ปัจจุบัน ‘อินเดีย’ มีประชากรราว 1,440 ล้านคน และนับว่าเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ซึ่งกำลังการบริโภคมหาศาลนี้กำลังหนุนให้เศรษฐกิจอินเดียเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางอินเดีย (RBI) คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี (GDP) ในปี 2024 ไว้ที่ระดับ 7% ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จากสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดว่าจีดีพีของอินเดียจะเติบโตที่ระดับ 7.3%
การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียในตอนนี้กำลังดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกให้มาลงหลักปักฐานในแดนภารตะ สวนทางกับคนในชาติที่พยายามหาโอกาสออกไปทำงานและลงหลักปักฐานในต่างประเทศ เนื่องจากปัญหาความขาดแคลนและความเหลื่อมล้ำสูง ชาวอินเดียจำนวนมากจึงพยายามยกระดับชีวิตของตนเองด้วย ‘การศึกษา’ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพาตนเองและครอบครัวหนีออกไปจากประเทศนี้
ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียเปิดเผยว่า แนวโน้มการสละสัญชาติของชาวอินเดียกำลังมีมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2018 มีการสละสัญชาติจำนวน 134,561 ราย ถัดมาในปี 2019 จำนวน 144,017 ราย และปี 2020 มีจำนวนลดลงเล็กน้อยคือ 85,256 ราย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาดและมีการล็อกดาวน์ทั่วโลก ก่อนที่ตัวเลขดังกล่าวจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2021 จำนวน 163,370 ราย และพุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจในปี 2022 ถึง 225,620 ราย ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนมิถุนายน ปี 2023 พบว่ามีชาวอินเดียยื่นขอสละสัญชาติแล้ว 87,026 ราย
แล้วชาวอินเดียที่ตัดสินใจสละสัญชาติเขาไปอยู่ที่ประเทศไหนกัน ? ลำดับแรก ๆ คือ ‘ออสเตรเลีย’ เนื่องจากมีเสถียรภาพทางการเมือง มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อากาศดี และปลอดภัย ขณะเดียวกัน ‘สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’ คือตัวเลือกที่เหล่ามหาเศรษฐีชาวอินเดียตัดสินใจไปลงหลักปักฐานมากกว่า เนื่องจากมีความปลอดภัย ภาษีต่ำ เต็มไปด้วยห้างร้านหรูหรา และเป็นเมืองแห่งการเจรจาธุรกิจ
อีกหนึ่งประเทศที่มีชาวอินเดียย้ายไปอยู่มากเป็นลำดับต้น ๆ คือ ‘สหรัฐอเมริกา’ ซึ่งผู้คนจากแดนภารตะไม่ได้ย้ายเข้าไปแบบธรรมดา แต่หลายคนได้นั่งเก้าอี้ผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เช่น สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ซีอีโอ Microsoft, ซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ซีอีโอ Google หรืออาร์วินด์ คริชนา (Arvind Krishna) ซีอีโอ IBM ซึ่งบุคคลที่ถูกยกรายชื่อมานี้ พวกเขาล้วนเกิด เติบโต และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่อินเดียทั้งหมด
ในเมื่อประเทศมีความไม่สมบูรณ์พร้อมในหลาย ๆ ด้าน แต่คนอินเดียก็ยังใช้ ‘การศึกษา’ เป็นเครื่องมือในการยกระดับชีวิตของตนเองไปจนถึงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกได้ แปลว่า ‘การศึกษาของอินเดีย’ ต้องมีความพิเศษอะไรบางอย่างซุกซ่อนอยู่
ในปี 1947 อังกฤษได้มอบเอกราชให้แก่อินเดีย โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถบริหารจัดการประเทศได้อีกต่อไป และต้องการถอนตัวออกไปโดยเร็วที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่ยังหลงเหลือไว้ในอินเดียคือ ‘ภาษาอังกฤษ’ ที่แม้ว่าจะเป็นมรดกตกค้างจากยุคอาณานิคมที่หลายคนไม่พึงใจ แต่ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ชาวอินเดียสามารถสื่อสารกับผู้คนได้ทั่วโลก รวมถึงการสืบค้นและเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่ยักษ์ที่มีเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษเช่นกัน
ชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) คือนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย และเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในระบบการวางรากฐานระบบการศึกษาของประเทศที่มุ่งเน้นไปยังศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ซึ่งหลายคนน่าจะคุ้นหูผ่านชื่อย่อ STEM โดยเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีเนห์รูต้องมุ่งเน้นในศาสตร์ 4 ด้านนี้ ก็เพื่อให้อินเดียสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษอย่างกะทันหันในช่วงปลายยุค 40s
ระบบการศึกษา STEM คือการบูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์ 4 ด้านเข้าด้วยกัน โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะหรือการปฏิบัติจริง ไม่ใช่เพียงการท่องจำหรือเรียนเฉพาะทฤษฎีเท่านั้น นอกจากนี้ อินเดียยังมีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นวิชากลุ่ม STEM โดยเฉพาะ เช่น Indian Institutes of Technology หรือ IIT สถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในอินเดีย และมีศิษย์เก่าคนดังอย่าง ซันดาร์ พิชัย และ อาร์วินด์ คริชนา ซึ่งเป็นซีอีโอบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอีกด้วย
เมื่อประกอบกับเทรนด์หลักของโลกในปัจจุบันที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวนำ ทำให้ ‘ทรัพยากรบุคคล’ ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน STEM มีมูลค่าสูงกว่าด้านอื่น ๆ ใบปริญญาและทักษะจากระบบการศึกษา STEM จึงถือเป็นใบเบิกทางชั้นยอดในการพาชาวอินเดียออกไปยังตลาดแรงงานที่มีสภาพแวดล้อมดีกว่าประเทศบ้านเกิด รวมถึงอาจจะจ่ายค่าแรงแพงกว่า เช่น สหรัฐอเมริกา อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีระบบการศึกษา STEM ชั้นยอด และมีการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันจนเชี่ยวชาญ แต่ความขาดแคลนและความเหลื่อมล้ำสูงในประเทศก็กีดกันชาวอินเดียจำนวนมากออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากระบบวรรณะ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ และความยากจนในบางพื้นที่ ชาวอินเดียหลายคนที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจึงพยายามอย่างสุดความสามารถในการร่ำเรียน เพราะพวกเขารู้ว่าสิ่งนี้มีคุณค่ามากเพียงใด
ที่มา : Choice, Statista, Government of India, Education for All in India, International School of Thrissur