สตาร์ทอัพ Food Delivery ในประเทศไนจีเรียกำลังได้รับความสนใจจากนักลงุทนต่างชาติจำนวนมาก หลังมองว่าความต้องการ Food Delivery ในประเทศเติบโตขึ้น ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อของอาหารจะพุ่งสูงขึ้นก็ตาม
สอดคล้องกับรายงานของ IMARC ที่พบว่า มูลค่าตลาด Food Delivery ในไนจีเรียคาดว่าโตขึ้นมากกว่าสองเท่า แตะ 2,391.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 88,095 ล้านบาทในอีก 8 ปีข้างหน้า ด้วยอัตราการเติบโตต่อปีที่ 10.7%
ซึ่งอัตราการเติบโตมาจากการบริโภคอาหารพร้อมทานและกลุ่มฟาสต์ฟู้ดที่เพิ่มขึ้น ที่ยังได้กระตุ้นจำนวนการสั่งออเดอร์จากกลุ่มคนทำงานที่เร่งรีบเพิ่มขึ้น และการนำระบบเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง AI, IoT, การวิเคราะห์เลิงคาดการณ์, และบิ๊กดาต้ามาใช้ในการส่งมอบอาหาร
ทำให้ผู้นำในอุตสาหกรรมอย่าง Chowdeck, FoodCourt, และ Heyfood กำลังแข่งขันกันเพื่อให้ได้ส่วนแบ่งการตลาด และให้บริการกลุ่มประชากรที่มีใช้จ่ายกับอาหารประมาณ 60% ของรายได้ ซึ่งทั้งสามผู้เล่นได้รับการสนับสนุนจากสตาร์ทอัพ Y Combinator และ Glovo จากสเปน
Sacha Michaud ผู้ร่วมก่อตั้ง Glovo เผยกับ Financial Times ว่า “แอฟริกามีศักยภาพมหาศาล เราเห็นการเติบโตของธุรกิจของเราทั่วแอฟริกาอย่างรวดเร็ว และเหนือสิ่งอื่นใด โดยเฉพาะในไนจีเรีย ซึ่งได้รับแรงหนุนจากความเร็วและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น”
ในสามปีที่ผ่านมา Glovo สามารถระดมทุนได้มากกว่าครึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคแอฟริกา โดยลงทุนไปกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากถึง 3,700 ล้านบาท เพื่อเข้าไปก่อตั้งธุรกิจในไนจิเรียในปี 2021 และดำเนินงานในอีก 6 ประเทศ
ภาวะเงินเฟ้อที่กำลังกัดกินประชาชนไนจีเรีย
ปัจจุบัน สตาร์ทอัพจำนวนมากกำลังพึ่งพาตลาดไนจีเรีย ที่มีศักยภาพในด้านประชากร 200 ล้านคน และประชากรในเมืองโดยเฉพาะ ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นหลังจากมีการปรับปรุงระบบเครือข่าย เช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนใหญ่ในแอฟริกา
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดี อาจขัดขวางแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรม เนื่องจากไนจีเรียกำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพที่เลวร้ายที่สุด โดยอัตราเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี ที่เกือบ 34% และอัตราเงินเฟ้อด้านอาหารอยู่ที่ 40.7%
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไนจีเรียก็ถดถอยไปสู่อันดับสามในแอฟริกา จากก่อนหน้านี้ที่ครองแชมป์ด้วย โดยสกุลเงินท้องถิ่นอย่าง ‘ไนรา’ สูญเสียมูลค่าประมาณ 70% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากการลดมูลค่าของค่าเงินสองครั้งในปีที่ผ่านมา
ซึ่งบริษัทข้ามชาติที่ลงทุนในไนจีเรีย เดิมพันกับชนชั้นกลางที่กำลังเพิ่มขึ้น และกำลังถอยการลงทุน ถยอยปิดกิจการออกจากประเทศ อย่างเช่น ‘Bolt Food’ บริษัทสัญชาติเอสโตเนีย ที่ได้หยุดการดำเนินการในไนจีเรียในปีที่ผ่านมา
