็นที่รู้จัก ขยายไปในเมืองเล็กๆ ในสหรัฐฯ และมีอิทธิพลในทางการเมืองมากขึ้น จนทำให้ ในปี 2000 ประธานาธิบดี บิล คลินตัน ออกมาประกาศให้ทั้งเดือนมิถุนายนเป็น pride month
การประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือนไพรด์ทำให้งานไพรด์ขยายจากการเดินขบวนวันเดียวเป็นการเดินขบวนและเฉลิมฉลองทั้งเดือน และทำให้การจัดงานไพรด์เป็นที่รู้จัก และเป็นอีเวนต์ของการเรียกร้องสิทธิของชาว LGBTQ+ ทั้งโลก รวมถึง ประเทศที่ความหลากหลายทางเพศยังเป็นเรื่องยังไม่ได้รับการยอมรับ หรือผิดกฎหมายร้ายแรง
นี่ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป งานไพรด์ก็กลายเป็นการเรียกร้องสิทธิที่มีความหลากหลาย มีความเป็นสากล โอบรับวัฒนธรรมที่แตกต่างมากขึ้น และเป็นการแสดงพลังและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หรือ solidarity ของคนในกลุ่มคนที่มีหลากหลายทางเพศทั่วโลก ที่พร้อมจะออกมาเรียกร้องสิทธิให้กับชาว LGBTQ+ และกลุ่มชายขอบอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศหรือพื้นที่ที่ชาว LGBTQ+ ได้รับการยอมรับพอสมควรแล้ว
เมื่อดูจากที่มาของเดือนไพรด์ จะเห็นได้ว่าแก่นสารของงานไพรด์ไม่ได้เป็นเพียงงานรื่นเริงที่เปิดโอกาสให้ชาว LGBTQ+ ออกมาแต่งตัวเดินขบวนสวยๆ หรือเป็นโอกาสให้บริษัทห้างร้านนายทุนต่างๆ ออกสินค้าสีรุ้งออกมาขายหาผลกำไร หรือ ออกแคมเปญทำ CSR ให้กับองค์กร เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าตัวเองเป็นองค์กรที่สนับสนุนความเท่าเทียมเท่านั้น
แต่งานไพรด์ คือ ‘การประท้วง’ และการเปิดโอกาสให้ชาว LGBTQ+ ออกมาประกาศให้สังคมรู้ว่าชาว LGBTQ+ มีตัวตน และเป็นมนุษย์ที่สมควรจะได้รับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ใช้ชีวิต และประกอบอาชีพ ที่เท่าเทียมกับผู้ที่มีเพศสภาพและรสนิยมทางเพศตรงตามค่านิยมดั้งเดิม โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ หรือถูกทำร้ายจากความเกลียดชังเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ในยุคปัจจุบันที่อัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชายหญิง และความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายในบางประเทศ การเดินขบวนไพรด์จึงยังมีความจำเป็นอยู่เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับผู้ที่อยู่ในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก และได้กลายเป็นวันและเดือนแห่งการแสดงออกของชาว LGBTQ+ ให้ชาวโลกได้ระลึกถึงและให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศอีกช่องทางหนึ่ง