หากใครยังจำกันได้ Sea Group บริษัทแม่ของ Shopee ต้องประกาศปลดพนักงานนับพันในปี 2022 สังเวยกับภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปหลังสถานการณ์โควิด จากที่เคยเฟื่องฟู ขยายตัวอย่างรวดเร็วกลายเป็นรัดเข็มขัดและต้องนำพาองค์กรให้ผ่านภาวะวิกฤตไปให้ได้
ล่าสุดมีข่าวดี เมื่อForrest Li ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Sea Group บริษัทแม่ของ Shopee สัญชาติสิงคโปร์รายนี้ ได้ส่งเมมโมถึงพนักงานประกาศขึ้นเิงนเดือน 5% เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป โดยให้มีผลกับพนักงานที่เข้ามาทำงานก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2566
การปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานในครั้งนี้ของ Sea Group เป็นการส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและธุรกิจเกม ที่เริ่มพลิกกลับมาทำกำไรได้แล้ว หลังจากบริษัทต้องเผชิญภาวะวิกฤตในองค์กรในปี 2022 ที่ผ่านมา ทั้งปัญหาการขาดทุน ปลดพนักงาน และลดค่าใช้จ่ายอย่างหนัก
ลี บอกว่า สถานการณ์ในปี 2022 ของ Sea เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในประวัติศาสตร์ขององค์กรเลยก็ว่าได้ เป็นการตัดสินใจที่ “เจ็บปวด” ทั้งการปลดพนักงานออก 3,500 คน ขณะที่ในช่วงเดือนกันยายนฝ่ายบริหารประกาศลดเงินเดือนของตนเอง และหันมาใช้นโยบายคุมเข้มรายจ่าย ตัดงบกว่า 700 ล้านดอลลาร์ จนกว่าบริษัทจะพึ่งพาตนเองได้
ทั้งนี้ในเมมโมที่ Forrest Li ส่งถึงพนักงานเมือวันจันทร์ที่ผ่านมา เค้าใช้คำว่า “self-sufficiency” นั่นหมายถึงบริษัท Sea Group สามารถดูแลตัวได้แล้ว เพราะมีรายได้และเงินสดเข้ามาเพียงพอ โดยงบการเงินของ Sea เมื่อเดือนมีนาคมมีกำไรสุทธิรายไตรมาสเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปีหลังจากการก่อตั้งบริษัท
ขณะที่ราคาหุ้นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา ปิดตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.6% ที่ 84.33 ดอลลาร์ เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบ 6 สัปดาห์
Sea นั้นเคยเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการดีที่สุดในโลกในปี 2020 เพราะได้แรงหนุนจากความหวังที่บริษัทจะรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซและความบันเทิงที่กำลังเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ แต่หลังจากนั้นบริษัทก็สูญเสียมูลค่าตลาดไปประมาณ 1.6 แสนล้านดอลลาร์ จากจุดสูงสุดในเดือนตุลาคม 2021ท่ามกลามความกังขาในการทำเงินและหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีทั่วโลกก็ปรับลดลงด้วย
ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Sea ได้แก่ Tencent Holdings Capital Group และนาย Li คงต้องตามดูกันต่อไปว่า การฟื้นตัวและปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ที่ผ่านมาจะทำให้จากนี้ไป Sea จะกลับมาเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งได้อีกครั้งหรือไม่
ที่มา Bloomberg