ไม่เพียงเท่านี้ ‘Jumia’ กลุ่มอีคอมเมิร์ซของนิวยอร์ก ได้ปิดตัวลงในไนจีเรียเช่นกัน จากการพิจารณาว่า ธุรกิจ Food Delivery ของบริษัทไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการดำเนินงานและสภาพเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทอยู่ในจุดที่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้แล้ว แม้กระทั่งให้มีคำสั่งซื้อแตะวันละ 19,000 รายการใน 11 ประเทศก็ยังทำไม่ไหว
ทางด้าน Eghosa Omoigui ผู้ร่วมลงทุนของ EchoVC กล่าวว่า "อาหารเป็นสิ่งจำเป็น แต่บริการเดลิเวอรี่ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ สิ่งที่สำคัญคือ ขนาดของตลาดเป้าหมาย Food Delivery ในไนจีเรียมีขนาดใหญ่แค่ไหน? และตลาดหดตัวเร็วแค่ไหน? อย่าลืมว่า ธุรกิจนี้สร้างได้ยากกว่ามาก และยากยิ่งกว่าที่จะขยายขนาด”
ผู้ที่อยู่รอด คือคนที่มีมาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม Omoigui ย้ำว่า ธุรกิจ Food Delivery ประสบความสำเร็จได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแบรนด์สามารถส่งมอบอาหารได้อย่างน่าเชื่อถือ เหมือนที่ Glovo และ Chowdeck สองสตาร์ทอัพที่มุ่งมั่นปรับปรุงมาตรฐานตั้งแต่ยุคแรกๆ ทั้งการส่งมอบอาหารตามมาตรฐาน และการลดเวลารออาหารจากกว่าชั่วโมง เหลือประมาณ 40 นาที
‘Chowdeck’ เปิดตัวครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี 2022 จากในช่วงโควิด-19 ที่ต้องดิ้นรนเพื่อให้บริการอาหารปรุงสุกส่งถึงบ้าน ซึ่งปัจจุบัน Chowdeck จัดส่งอาหารมากถึง 20,000 รายการต่อวัน และกำลังพยายามขยายออกไปให้ไกลกว่า 8 เมืองในไนจีเรียที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ นอกจากนี้ ยังได้ขยายไลน์ธุรกิจไปยังบริการจัดส่งอื่นๆ อย่างยาและขายของชำ เช่นเดียวกับคู่แข่งอย่าง Glovo
โดย Femi Aluko ผู้ร่วมก่อตั้ง Chowdeck กล่าวกับ Financial Times ว่า “Food Delivery ดูเหมือนจะมีความจำเป็น และฉันไม่เข้าใจเลยว่าทำไมบริษัท Food Delivery จำนวนมากถึงไม่สามารถดำเนินงานในแอฟริกาได้ ฉันได้ยินข้ออ้างซ้ำๆ เดิมๆ มาตลอดว่า Food Delivery ไม่สามารถดำเนินงานในไนจีเรียได้หรอก เพราะมีทั้งปัญหาการจราจร พฤติกรรมของผู้ขับขี่ และการส่งอาหารที่ไม่น่าเชื่อถือ”
ซึ่ง Omoigui ทิ้งท้ายว่า หนึ่งในปัญหาของธุรกิจในตลาดเกิดใหม่ – รวมถึงไนจีเรีย – ก็คือมีความไว้วางใจที่ต่ำมาก เพราะความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก หากผู้ประกอบการสามารถทำให้แบรนด์น่าเชื่อถือได้ พวกเขาจะไม่มีปัญหากับการรักษาลูกค้าไว้
ตลาด Food Delivery สหรัฐฯ-ยุโรป ซบเซา
ในขณะที่ตลาด Food Delivery ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป กำลังดิ้นรนเพื่อรักษาการเติบโตอยู่เช่นกัน โดย 4 ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดอย่าง Deliveroo, Just Eat Takeaway, Delivery Hero, และ DoorDash กำลังสูญเสียรายได้รวมกันมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่เปิดตัวสู่สาธารณะ
โดยตลาด Food Delivery ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และยังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค จากก่อนหน้านี้ที่เติบโตต่อเนื่องจากช่วงโควิด-19 ซึ่งตอนนี้เอง ผู้ประกอบการทั้งหลายพยายามทำกำไรเพื่อพิสูจน์ให้กับนักลงทุน หลังผลการดำเนินงานสะสมประจำปีของพวกเขา พบว่าขาดทุนสูงถึง 20,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือทะลุ 745,000 ล้านบาท ตามการคำนวณของ Financial Times และนักวิเคราะห์อุตสาหกรรม theDelivery.World
