ธุรกิจการตลาด

เปิดตัว#คนไทยรู้ทัน ศูนย์ข้อมูลดิจิทัลต้านภัยออนไลน์ร้องเรียน2หมื่นเคส

26 ก.ค. 67
เปิดตัว#คนไทยรู้ทัน ศูนย์ข้อมูลดิจิทัลต้านภัยออนไลน์ร้องเรียน2หมื่นเคส
ไฮไลท์ Highlight

30,000 ล้านบาท คือ ความเสียหายจากอาญชกรรมทางไซเบอร์ในแต่ละปี จากการหลอกให้ลงทุน ซื้อสินค้าไม่ตกปก แอบอ้างเป็นบุคคลอื่น และเหตุผลอีกจำนวนมาก ซึ่งได้สร้างความเสียหายกับประชาชนมหาศาล กระทบถึงเศรษฐกิจของประเทศ และในขณะเดียวกัน การร้องเรียนปัญหาออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในครึ่งปีแรก 2567 พบว่าสูงถึง 19,960 กรณีเคส

‘TikTok’ แพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ตระหนักรู้ถึงภัยมิตรฉาชีพออนไลน์ ได้ร่วมแสดงจุดยืนในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับผู้ใช้งาน ผ่านการเปิดตัวศูนย์ข้อมูลดิจิทัลต้านภัยออนไลน์’ (Anti-Scam Digital Literacy Hub) ผ่าน #คนไทยรู้ทัน เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการหลอกลวงและฉ้อโกงทางออนไลน์แห่งแรกในไทยบนแพลตฟอร์ม 

โดยได้ร่วมมือกับภาครัฐและประชาสังคมกว่า 8 หน่วยงาน ดังนี้:

  1. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES)
  2. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (OCPB)
  3. ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT)
  4. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB)
  5. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC)
  6. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
  7. โครงการโคแฟค (COFACT)
  8. สภาองค์กรของผู้บริโภค (TCC) 

ทั้งนี้ เพื่อนำจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานมาเสริมสร้างความรู้ผ่านแคมเปญ #คนไทยรู้ทัน ติดอาวุธทางความคิด พร้อมปลุกกระแสให้คนไทยรู้เท่าทันและสามารถรับมือกับปัญหาการถูกหลอกลวงบนโลกออนไลน์ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมั่นคง 

ที่ผ่านมา พบว่า คนไทยถูกหลอกลวงทางออนไลน์อยู่ต่อเนื่อง สอดคล้องกับรายงานของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ที่พบว่า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย ยังขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์ จากคดีหลอกลวงและการฉ้อโกงกว่า 700 คดีต่อวัน โดย 40% เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางอีคอมเมิร์ซ  

นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดตัวเลขการร้องเรียนปัญหาออนไลน์ของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ในครึ่งปีแรก (มกราคม - มิถุนายน 2567) พบว่า ปัญหาร้องเรียนออนไลน์มีมากถึง 19,960 กรณี ดังนี้:

  • ปัญหาซื้อขายออนไลน์ (43.44%)
  • ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย (31.27%)
  • ปัญหาอื่นๆ เช่น การหลอกให้ลงทุนหรือทำงานออนไลน์ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (25.29%) 

ปัญหาเหล่านี้ ได้สร้างความเสียหายให้กับทั้งบุคคลและธุรกิจขนาดเล็กเป็นอย่างมาก รวมทั้ง ธุรกิจหลายรายยังถูกโจมตีทางไซเบอร์ ทำให้ข้อมูลสำคัญถูกขโมยและนำไปสู่ช่องทางการเข้าถึงเป้าหมายในการหลอกลวงอย่างง่ายดาย เนื่องจากปัญหาดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเหล่ามิจฉาชีพยังมีการพัฒนากลเม็ดการหลอกลวงใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา 

