หลังจากที่ Meta ประกาศปิดการใช้งานฟิลเตอร์ใบหน้า และเอฟเฟกต์ AR ของบุคคลที่สามทั้งหมดบนทุกแพลตฟอร์ม รวมถึง เครื่องมือที่ใช้สร้างฟิลเตอร์ ในวันที่ 14 มกราคม 2568 ยกเว้นเอฟเฟกต์ AR ของ Meta ที่ยังใช้งานได้ต่อไป ทำให้เกิดการถกเถียงถึงสาเหตุในการปิดตัวบริการ ท่ามกลางการใช้งานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยในเว็บไซต์ของ Meta ได้ระบุถึงสาเหตุของปิดตัวว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลยุทธ์เพื่อให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น หลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว Meta จะให้ความสำคัญกับการลงทุนส่วนอื่นเป็นหลัก ทำให้บริษัทไม่สามารถให้การสนับสนุนบริการต่อไปได้
ในเวลาเดียวกัน ตลาด AR กำลังเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งคาดว่าจะเติบโตจากประมาณเกือบ 4.23 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 1.45 ล้านล้านบาท ในปี 2024 เป็น 2.48 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 8.48 ล้านล้านบาท ในปี 2029
อะไร คือ สาเหตุหลักที่ Meta ต้องการปิดตัวฟีเจอร์นี้ SPOTLIGHT สรุปมาให้แล้วในบทความนี้
ตลาดเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง หรือ Augmented Reality (AR) กำลังประสบกับการเติบโต และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ตั้งแต่ปี 2024 ถึงปี 2029 ตลาด AR ทั่วโลกคาดว่า จะเติบโตด้วยอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 42.36%
โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหนึ่งในตลาด AR ที่เติบโตเร็วที่สุด ขับเคลื่อนโดยการเข้าถึงสมาร์ทโฟนที่สูง และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในเทคโนโลยี AR ในขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าในเทคโนโลยี AR และการนำไปใช้ที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ส่งเสริมให้ตลาด AR มีการเติบโตมากขึ้น
นอกจากนี้ การนำ AR เข้าใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ ทั้ง AI, IoT, ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ก็เพิ่มความสามารถ และการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งธุรกิจหลายแบรนด์ก็หันมาใช้ฟิลเตอร์ AR ในการทำการตลาดเพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำ และดึงดูดลูกค้า
การโฆษณาด้วย AR กำลังเป็นหนึ่งในกระแสหลักระดับโลก โดยคาดว่ารายได้จากโฆษณา AR จะทะลุ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 6.84 หมื่นล้านบาท ภายในสิ้นปี 2023 ด้วยอัตราการมีส่วนร่วม (engagement) และการแปลงสำหรับประสบการณ์ AR เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ AR เป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าสำหรับนักการตลาด
อย่างเช่น IKEA ใช้แอป ‘IKEA Place’ ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถวางเฟอร์นิเจอร์เสมือนจริงในบ้านก่อนตัดสินใจซื้อได้ ซึ่งพบว่า ลูกค้ามีส่วนร่วมในแอปเพิ่มขึ้น 35% หลังจากเปิดตัว AR ส่วน Sephora มีฟิลเตอร์ AR ที่ช่วยให้ลูกค้าลองเครื่องสำอางเสมือนจริงผ่านแอป ‘Sephora Virtual Artist’ ส่งผลให้การมีส่วนร่วมของลูกค้าที่มีต่อแอปเพิ่มขึ้น 200% และยอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้น 30%
ไม่เพียงเท่านี้ Taco Bell ยังใช้ฟิลเตอร์ AR บน Snapchat ที่เปลี่ยนหน้าผู้ใช้เป็นทาโก้ยักษ์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก โดยฟิลเตอร์นี้มีผู้เข้าชมมากกว่า 224 ล้านครั้งในหนึ่งวัน ทำให้เป็นหนึ่งในแคมเปญ Snapchat ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด
Meta เปิดตัวเครื่องมือ AR อย่าง ‘Meta Spark’ ครั้งแรกในปี 2017 โดยเปิดตัวในช่วงที่ AR ยังเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับผู้บริโภคจำนวนมาก เพื่อตอบสนองต่อฟีเจอร์ AR ของ Snapchat ที่กำลังได้รับความนิยม
