Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
Google เตรียมยื่นอุทธรณ์ หลังศาลสหรัฐฯ ตัดสินข้อหาการผูกขาดระบบ
โดย : อิทธิพัทธ์ วิวัฒรางกูล

Google เตรียมยื่นอุทธรณ์ หลังศาลสหรัฐฯ ตัดสินข้อหาการผูกขาดระบบ

10 ต.ค. 67
17:34 น.
|
229
แชร์

กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ (DoJ) เผยว่า ‘Google’ ยังคงผูกขาดในระบบค้นหาออนไลน์ เนื่องจากการครองตลาดการค้นหาของ Google ได้ปิดกั้นการแข่งขัน และทำร้ายผู้บริโภค ทางกระทรวงยุติธรรมจึงพิจารณาขอให้ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลาง ยุบ Google และบังคับให้ Google ขายส่วนหนึ่งของธุรกิจ 

โดยแนวทางแก้ไขอีกทาง คือ การบังคับให้ Google แบ่งปันข้อมูลการค้นหาให้กับคู่แข่ง เพื่อปรับสมดุลสนามแข่งขัน และทำให้บริษัทอื่นๆ สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงแนวทางปฏิบัติของ Google ในตลาดแอปและโฆษณาออนไลน์ 

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมกำลังตรวจสอบว่า  Google ได้ใช้พลังอำนาจทางการตลาด เพื่อเอาเปรียบคู่แข่งอย่างไม่เป็นธรรมด้วยหรือไม่

เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญ เนื่องจากไม่เคยเกิดขึ้นกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่มาหลายทศวรรษแล้ว 

SPOTLIGHT ได้สรุปกรณีต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ ที่ Google ใช้เป็นเหตุผลในการแก้ต่าง และอาจช่วยกำหนดอนาคตของบริษัทได้ในบทความนี้

แอป Android

ย้อนไปเมื่อปี 2020 ‘Epic Games’ ผู้สร้างเกมยอดนิยมอย่าง ‘Fortnite’ ได้ยื่นฟ้อง Google โดยข้อกล่าวหาหลัก คือ Google ผูกขาดระบบจำหน่าย และชำระเงินแอปของ Android โดย Epic Games โต้แย้งว่า การควบคุม Play Store และระบบเรียกเก็บเงินในแอปของ Google ทำให้การแข่งขันถูกขัดขวาง และส่งผลเสียต่อทั้งผู้พัฒนาและผู้บริโภค

จากผลของคดีนี้ ผู้พิพากษาศาลสหรัฐฯ ในซานฟรานซิสโก James Donato ได้มีคำสั่งให้ Google เปลี่ยนแปลงธุรกิจแอป Android อย่างมีนัยสำคัญ โดยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2024 เป็นต้นไป Google ต้องให้ผู้ใช้งาน Android สามารถดาวน์โหลด และใช้แพลตฟอร์มแอปอื่นนอกเหนือจาก Play Store ได้เป็นเวลาสามปี เพื่อเพิ่มตัวเลือกให้ผู้ใช้งานมากขึ้น และส่งเสริมการแข่งขัน

นอกจากนี้ Google ต้องอนุญาตให้ใช้ช่องทางชำระเงินในแอปอื่นๆ เพื่อให้ผู้พัฒนาและผู้ใช้มีทางเลือกมากขึ้นนอกเหนือจากระบบของ Google รวมถึง Google ยังถูกห้ามไม่ให้จ่ายเงินให้กับผู้ผลิตสมาร์ทโฟน เพื่อติดตั้ง ‘Play Store’ ล่วงหน้า จากที่ผ่านมา Google จะจ่ายเงินให้กับผู้ผลิตอุปกรณ์เพื่อติดตั้ง Play Store ล่วงหน้า ให้เป็นช่องทางการดาวน์โหลดแอป

โดยปกติแล้ว Google เก็บค่าคอมมิชชันประมาณ 15-30% จากการชำระเงินในแอป ซึ่งอัยการสูงสุดของรัฐโต้แย้งว่า ค่าธรรมเนียมดังกล่าวทำให้ค่าบริการสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น และยังทำกำไรให้ Google หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีด้วย  ซึ่งหากตลาดมีการแข่งขัน ต้นทุนก็จะลดลง 

จากการฟ้องร้องในครั้งนี้ Google ยินยอมจ่ายเงิน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 23.5 หมื่นล้านบาท เพื่อยุติข้อกล่าวหา ที่เรียกเก็บราคาแอปใน Play Store สูงเกินจริง ข้อตกลงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชดเชยผู้บริโภคที่ถูกเรียกเก็บเงินเกินราคาสำหรับการซื้อในแอปที่ทำระหว่างเดือนสิงหาคม ปี 2016 ถึงเดือนกันยายน ปี 2023 ซึ่งยังรอการอนุมัติจากผู้พิพากษา Donato

ล่าสุด Epic Games ได้ยื่นฟ้อง Google และ Samsung อีกครั้ง โดยกล่าวหาว่า ทั้งสองร่วมกันปกป้อง Play จากคู่แข่งโดยใช้ฟีเจอร์ ‘Auto Blocker’ ของ Samsung แม้ทั้งสองปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ตาม

