PayPal เตรียมเปิดให้บริการในไทยอีกครั้ง ยืนยันตัวตนด้วย NDID เริ่มสิงหาคมนี้ ก่อนจะโอนบัญชีมาไทยเดือนตุลาคม
เว็บไซต์ Blognone รายงานโดยอ้างอีเมลประชาสัมพันธ์ PayPal ว่า PayPal ประเทศไทย ประกาศเตรียมเปิดบริการ (อีกครั้ง) โดยให้ผู้ใช้งานเดิมของ PayPal ในไทย โอนย้ายบัญชีมาไทย พร้อมยืนยันตัวตนด้วยแพลตฟอร์ม National Digital ID (NDID) ตั้งแต่เดือนสิงหาคม และจะทำการโอนย้ายบัญชี ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีนี้ เป็นต้นไป
ทั้งนี้ หากผู้ใช้ PayPal ยังไม่เคยลงทะเบียนผ่าน NDID ทาง PayPal ระบุว่าต้องไปลงทะเบียน NDID ก่อนผ่านแอปธนาคาร และยืนยันตนผ่านการสอดบัตรประชาชนที่เครื่อง ATM ของธนาคารนั้นๆ
แต่หากเคยลงทะเบียน NDID แล้ว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2022 เป็นต้นไป PayPal จะขอคำยินยอมจากเจ้าของบัญชีในการโอนย้ายบัญชีมายัง PayPal ประเทศไทยรวมทั้งขอข้อมูลส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการยืนยันตัวตน
และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 เป็นต้นไปจะมีการโอนย้ายบัญชี (ซึ่งเจ้าของได้เลือกว่าจะโอนย้าย และยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว) มายัง PayPal ประเทศไทย
หากเจ้าของบัญชี PayPal ไม่ได้ลงทะเบียน NDID จะไม่สามารถโอนย้ายบัญชีของมายัง PayPal ประเทศไทย และจะไม่สามารถใช้บัญชี PayPal ได้อีกในปลายปีนี้
ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ Blognone ได้สอบถามไปยังโฆษกของบริษัท PayPal ทางอีเมลถึงรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และได้รับการชี้แจงกลับมาดังนี้
- ก่อนหน้านี้ PayPal ในประเทศไทยให้บริการผ่านหน่วยงานในประเทศสิงคโปร์ แต่บริการใหม่ของ PayPal จะผ่านนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทยชื่อ บริษัท เพย์พาล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทย ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการชำระเงินในไทย และปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย
- PayPal กำลังอยู่ระหว่างย้ายฐานลูกค้าปัจจุบัน ไปยังนิติบุคคลในไทย กระบวนการย้ายลูกค้าจะเสร็จในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
- บัญชีส่วนบุคคลของ PayPal Thailand ใช้ชำระเงินค่าสินค้าและบริการจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ แต่ช่วงแรกยังไม่สามารถรับชำระเงิน ถือยอดในบัญชี หรือถอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ ในอนาคตฟังก์ชันเหล่านี้จะทยอยเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- บัญชีธุรกิจของ PayPal Thailand ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ (บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วน เจ้าของกิจการ) ที่จดทะเบียนในไทย สามารถรับชำระเงิน ถือยอดในบัญชี และถอนเงินบาทไปยังบัญชีธนาคารของไทยได้
- การสมัครบัญชีธุรกิจของ PayPal Thailand กำหนดว่าต้องเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนในไทย ต้องมีหมายเลขจดทะเบียนธุรกิจที่ออกโดยหน่วยงานในประเทศ ซึ่งอาจเป็นหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลักได้ ในกรณีที่มีหลายธุรกิจ สามารถใช้หมายเลขธุรกิจอื่นได้ แต่ต้องเป็นหมายเลขที่ออกโดยหน่วยงานราชการ
- ได้รับคำยืนยันว่า การเปิดบัญชีธุรกิจเพื่อรับเงินจากต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องจดนิติบุคคล เป็นบุคคลธรรมดาได้ แต่ต้องไปจดทะเบียนพาณิชย์ประเภทบุคคลธรรมดากับกระทรวงพาณิชย์