Jo Barnet-Lamb นักวิเคราะห์ของ UBS กล่าวว่า "ความเต็มใจของนักลงทุนที่จะขาดทุนจากกองทุนมีการเปลี่ยนแปลง และตอนนี้พวกเขาต้องการให้ธุรกิจ Food Delivery เติบโตอย่างยั่งยืนและมีผลกำไร หลังจากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น”
ในขณะที่คู่แข่งรายใหญ่อย่าง Uber ไม่ได้รายงานผลกำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจ Eats แยกต่างหาก แต่ในภาพรวมของบริษัทใหญ่ สามารถทำกำไรจากการดำเนินงานเต็มปีแรกในปี 2023 หลังจากใช้ความพยายามอย่างมากในการปรับปรุงอัตรากำไร
ส่วน Giles Thorne นักวิเคราะห์ของ Jefferies ระบุว่า ผู้บริโภคยังคงใช้บริการ Food Delivery ต่อไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าพวกเขาจะมีเงินน้อยลงและค่าใช้จ่ายจาก Food Delivery จะเพิ่มขึ้น จากส่วนลดที่น้อยลงและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ทำให้กลุ่ม Food Delivery ที่เคยได้รับแรงหนุนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 กำลังเผชิญกับอัตราการเติบโตของยอดขายที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องพยายามพัฒนาหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เปิดไลน์อัพธุรกิจเพิ่มเติม เพื่อช่วยเร่งการเติบโต เช่น บริการจัดส่งของชำ และธุรกิจโฆษณาที่มีอัตรากำไรสูง
Food Delivery ไทย อาจโตถึง 10%
ส่วนตลาด Food Delivery ในประเทศไทยปีนี้ มีแนวโน้มที่จะเติบโตลดลงเล็กน้อย จากการคาดการณ์โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่คาดว่า มูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 86,000 ล้านบาท ลดลง 1% จากปีที่ผ่านมา และปริมาณการสั่งอาหารลดลงประมาณ 3.7%
อย่างไรก็ตาม คุณยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai มองต่างและกล่าวว่า ภาพรวมแข่งขัน Food Delivery ยังดุเดือดเหมือนเดิม และยังเติบโตค่อนข้างดีในช่วง 6 เดือนแรก ส่วนปีนี้คาดว่าเติบโตไม่เกิน 10% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยอดขายในออนไลน์ ที่ยังเติบโตได้ดีพอสมควร
ถึงแม้ SCBX เพิ่งออกแถลงการณ์ แจ้งยุติการให้บริการ Robinhood มีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป หลังพบขาดทุนตลอดมานับตั้งแต่บริษัทจดทะเบียนในสี่ปีที่ผ่านมา โดยผลประกอบการล่าสุดปี 2566 รายได้รวมราว 725 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิมากเกือบ 2,156 ล้านบาท
ส่วนผู้เล่นรายใหญ่ที่ในปี 2566 Grab สามารถทำรายได้ 15,622 ล้านบาท กำไร 1,308 ล้านบาท และ LINE MAN ที่มีรายได้ 11,634 ล้านบาท และทำกำไรครั้งแรกที่ 253 ล้านบาท ในขณะที่ foodpanda ทำรายได้เพียง 3,843 ล้านบาท และขาดทุนต่อเนื่องที่ 522 ล้านบาท
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจ Food Delivery เติบโตได้ลดลง มาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย การแข่งขันที่รุนแรง และต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ในภาวะเศรษฐกิจไทยที่ผู้ประกอบหลายรายจากหลากหลายอุตสาหกรรมมีความจำเป็นต้องปิดกิจการลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย
ที่มา Financial Times 1, Financial Times 2, IMARC