เพิ่มความรู้ด้านดิจิทัลผ่าน TikTok 

TikTok ตั้งเป้าให้แคมเปญ #คนไทยรู้ทัน เป็นศูนย์ข้อมูลความรู้ดิจิทัลที่ครอบคลุมและครบถ้วน เพื่อปลุกกระแสการตระหนักรู้ของคนไทย เกี่ยวกับปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ รวมถึง การส่งเสริมให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มได้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และรับมือกับปัญหากลโกงบนสังคมออน์ไลน์ในรูปแบบต่างๆ ด้วยการนำเสนอวิธีการรับมืออย่างสร้างสรรค์ผ่านคอนเทนต์วิดีโอสั้นที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ทุกเพศทุกวัยบน TikTok 

นางสาวชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy จาก TikTok ประเทศไทย กล่าวว่า TikTok เชื่อว่า การสร้างภูมิคุ้มกันผ่านการมอบ ‘องค์ความรู้ด้านดิจิทัล’ หรือ ‘Digital Literacy’ ให้กับผู้ใช้งานเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่ง แพลตฟอร์มได้ทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์สำหรับผู้ใช้งานทุกคน 

ทั้งนี้ ความร่วมมือภายใต้แคมเปญ #คนไทยรู้ทัน มีจุดประสงค์เพื่อมอบพื้นที่ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการรับมือจัดการภัยออนไลน์ ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับผู้ใช้แพลตฟอร์ม TikTok ที่ครอบคลุมทุกเพศ ทุกวัย ทั่วประเทศไทย ในการสื่อสารเพื่อเตือนภัยและเสริมทักษะการรับมือกับกลโกงของมิจฉาชีพในยุคดิจิทัลที่มาในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเสริมเกราะป้องกันภัยออนไลน์ให้แก่ชาวไทยและร่วมสร้างอนาคตที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นบนสังคมออนไลน์ 

ด้าน นางสาว Shinto Nugroho, Director of Public Policy for South East Asia เผยว่า ความปลอดภัย เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ TikTok ให้ความสำคัญมากที่สุด โดยมีทีม Trust and Safety Professionals กว่า 40,000 คน เพื่อดูแลและรักษาความปลอดภัยของคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มและกฎระเบียบของชุมชน

โดยในไตรมาสที่ 1/2567 TikTok พบเนื้อหาวิดีโอที่มีการละเมิดกฎระเบียบของชุมชนและสร้างภัยคุกคามทางไซเบอร์กว่า 160 ล้านวิดีโอ ซึ่งได้ถูกรายงานและลบออกจากแพลตฟอร์มกว่า 90% ภายใน 24 ชั่วโมงหลังถูกเผยแพร่ พร้อมทั้ง 97.7% ถูกลบออกจากแพลตฟอร์มก่อนที่ผู้ใช้งานทั่วไปได้รับชมด้วยซ้ำ 

ทั้งนี้ ปัญหาการถูกละเมิดออนไลน์เห็นถึงการเติบโตที่ชัดขึ้นมากในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศไทย เนื่องจากองค์ความรู้ด้านดิจิทัลยังมีไม่มากพอ การร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานเอกชนจึงเป็นส่งเสริมการป้องกันภัยร้ายออนไลน์ได้อย่างแข็งแกร่ง เพื่อเอาจุดเด่นและความถนัดของแต่ละหน่วยงานมารวมพลัง ปลุกกระแสและป้องกันคนไทยผ่านแคมเปญ #คนไทยรู้ทัน

กลยุทธ์ร่วมมือ 8 หน่วยงาน เพื่อร่วมแก้ปัญหาผ่านจุดเด่นต่างๆ 

การร่วมมือเชิงกลยุทธ์ของ TikTok กับพันธมิตรทั้ง 8 หน่วยงาน มุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้ความรู้ตามความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งแบ่งเป็นดังนี้: 

  • ภาครัฐ : ให้ความรู้ในเรื่องการบังคับใช้กฏหมายและมาตรการเพื่อป้องกันและรับมือกับมิจาชีพออนไลน์
  • ภาคประชาสังคม : ให้ความรู้ด้านสิทธิ์และการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม 
  • ภาคประชาชน : TikTok นำทัพครีเอเตอร์ที่มีอิทธิพลบนแพลตฟอร์มเข้ามาเป็นกระบอกเสียงในการเตือนภัยและสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ใช้  

