Starbucks จบไตรมาส 4 รายได้สวย พุ่ง 11% จากอานิสงส์หลักในตลาดจีนและสหรัฐฯ ด้วยสูตรลับความสำเร็จคือ ‘เมนูโปรดตามใจลูกค้า’ ที่สั่งตามสูตรลับจากโซเชียล หรือเมนูพิเศษประจำเทศกาล ตามแนวทางการบริหารของ CEO คนใหม่ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา
Starbucks ฟอร์มดี รายได้โต 11%
Starbucks เผยผลประกอบการไตมาสที่ 4/2023 นำโดยตัวเลขรายได้ที่ดีเป็นประวัติการณ์ 9.4 พันล้านดอลลาร์ (3.36 แสนล้านบาท) โตขึ้น 11% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อหน้า ดันรายได้รวมปีนี้สู่ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.29 ล้านล้านบาท) โตขึ้น 12% สวยกว่าคาดการณ์ของ Wall Street ดันราคาหุ้นพุ่ง 10% หลังเปิดทำการซื้อขาย
แม้ว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรมเชนร้านกาแฟจะประสบปัญหาลูกค้ารัดเข็มขัด ยอมจ่ายน้อยลงต่อการซื้อ แต่สาวก Starbucks กลับยอมควักเงินจ่ายเพิ่ม ขยายยอดซื้อต่อใบเสร็จ ซึ่ง Starbucks ได้ยกความดีความชอบให้กับบรรดาแฟนคลับที่รักแบรนด์อย่างเหนียวแน่นซึ่งได้ยกให้กาแฟ Starbucks กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในแต่ละวัน รวมถึงความคลั่งไคล้ที่แฟนๆ มีให้ต่อเมนูเครื่องดื่มสารพัดนึก ที่ได้กลายเป็นจุดเด่นและสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ
สองตลาดใหญ่ของ Starbucks ในขณะนี้คือ ตลาดสหรัฐ และจีน ซึ่งตลาดสหรัฐนั้นเป็นตลาดเดิมที่เติบโตได้ด้วยลูกเล่นใหม่ ส่วนตลาดจีนนั้นเป็นตลาดใหม่ที่ยังเติบโต แต่ติดเงื่อนไขการใช้จ่ายของลูกค้าที่รัดกุมมากขึ้น
ยอดขายของร้าน Starbucks เดิมในสหรัฐ (เปิดมานานกว่า 13 เดือนขึ้นไป) โตขึ้น 8% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ลูกค้าอยากเข้ามาลอง ‘เมนูตามใจ’ ที่สามารถจัดสูตรได้ตามต้องการ ซึ่งอาจเป็นสูตรที่เป็นกระแสไวรัลบนโลกโซเชียล สูตรโปรดที่ลูกค้าเคยลองแล้วติดใจ หรือเมนูประจำเทศกาลที่มีมาให้ลองตามช่วงเทศกาลสำคัญๆ ซึ่งส่งผลให้ลูกค้าอยากแวะเวียนเข้ามา และพร้อมจ่ายในราคาที่แพงขึ้นเพื่อให้ได้เครื่องดื่มแก้วโปรดที่ร่วมรังสรรค์ด้วยตัวเอง
ในขณะเดียวกัน ตลาด Starbucks ทางฝั่งจีนนั้นแม้จะมียอดซื้อต่อใบเสร็จลดลง 3% แต่การที่ลูกค้าหลั่งไหลเข้ามายังสาขากันมากขึ้น 8% ก็ทำให้ยอดขาย Starbucks ในจีนยังโตได้ 5% ซึ่ง CEO คนปัจจุบัน Laxman Narasimhan ก็มีมุมมองเป็นบวกต่อผลงานของบริษัทในประเทศจีน เพราะแสดงถึงความสามารถในการปรับตัวของบริษัทท่ามกลางภูมิทัศน์การแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
และเพื่อรักษาโมเมนตัมของการเติบโตเช่นนี้ Starbucks จึงเตรียมแผนเปิดสาขาในจีนให้ครบ 9,000 สาขา เพิ่มในจีน ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยจะต้องเปิดให้ได้ราว 1,000 สาขาใหม่ต่อปี ส่วน ในสหรัฐปัจจุบันมีทั้งหมด 16,352 สาขา และในจีนมี 6,806 สาขาซึ่งรวมแล้วคิดเป็นกว่า 61% ของพอร์ตโฟลิโอของบริษัท
Narasimhan ซีอีโอคนล่าสุดของ Starbucks เผยกลยุทธ์การเติบโตใหม่ ที่ตั้งชื่อเก๋ไก๋ล้อกับวิธีการทำกาแฟว่ากลยุทธ์พลิกโฉมแบบ ‘3 ช็อต 2 ปั๊ม’ (Triple Shot Reinvention with Two Pumps) ซึ่งต่อยอดมาจากกลยุทธ์การพลิกโฉมธุรกิจ (Reinvention) ของ Howard Schultz ซีอีโอคนก่อนหน้าที่ทำให้ Starbucks กลายเป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ที่มา : Yahoo Finance, CNBC Business, CNN Business, Fox Business, AXIOS