ซีอีโอ Starbucks ใช้ไม้แข็ง ออกคำสั่งให้ลูกน้องกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศสัปดาห์ละ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม หลังพบว่าขอความร่วมมือให้พนักงานเข้าออฟฟิศ 1-2 วันแล้วไม่เวิร์ค เพราะส่วนมากแอบทำงานนอกออฟฟิศ ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้
อย่างไรก็ตาม กฎใหม่นี้จะใช้กับพนักงานที่มีที่พักอยู่ไม่ไกลสำนักงานใหญ่ในซีแอตเทิลเกินไปเท่านั้น โดย Howard Schultz ซีอีโอของ Starbucks ให้เหตุผลของการบังคับให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศครั้งนี้ว่าเป็นเพราะเขาต้องการจะ ‘กระชับความสัมพันธ์ของพนักงาน’ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กร
โดย Schultz มองว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Starbucks ประสบความสำเร็จก็คือความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างพนักงาน โดยก่อนมีการระบาดของโควิด พนักงาน Starbucks เคยมีวัฒนธรรมสานสัมพันธ์กันผ่านการชิมกาแฟร่วมกัน และพูดคุยกัน และเขาคิดว่าการปล่อยให้พนักงานต่างคนต่างอยู่ แยกกันทำงานคนละที่โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กันเลยนี้จะทำให้วัฒนธรรมนี้หายไป และอาจส่งผลเสียต่อการดำเนินงานของบริษัท
โดยจากการรายงานของ Fortune ซีอีโอ Schultz ที่เพิ่งก้าวขึ้นตำแหน่งแทนซีอีโอคนเก่าที่เกษียณไปเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมาเป็นคนที่ไม่ชอบให้พนักงานทำงานนอกออฟฟิศอยู่แล้ว โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ในงานสัมมนาของ The New York Times เมื่อเดือนมิถุนายนว่าเขาจะยอม “ลงไปคุกเข่าขอร้อง วิดพื้น หรือทำอะไรก็ได้” ให้พนักงานกลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศกับเขา
อย่างไรก็ตาม การบังคับให้พนักงานกลับไปทำงานในออฟฟิศนี้ไม่ใช่สิ่งที่ Starbucks ทำอยู่บริษัทเดียว เพราะเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา Bob Iger ซีอีโอของดิสนีย์ก็เพิ่งประกาศให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ 4 วันต่อสัปดาห์ หรือ Apple, Meta, Google, หรือ Goldman Sachs เองก็สั่งให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศแล้วตั้งแต่ปลายปี 2022 ที่ผ่านมา
จากการรายงานของ Fortune มาตรการลากพนักงานกลับออฟฟิศนี้เป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเหล่าพนักงาน เพราะในช่วงที่ผ่านมาบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีต่างก็เจ็บหนักจากผลดำเนินการที่ตกต่ำลงจนต้องเลย์ออฟพนักงานลดต้นทุนไปเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บริษัทในภาคส่วนอื่นๆ จะต้องผจญความลำบากกันมาบ้าง Starbucks กลับเป็นบริษัทที่ทำผลงานได้ค่อนข้างดีในปีที่ผ่านมา เพราะในปี 2022 ยอดขายของ Starbucks เพิ่มขึ้นถึง 9% จากปีก่อนหน้า โดยถึงแม้ยอดขายในจีนจะลดจากการที่เกิดการระบาดของโควิดระลอกใหญ่ขึ้น ยอดขายของ Starbucks ในพื้นที่อื่นๆ ก็ยังเติบโตมากพอจนหักลบกลบยอดขายที่ถดถอยในจีนได้