“ไทยเบฟ” ประกาศแลกหุ้น “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” (Frasers Property) เป็น หุ้น “F&N” ในสัดส่วน หุ้นเฟรเซอร์ส 1.88 หุ้น ต่อ หุ้น F&N 1 หุ้น กับ “ทีซีซี แอสเซ็ทส์” (TCC Assets) บริษัทอสังหาฯ ในเครือ มุ่งปรับโครงสร้างและโพซิชั่นธุรกิจเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่มเต็มตัว เพื่อตีตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์
ในวันนี้ (18 ก.ค. 2567) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ThaiBev”) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ว่า ไทยเบฟและบริษัทในเครือคือ InterBev Investment Limited (“IBIL”) ได้เสนอแลกเปลี่ยนหุ้นกับ บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด (“TCCAL”) บริษัทอสังหาฯ ในเครือ
โดยเป็นการแลกหุ้น ของบริษัท “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” (Frasers Property) บริษัทอสังหาฯ จากสิงคโปร์ ทั้งหมด 28.78% ที่ไทยเบฟถืออยู่ เป็นหุ้นบริษัท Fraser & Neave หรือ F&N บริษัทอาหารและเครื่องดื่มจากสิงคโปร์ ที่ทีซีซี แอสเซ็ทส์ถืออยู่ จำนวน 41.03% ในอัตราส่วน หุ้นเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ 1.88 หุ้น ต่อ หุ้น F&N 1 หุ้น ซึ่งเมื่อดำเนินการสวอปหุ้นเสร็จสิ้น จะทำให้ไทยเบฟ ถือหุ้นใน F&N 69.61%
ไทยเบฟ ระบุในรายงานที่ส่งต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ว่า การแลกเปลี่ยนหุ้นดังกล่าวจะ “ไม่มีการชำระหรือแลกเปลี่ยนเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง” และเป็นไปเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ และโพซิชั่นบริษัทไทยเบฟให้กลายเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่มอย่างสมบูรณ์ (pure-play) และโยกธุรกิจอสังหาฯ ไปไว้ให้ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาฯ ในเครือดูแลอย่างเต็มตัว
ทั้งนี้ ภายหลังจากการแลกเปลี่ยนหุ้นในครั้งนี้ ไทยเบฟจะไม่มีหุ้นบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้อยู่ในการครอบครองอีกต่อไป แต่ทีซีซี แอสเซ็ทส์จะยังคงมีหุ้น F&N เหลืออยู่ในครอบครอง 17.60% ลดลงจาก 58.90%
ทำไมไทยเบฟจึงตัดสินใจแลกหุ้นเฟรเซอร์สกับ F&N?
การแลกเปลี่ยนหุ้นในครั้งนี้เกิดจากการเจรจากันระหว่าง IBIL และ TCC ที่ตกลงจะแลกเปลี่ยนหุ้น เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ และ F&N กันด้วยอัตราส่วน 1.88:1
อัตราส่วนดังกล่าวคำนวณมาจากราคาประเมินที่ 1.89 ดอลลาร์สิงคโปร์/หุ้น จากราคาตลาด ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่ 1.07 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับหุ้นเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ และ 3.55 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้น จากราคาตลาด ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่ 0.80 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับหุ้น F&N ซึ่งประเมินโดย DBS Bank ที่ปรึกษาทางการเงินของไทยเบฟ
นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ ผู้บริหารสูงสุดของไทยเบฟ กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของไทยเบฟในการเสนอแลกเปลี่ยนหุ้นในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของไทยเบฟที่จะปรับโพซิชั่นบริษัท ออกจากอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเสริมจุดยืนในฐานะบริษัทอาหารและเครื่องดื่มอันดับหนึ่งของอาเซียน
การแลกเปลี่ยนหุ้น F&N มาไว้ในครอบครอง จะทำให้ทั้งไทยเบฟ และ F&N ได้ประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน เพราะจะกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง 2 บริษัท และทำให้ 2 บริษัทสามารถร่วมมือกันเพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์และผลิตภัณฑ์จากนมที่กำลังเติบโตอย่างมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ โดยใช้ประโยชน์จาก scale of procurement เครือข่ายที่กว้างขวางในซัพพลายเชนการผลิตอาหาร รวมถึง ศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตอาหารต่างๆ
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้นระหว่างไทยเบฟและ F&N ยังจะเปิดโอกาสให้ไทยเบฟสามารถ cross-sell สินค้าเข้าไปในตลาดที่ F&N อยู่ได้ เช่น ตลาดสิงคโปร์ และมาเลเซีย ทำให้ไทยเบฟมีโอกาสในการสร้างรายได้และกำไรมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ หลังจากได้ประกาศขอเสนอแลกเปลี่ยนหุ้นแล้ว ไทยเบฟจะต้องจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (Extraordinary Annual General Meeting) หรือ EGM เพื่อขอการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นต่อไปในประเทศไทย
โดยคาดการณ์ตัวเลขทางการเงินของไทยเบฟ ภายหลังจากที่มีการสวอปหุ้นเรียบร้อยแล้ว จะทำให้ไทยเบฟ มี EBITDA เพิ่มขึ้นไป 59,383 ล้านบาท จากการคาดการณ์ตัวเลข ณ 31 มีนาคม 2567 ที่มี EBITDA อยู่ที่ 50,941 ล้านบาท ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน 26.52 บาทต่อดอลลาร์สิงคโปร์
โดยเมื่อวันพฤหัสบดี หุ้นของ F&N ในสิงคโปร์พุ่งขึ้น 22% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในวันเดียวสูงสุดตั้งแต่ปี 2013 มาที่ 1.30 ดอลลาร์สิงคโปร์ Frasers พุ่งขึ้นถึง 8.8% ก่อนที่จะปรับลดลงเหลือต่ำกว่า 2% ThaiBev พุ่งขึ้นถึง 3% สู่ระดับสูงสุดตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน หลังจากที่มีการยกเลิกคำสั่งห้ามซื้อขายในสิงคโปร์
การแลกเหุ้นที่เสนอจะดำเนินการในอัตราส่วนประมาณ 1.88 หุ้น Frasers ต่อหุ้น F&N หนึ่งหุ้น โดยอิงจากราคาที่ตกลงกันไว้ที่ 1.89 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้น Frasers และ 3.55 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้น F&N นั้น
แบรนด์ของ ThaiBev ได้แก่ เหล้ารัม SangSom, วิสกี้ Grand Royal และเบียร์ช้าง โดยสนับสนุน F&N สำหรับสายธุรกิจเครื่องดื่มอัดลม 100Plus และผลิตภัณฑ์นม Magnolia
F&N กล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วว่าจะซื้อใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินกิจการโรงเบียร์ในเมียนมาร์