อิทธิพลของ Google ในการค้นหาออนไลน์

ในเวลาเดียวกัน ในปี 2020 กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ได้ฟ้อง Google ในข้อหาผูกขาดตลาดการค้นหาออนไลน์ โดย Amit Mehta ผู้พิพากษาศาลสหรัฐฯ  ตัดสินในเดือนสิงหาคมว่า Google สร้างการผูกขาดที่ผิดกฎหมาย จากการจ่ายเงิน 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 8.72 แสนล้านบาท เพื่อให้ Google เป็นเครื่องมือค้นหาเริ่มต้น

โดยบิ๊กเทคฯ ยักษ์ใหญ่อย่าง ‘Apple’ และ ‘Samsung Electronics’ ตกลงที่จะกำหนดให้ Google เป็นค่าเริ่มต้นสำหรับการใช้งานบนเบราว์เซอร์ และโทรศัพท์มือถือ เพื่อแลกกับส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณา ข้อตกลงดังกล่าว ทำให้เสิร์ชเอ็นจิ้นคู่แข่ง อย่าง ‘DuckDuckGo’ หรือ ‘Bing’ ของ ‘Microsoft’ ไม่สามารถรับข้อมูลในปริมาณมากพอ ที่จะปรับปรุงผลิตภัณฑ์และท้าทาย Google ได้

ข้อมูลจาก Statista รายงานว่า Google เป็นเครื่องมือค้นหาที่ครองตลาดออนไลน์หลักๆ หลายแห่ง โดยมักสร้างปริมาณการค้นหาบนเดสก์ท็อปมากกว่า 80% แซงหน้าคู่แข่งรายอื่นๆ เช่น Yahoo, Bing, Yandex และ Baidu โดยเฉพาะในอินเดีย ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 92% 

กระทรวงยุติธรรมอาจขอคำสั่งให้ Google แยกธุรกิจบางส่วนออก เพื่อแก้ไขการละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด ข้อเสนอเฉพาะเจาะจง เช่น การบังคับให้ Google ถอน Chrome และ Android ออกไปนั้น จะมีกำหนดในเดือนพฤศจิกายน  ซึ่งคาดว่า Google จะเสนอแนวทางแก้ไขของตนเองภายในปลายเดือนธันวาคม โดยกำหนดให้มีการโต้แย้งในเดือนเมษายน ปี 2025

นักวิเคราะห์ชี้ว่า แนวทางแก้ไขที่เสนอมานี้ อาจทำให้กลไกสร้างกำไรหลักของ Google อ่อนแอลง และการพัฒนา AI ของบริษัทหยุดชะงัก ซึ่งผลลัพธ์ขั้นสุดท้ายของการดำเนินการทางกฎหมายเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้รับการแก้ไข

ทางด้าน Google กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะอุทธรณ์คำตัดสินของ Mehta โดยระบุว่า คำตัดสินของ Mehta ที่ระบุ Google ในฐานะเครื่องมือค้นหาที่ดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา และมีคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่เหนือกว่า เกิดจากบริษัทได้ลงทุนด้านนวัตกรรมมูลค่ามหาศาล

แม้ว่าบริษัทยอมรับว่า ได้จ่ายเงินเพื่อให้เครื่องมือค้นหาของตนติดตั้งไว้ล่วงหน้าบนโทรศัพท์มือถือและเบราว์เซอร์ แต่บริษัทระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ โดยเปรียบเทียบกับข้อตกลงที่บริษัทซีเรียลทำกับร้านขายของชำ เพื่อพื้นที่วางสินค้าบนชั้นวางสินค้าชั้นดี

การโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล

นอกเหนือจากการค้นหาและแอปแล้ว Google กำลังเผชิญกับคดีความหลายคดี หลังจากที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ และกลุ่มรัฐได้ยื่นฟ้อง Google ด้วยข้อหาที่ Google ครองตลาดโฆษณาทุกด้านอย่างผิดกฎหมาย 

คดีความดังกล่าวอ้างว่า Google บังคับให้ลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์และใช้ขนาดของ Google เพื่อบดขยี้คู่แข่ง โดยการพิจารณาคดีนี้ อยู่ภายใต้การดูแลของ Leonie Brinkema ผู้พิพากษาศาลสหรัฐฯ ในเวอร์จิเนีย ซึ่งมีกำหนดจะมีการแถลงปิดคดีในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน

นอกจากนี้ Google กำลังต่อสู้คดีที่เกี่ยวข้องอีก 2 คดี ในศาลรัฐบาลกลางในเท็กซัส และนิวยอร์ก

โดย ‘เท็กซัส’ กำลังนำกลุ่มรัฐฟ้อง Google กรณีโฆษณาดิจิทัล ในคดีที่กำหนดขึ้นพิจารณาคดีในเดือนมีนาคม ปี 2025 ผู้เผยแพร่และผู้ลงโฆษณากำลังดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับแนวทางปฏิบัติด้านเทคโนโลยีโฆษณาของ Google โดยอ้างว่า พวกเขาถูกเรียกเก็บเงินเกินจริง และสูญเสียรายได้

Google อยู่ภายใต้การตรวจสอบจากใครอีกบ้าง?