โดยแพลตฟอร์ม Spark ใช้ในการสร้างฟิลเตอร์ใบหน้า เหมือนบน Snapchat หรือ TikTok ที่ทำให้ผู้ใช้งานมีใบหน้าที่เปลี่ยนไป ทั้งดูแก่ขึ้น เด็กลง หรือเปลี่ยนตัวการ์ตูน สัตว์ รวมถึงเกม AR และโฆษณาอีกมากมาย
ตั้งแต่นั้นมา เอฟเฟกต์ AR ถูกใช้หลายพันล้านครั้ง โดยผู้ใช้งาน Meta หลายร้อยล้านคน ตามที่บริษัทกล่าวในการประกาศ ซึ่งแรงผลักดันที่มากพอสมควร ทำให้ Meta Spark เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์ม AR ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเวลานั้น
นอกจากการสร้างเอฟเฟกต์สำหรับ Facebook และ Instagram แล้ว โปรแกรมดังกล่าว ยังขยายตัวในปี 2021 ด้วยความสามารถในการสร้างเอฟเฟกต์ AR สำหรับการวิดีโอคอลบน Messenger, Instagram, และอุปกรณ์ Portal (ที่เลิกผลิตไปแล้ว) สะท้อนได้จากจำนวนครีเอเตอร์มากกว่า 600,000 คน จากกว่า 190 ประเทศที่ได้สร้างเอฟเฟกต์ AR บนแพลตฟอร์มของ Meta ในช่วงเวลานั้น
ฟิลเตอร์ AR ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ใช้บนโซเชียลมีเดียได้อย่างมาก โดยให้ผู้ใช้สามารถปรับปรุงภาพถ่ายและวิดีโอด้วยเอฟเฟกต์ที่สร้างสรรค์และโต้ตอบได้ ฟิลเตอร์เหล่านี้มักใช้เพื่อความสนุกสนาน แคมเปญการตลาด และการโปรโมทแบรนด์
นอกจากนี้ Meta พัฒนานวัตกรรมในพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มคุณสมบัติ ทั้งการติดตามใบหน้า วัตถุ 3 มิติ และองค์ประกอบแบบโต้ตอบ ด้วยความก้าวหน้าเหล่านี้ ทำให้ฟิลเตอร์ AR สมจริงและดึงดูดใจมากขึ้น
ขณะที่ แบรนด์ต่างๆ ใช้ฟิลเตอร์ AR สำหรับการทำตลาดบนแพลตฟอร์มของ Meta เช่นกัน โดยสร้างฟิลเตอร์ที่ผู้ใช้งานสามารถนำไปใช้กับเนื้อหาของตนได้
ทั้งนี้ การตัดสินใจลบฟิลเตอร์ AR บุคคลที่สามออกไปของ Meta ยังไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากการหันไปมุ่งเน้นพัมนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ แต่นักวิเคราะ์เผยว่า มีความเป็นไปได้ที่ Meta ต้องการจะมุ่งเน้นไปที่ AI และเนื้อหา AR ของตนเองมากขึ้น
บริษัทมีเป้าหมายที่จะให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เชื่อว่า จะตอบสนองความต้องการในอนาคตของผู้ใช้ได้ดีกว่า แม้การเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้ครีเอเตอร์บุคคลที่สามจำนวนมากผิดหวัง ซึ่งพวกเขาเคยพึ่งพา Meta Spark เพื่อเสนอเอฟเฟกต์ที่กำหนดเองได้ รวมถึงผู้ใช้งาน Meta อีกจำนวนมากด้วย
โดย Meta กำลังเปลี่ยนโฟกัสไปที่ AI ด้วยเหตุผลเชิงกลยุทธ์หลายอย่าง ดังนี้:
การที่ Meta ถอดฟิลเตอร์ AR ของครีเอเตอร์บุคคลที่สามออกไป อาจส่งผลกระทบต่อผู้สร้างเนื้อหา และธุรกิจหลายแห่ง ที่อาศัย Spark AR Studio ในการออกแบบ และจัดจำหน่ายฟิลเตอร์ AR ของตน ทำให้พวกเขาต้องค้นหาแพลตฟอร์มอื่นเพื่อทำงานต่อไป ซึ่งอาจหมายถึงการเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ และปรับตัวให้เข้ากับระบบนิเวศที่แตกต่างกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจที่ใช้ฟิลเตอร์ AR สำหรับการตลาด และการมีส่วนร่วม (engagement) บนแพลตฟอร์มของ Meta จะสูญเสียเครื่องมือสำหรับการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย พวกเขาอาจต้องสำรวจวิธีอื่นๆ ในการสร้างเนื้อหาแบบโต้ตอบ และเมื่อผู้สร้างเนื้อหาย้ายไปยังแพลตฟอร์ม AR อื่นๆ การแข่งขันในแพลตฟอร์มเหล่านั้น ก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น ทำให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์แต่ละคนโดดเด่นได้ยากขึ้น
ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงนี้ อาจผลักดันนวัตกรรม เนื่องจากผู้สร้างเนื้อหาและธุรกิจสำรวจแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือและประสบการณ์ AR ขั้นสูงและหลากหลายยิ่งขึ้น
ที่มา Econsultancy, Assemblr World, Dream Farm Agency, TechCrunch, PYMNTS, 9to5 Mac, Be In Crypto, Facebook Engineering