ถือว่าเป็นข่าวฉาวไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับกรณีของ Lazada ในเรื่องของ นารา เครปกะเทย แสดงร่วมกับ หนูรัตน์ ธิดาพร ชาวคูเวียง และมีทีท่าที่จะลุกลามบานปลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการล้อเลียนคนพิการ รวมถึงความสุ่มเสี่ยงในกรณีก้าวล่วงสถาบันฯ แม้ว่าจะมีการออกมาขอโทษจากทางบริษัทแล้วก็ตาม
สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ แทบไม่น่าเชื่อว่าการตลาดที่พลาดแบบนี้จะมาจากบริษัทสัญชาติ “จีน” ซึ่งเป็นตลาดที่มีเงื่อนไขและความอ่อนไหวทางการเมืองไม่น้อย และที่สำคัญก็คือ บริษัทแม่ของลาซาด้า อย่าง Alibaba เพิ่งจะเจอ “บทเรียน” ครั้งใหญ่มาหมาดๆ ไม่เกิน 2 ปีมานี้เอง
บทความนี้เราจะมาเล่าถึงวิบากกรรมของ Alibaba ในประเทศจีนรวมถึงในประเทศไทย รวมถึงอุปสรรคบางส่วนหลังจากนี้ว่าจะเป็นเช่นไรต่อไป
จุดเริ่มต้นจากปากของ “แจ็ค หม่า” ที่วิพากษ์จีน
ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2020 “Ant Group” ซึ่งเป็นธุรกิจการเงินสำคัญของกลุ่ม Alibaba เตรียมที่จะเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในกิจการที่ระดมทุนได้มากที่สุดในโลก ณ เวลานั้น ด้วยมูลค่าการระดมทุนถึง 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ก่อนหน้านั้นไม่กี่วันในปลายเดือน ต.ค. แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ได้เข้าร่วมงานสัมมนาเศรษฐกิจ Bund Summit โดยเขาได้กล่าวพาดพิงถึงธนาคารในประเทศจีน (รัฐบาลเป็นเจ้าของ) ว่าทำตัวเหมือนกับโรงรับจำนำ และยังวิพากษณ์วิจารณ์ผู้กำกับนโยบายด้านการเงิน (แบงก์ชาติจีน) มัวแต่สนใจในเรื่องการลดความเสี่ยงของภาคการเงิน ซึ่งภายในงานได้รับเสียงปรบมือไม่น้อย
อย่างไรก็ดี ผู้ที่นั่งอยู่ในงานดังกล่าวไม่ได้มีแต่ผู้แทนภาคเอกชน แต่ยังเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของภาครัฐ เช่น Yi Gang ประธานธนาคารกลางจีน (PBoC) รวมถึง Wang Qishan รองประธานาธิบดีของจีน แน่นอนว่าพวกเขาเหล่านี้นำคำพูดของเจ้าของ Alibaba ไปคิดต่ออย่างแน่นอน
จุดเริ่มต้นของการปราบปรามกลุ่มเทคโนโลยี
อย่างที่เราทราบกันดีว่าหลังเหตุการณ์ของ แจ็ค หม่า ที่ได้กล่าวพาดพิงหลายหน่วยงานนั้น ได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนอย่างมาก รวมถึงผู้นำจีนอย่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ด้วย เนื่องจากวาทะกรรมหลายอย่างของเจ้าของ Alibaba เหมือนกับกล่าวโทษระบบหลายๆ เรื่อง
ซึ่งนั่นทำให้การเข้าตลาดหุ้นของ Ant Group ล้มเหลว และเป็นจุดเริ่มต้นของการกวาดล้าง หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจีนในอีกไม่กี่เดือนต่อมา (ลามมาจนถึงปัจจุบัน) นอกจากนี้ Alibaba เองก็ยังเป็นหนึ่งในบริษัทที่โดนค่าปรับหนักที่สุดอีกด้วย โดยอาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า ความสูญเสียในรอบ 1 ปี หลังสุนทรพจน์ที่ใช้เวลาไม่ถึง 30 นาที เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2020 มีเบื้องต้นดังนี้
และนั่นเป็นอีกหนึ่งคำถามของนักลงทุนเช่นกันว่า เมื่อไรทางการจีนจะเลิกเข้ามาแทรกแซง หรือจัดการ บริษัทเทคโนโลยีจีนเสียที
จากจีนมาสู่ Lazada ไทย
เมื่อปัญหาในประเทศจีนยังคลุมเครือ แม้ว่าล่าสุด แดเนียล จาง CEO ของ Alibaba จะออกจดหมายถึงพนักงานบริษัทเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานว่าไม่ต้องห่วงแม้ว่าสถานการณ์ในจีนจะหนักหนาเพียงใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องล็อกดาวน์ที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ไปจนถึงเรื่องการเข้ามาปราบปรามและแทรกแซงของรัฐบาลจีนก็ตาม
แต่ล่าสุดเหตุการณ์ในประเทศไทยอาจสวนทางกับประเทศจีน เนื่องจาก Lazada ซึ่งเป็นธุรกิจลูกที่ Alibaba ลงทุนไปหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือหุ้นเป็นสัดส่วน 83% อาจสร้างความปวดหัวให้กับบริษัทแม่อย่าง Alibaba
แถมล่าสุดเมื่อวันนี้ (13 พฤษภาคม) ทางสถานทูตจีนประจำประเทศไทยได้โพสต์ข้อความถึงเรื่องกรณี Lazada และชี้แจงในเรื่องดังกล่าวว่า ”สถานทูตจีนประจำประเทศไทยรับทราบเหตุการณ์ดังกล่าว คิดเหมือนกันว่าคลิปโฆษณาที่เกี่ยวข้องมีเนื้อหาที่ยอมรับไม่ได้”
และนั่นอาจทำให้กรณี Lazada เป็นเรื่องยากของ Alibaba เข้าไปอีก
ประเด็นอีกหลายเรื่องที่ต้องจับตามองหลังจากนี้
หลังเหตุการณ์ฉาวและมุมมองของสถานทูตจีนประจำประเทศไทย นั่นเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริหาร Lazada และ Alibaba ว่าจะจัดการกับเหตุการณ์นี้เช่นไร แถมเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ยังมีคนไทยหลายคนที่ประกาศเลิกใช้ Lazada และหันไปใช้แพลตฟอร์มคู่แข่งอย่าง Shopee แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมกดดันผู้บริหารไม่น้อย
ไม่เพียงเท่านี้ ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ระหว่าง Alibaba เองกับรัฐบาลไทยก็ถือว่าดีไม่น้อย ก่อนที่จะเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น เพราะทาง Alibaba ได้ประกาศว่าจะลงทุนในประเทศไทยเป็นเม็ดเงินจำนวนมาก และจะประกาศลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC อีกด้วย
แต่หลังเหตุการณ์ดังกล่าวนี้อาจเป็นเครื่องหมายคำถามว่าหลังจากนี้ Alibaba จะเอายังไงต่อในประเทศไทย
ท้ายที่สุดนี้หลายเรื่องอาจเป็นคำถามที่อนาคตเท่านั้นที่จะมีคำตอบให้