เมื่อปี 2010 คณะกรรมาธิการยุโรปได้รับการร้องเรียนอย่างเป็นทางการครั้งแรกเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านการแข่งขันของ Google โดยบริษัทได้ถูกปรับ 3 รายการ รวมเป็นเงินกว่า 8 พันล้านยูโร (8.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือประมาณ 2.94 แสนล้านบาท ซึ่ง Google ยังคงต่อสู้คดีค่าปรับดังกล่าวต่อไป และยังรวมถึงค่าปรับอีก 4.34 พันล้านยูโร สำหรับวิธีดำเนินการระบบปฏิบัติการมือถือ Android ในศาลด้วย

ส่วนในเดือนมิถุนายน สหภาพยุโรปได้ยื่นฟ้อง Google เพิ่มเติม โดยกล่าวหาว่า Google เข้าข้างธุรกิจเทคโนโลยีโฆษณาจนทำให้คู่แข่งด้านเทคโนโลยีโฆษณา ผู้ลงโฆษณา และผู้เผยแพร่ออนไลน์เสียประโยชน์ และสั่งให้ Google ถอนธุรกิจทั้งหมด

นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม พระราชบัญญัติตลาดดิจิทัลของสหภาพยุโรป (EU’s Digital Markets Act) มีผลบังคับใช้กับ Google และหน่วยงานที่ได้รับการแต่งตั้งอื่นๆ ให้เป็น ‘ผู้ควบคุม’ ของเศรษฐกิจออนไลน์ 

ภายใต้กฎหมายดังกล่าว Google จะไม่ได้รับอนุญาตให้แพลตฟอร์มอื่นเลือกใช้บริการของตน เหนือบริการของคู่แข่งบนแพลตฟอร์มของตนรวมถึงจะถูกห้ามไม่ให้รวมข้อมูลส่วนบุคคลในบริการต่างๆ และจะถูกห้ามไม่ให้ใช้ข้อมูลที่รวบรวมจากผู้ค้าบุคคลที่สามเพื่อแข่งขันกับพวกเขาด้วย

ผลกระทบหาก DoJ สั่งให้ Google แยกตัวตามคำตัดสินการผูกขาด

หากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ สั่งให้ Google แยกหน่วยธุรกิจหลังจากการตัดสินการผูกขาด ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแน่นอน คือ  Google อาจจำเป็นต้องขายธุรกิจบางส่วนออก เช่น หน่วยระบบปฏิบัติการ Android และ หน่วยเบราว์เซอร์ Chrome เพื่อลดการควบคุมของ Google ในตลาดการค้นหาและโฆษณา

โดย Google อาจจำเป็นต้องแบ่งปันข้อมูลกับคู่แข่งมากขึ้น เพื่อให้บริษัทอื่นมีโอกาสแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในตลาดการค้นหาและโฆษณา รวมถึงอาจถูกห้ามไม่ให้ทำข้อตกลงพิเศษที่เอื้อประโยชน์ต่อบริการของตัวเองมากกว่าคู่แข่ง เพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ความเป็นผู้นำของ Google ในด้าน AI ผ่านหน่วยธุรกิจ ‘DeepMind’ และธุรกิจคลาวด์อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน หากการแยกตัวออกไปส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงข้อมูล ก็อาจขัดขวางความสามารถในการฝึกอบรมโมเดล AI ขั้นสูง หรือแข่งขันในตลาดคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันจาก Amazon และ Microsoft

ในขณะที่ธุรกิจโฆษณาของ Google ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักอาจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทอาจเห็นผลกำไรลดลงเนื่องจากสูญเสียความเหนือกว่าทางการตลาดบางส่วน และอาจทำให้ผู้บริโภคและนักพัฒนาบางส่วน มีตัวเลือกที่มากขึ้น

ส่วนในระยะยาว การแตกธุรกิจอาจทำให้ตำแหน่งของ Google บนเวทีโลกอ่อนแอลง เปิดโอกาสให้คู่แข่งอย่าง ‘Baidu’ ของจีน และ ‘Yandex’ ของรัสเซียเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงพลวัตในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระดับโลก โดยเฉพาะในด้านต่างๆ อย่าง AI และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

ถึงแม้ผลลัพธ์เหล่านี้จะแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อวิธีการทำงานของตลาดการค้นหาและโฆษณา แต่นักวิจัยบางคนมองว่า ผู้ใช้งานบางราย อาจมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย หาก Google ถูกบังคับให้ขายกิจการบางส่วนทิ้ง

ที่มา Reuters, Bloomberg, AP News 1, AP News 2, Statista, Android Central, Search Engine Journal, TechCrunch

แชร์
Google เตรียมยื่นอุทธรณ์ หลังศาลสหรัฐฯ ตัดสินข้อหาการผูกขาดระบบ