เตรียมพบกับการพลิกโฉมหน้าวงการชิป! อินเทล ยักษ์ใหญ่แห่งเทคโนโลยี ประกาศแผนสร้างโรงงานผลิตชิป AI ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทุ่มเงินลงทุนมหาศาลกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ตั้งเป้าทวงคืนตำแหน่งผู้นำในตลาดเซมิคอนดักเตอร์
Intel เตรียมทุ่มเงิน แสนล้านดอลลาร์ ตั้งโรงงานผลิตชิป AI ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
รายงานข่าวของทาง Reuters ระบุว่า บริษัท อินเทล กำลังวางแผนที่จะใช้เงินถึง $100 พันล้านดอลลาร์ หรือเรียกง่ายคือ หนึ่งแสนล้านดอลลาร์ ในการสร้างและขยายโรงงานผลิตชิปคอมพิวเตอร์ทั่วสี่รัฐในสหรัฐอเมริกา แผนนี้มาหลังจากบริษัทได้รับเงินสนับสนุนและสินเชื่อจากรัฐบาลกลาง $19.5 พันล้านดอลลาร์ และหวังว่าจะได้รับการลดหย่อนภาษีอีกราวๆ $25 พันล้านดอลลาร์ จุดสำคัญในแผนนี้ของทางอินเทลคือการเปลี่ยนที่ดินเปล่าใกล้เมืองโคลัมบัส ในรัฐโอไฮโอ ให้กลายเป็น "โรงงานผลิตชิป AI ที่ใหญ่ที่สุดในโลก" โดยซีอีโอ Pat Gelsinger คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้เร็วที่สุดในปี 2027
รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศมอบเงินทุนช่วยเหลือ Intel ภายใต้กฎหมาย CHIPS Act
เมื่อเร็วๆ นี้ทาง รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศมอบเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลางให้กับ Intel ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรมชิป (CHIPS Act) นอกจากโรงงานใหม่ในโอไฮโอ Intel ยังมีแผนปรับปรุงโรงงานในรัฐนิวเม็กซิโก และโอเรกอน รวมถึง ขยายการดำเนินงานในรัฐแอริโซนา ที่ซึ่งคู่แข่งสำคัญอย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing Co (TSMC) ก็ได้เปิดโรงงานขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะได้รับเงินสนับสนุนจากการผลักดันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการนำอุตสาหกรรมผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงกลับเข้ามาในสหรัฐอเมริกา
เงินทุนจากแผนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมชิปจากรัฐบาลไบเดนจะช่วย Intel อย่างมากในการซ่อมแซมโมเดลธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ หากย้อนไปหลายสิบปี Intel เคยเป็นผู้นำในการผลิตชิป (เซมิคอนดักเตอร์) ที่เร็วและเล็กที่สุดในโลก สามารถตั้งราคาแบบพรีเมียม และนำกำไรกลับไปลงทุนเพิ่มด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อคงความเป็นผู้นำของตลาด แต่ Intel สูญเสียความได้เปรียบด้านการผลิตให้กับ TSMC ในช่วงปี 2010 และอัตรากำไรก็ตกลงอย่างมากเนื่องจากจำเป็นต้องลดราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดด้วยผลิตภัณฑ์ที่ด้อยกว่า
Intel พร้อม หน้าทวงคืนตำแหน่งผู้นำในการผลิตชิพ
ปัจจุบัน CEO ของ Intel อย่างคุณ Pat Gelsinger ได้เปิดเผยแผนในปี 2021 ที่จะทวงคืนตำแหน่งเบอร์ 1 แต่อธิบายว่าจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อแผนดังกล่าวถึงจะทำกำไรได้ และด้วยการได้รับเงินทุนสนับสนุนนี้ ถึงเวลาที่ Intel ต้องใช้เงินทุนให้เกิดประโยชน์ โดย Gelsinger เผยเพิ่มเติมว่าประมาณ 30% ของแผนงบประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์ จะใช้กับค่าก่อสร้างอย่างค่าแรง ค่าท่อระบบ และคอนกรีต ส่วนเงินที่เหลือจะหมดไปกับการซื้อเครื่องมือผลิตชิพจากบริษัทอย่าง ASML และจากทุนสนับสนุนในครั้งนี้ จะช่วยให้โรงงานในโอไฮโอเปิดใช้งานได้ในช่วงปี 2027-2028 อย่างไรก็ตาม Gelsinger ยังเตือนว่าอาจมีความล่าช้าหากตลาดชิปซบเซา นอกเหนือจากเงินทุนและเงินกู้แล้ว Intel วางแผนที่จะใช้เงินสดที่มีอยู่เดิมสำหรับการจัดซื้อส่วนใหญ่
ก่อนหน้านี้ Gelsinger เคยกล่าวว่าน่าจะต้องมีการจัดสรรเงินทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ สำหรับโรงงานผลิตชิปรอบที่สองเพื่อฟื้นฟูอเมริกาให้กลับมาเป็นผู้นำในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเขายืนยันอีกครั้งเมื่อวันอังคาร "อเมริกาใช้เวลาสามทศวรรษกว่าจะสูญเสียความเป็นเจ้าอุตสาหกรรมนี้ไป ดังนั้น การฟื้นฟูคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในสามถึงห้าปีด้วยเงินทุนจากกฏหมาย CHIPS Act โดยเขาเปรียบเทียบการจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนี้ว่าเป็นเหมือน เงินทุนอัจฉริยะ" Gelsinger กล่าว
เหล่านักวิเคราะห์ ให้ความเห็นถึง การมอบเงินทุนช่วยเหลือ Intel
- Kinngai Chan นักวิเคราะห์จาก Summit Insights กล่าวว่า Intel จะต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปี กว่าจะกลายเป็นผู้ผลิตชิประดับแนวหน้าได้ อย่างไรก็ตาม เขาก็เตือนด้วยว่า Intel จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มขึ้นอีกหากต้องการเอาชนะ TSMC และเสริมว่าบริษัทไต้หวันรายนี้อาจครองความเป็นผู้นำไป "อีกพักใหญ่ๆ"
- Ben Bajarin CEO บริษัทวิเคราะห์ Creative Strategies เสริมว่า แม้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง แต่ Intel จำเป็นต้องพิสูจน์ให้เห็นโดยเร็วว่าสามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากไต้หวันและเกาหลีใต้ได้ Bajarin กล่าวว่า "เราจำเป็นต้องรู้ว่า Intel จะต้องการ 'เงินทุนอัจฉริยะ' นี้อีกนานแค่ไหนกว่าจะยืนด้วยตัวเองได้"
- Jimmy Goodrich ที่ปรึกษาด้านการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีของ RAND Corp กล่าวว่า Intel น่าจะเป็นผู้ผลิตชิปที่สำคัญที่สุดสำหรับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ แม้ว่าคู่แข่งจะเข้ามาสร้างโรงงานในประเทศก็ตาม "มีเพียง Intel ที่มีทั้งแรงงาน เทคโนโลยี และห่วงโซ่อุปทานที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ดังนั้น แม้ว่าสิ่งที่ TSMC และ Samsung เข้ามาดำเนินการในสหรัฐฯ จะมีความสำคัญและควรได้รับการสนับสนุน แต่การมีผู้ผลิตที่แข็งแกร่งในประเทศก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน" Jimmy กล่าว
การทุ่มเงินลงทุนครั้งนี้ของอินเทล แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะกลับมาเป็นผู้นำในตลาดชิป ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า Intel จะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้หรือไม่ และการลงทุนครั้งนี้จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของโลกอย่างไร
ที่มา Reuters