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ปัจจุบัน ความเสียหายจากอาญชกรรมทางไซเบอร์สูงถึงปีละ 30,000 ล้านบาท จากการหลอกให้ลงทุน ซื้อสินค้าไม่ตกปก และแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น ซึ่งสร้างความเสียหายทางการเงินและไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ 

ส่วน นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยกับ SPOTLIGHT ว่า การสร้างความตระหนักรู้และภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัลให้กับประชาชน สามารถแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ได้ส่วนหนึ่งอย่างยั่งยืน เปรียบเสมือนกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ต้องการวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและระงับความรุนแรงของการแพร่ระบาด

ทั้งนี้ เมื่อภาคประชาชนมีความเข้มแข็งจากการได้รับ ‘digital vaccines’ หรือการสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล ทุกคนย่อม 'รู้ทัน' ภัยออนไลน์ต่างๆ ทำให้โอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงออนไลน์น้อยลง และสามารถช่วยภาครัฐจัดการกับผู้ไม่หวังดีได้ 

นอกจากนี้ ทางกระทรวงฯ เน้นย้ำถึงหลักการป้องกันโกง4 ไม่: ไม่กดลิงก์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอนและยังพร้อมช่วยเหลือผู้เสียหายในการรับเรื่องร้องเรียนและอายัดบัญชีของคนร้ายผ่านศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง จากที่ผ่านมา การดำเนินการอายัดบัญชี ใช้เวลานานถึง 7-10 วัน แต่ปัจจุบัน ทำได้ภายใน 1 ชั่วโมง  

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมอบหมายสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ดูแลช่องทาง call center 1212 ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ที่มีส่วนช่วยปรึกษาปัญหาทางธุรกรรมออนไลน์ และแจ้งเบาะแสบัญชีม้า อีกทั้งผลักดันให้ประชาชนร่วมแจ้งเบาะแสบัญชีม้า พร้อมออกโรงเตือนประชาชนในการหลีกเลี่ยงการเปิดบัญชีม้าซึ่งเอื้อต่อกลุ่มมิจฉาชีพในการฉ้อโกงออนไลน์

ส่วนกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เข้ามามีส่วนร่วมสืบสวนสอบสวน ปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์และบัญชีม้าเป็นภารกิจหลัก โดยมีการจับและดำเนินคดีจริงมาแล้วนับไม่ถ้วน ด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานเหล่านี้ แต่ละหน่วยงานมีความมุ่งมั่นที่จะกระจายความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ภาคประชาชนผ่านแพลตฟอร์มแนวหน้าอย่าง TikTok เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนในยุคดิจิทัลไม่ให้เกิดความเสียหายจากมิจฉาชีพ

เมื่อตกเป็นเหยื่อ ยังมีหน่วยงานยืนหยัดพร้อมคุ้มครอง

การหลอกลวงให้ทำธุรกรรมทางการเงินด้วยกลโกงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลอกกู้เงิน หลอกลงทุน หรือหลอกให้รักเพื่อลักทรัพย์ เป็นอีกประเด็นที่สำคัญในแคมเปญ #คนไทยรู้ทัน ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จึงเข้ามามีบทบาทในการให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับภัยคุกคามเหล่านี้

โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการ 'เช็คให้ชัวร์' เช่นการตรวจสอบผู้ให้บริการสินเชื่อว่าเป็นตัวจริง ด้วยการตรวจสอบกับต้นสังกัดผู้ให้บริการ หรือในด้านการลงทุน ควรตรวจสอบผู้ให้บริการลงทุนว่าเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ผ่านแอปพลิเคชัน SEC Check First หรือติดต่อสายด่วนแจ้งหลอกลงทุน ก... โทร 1207 กด 22 เพื่อปรึกษาและแจ้งเบาะแสหลอกลงทุนปลอมได้ พร้อมย้ำเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่มาพร้อม SMS เบอร์แปลกหน้า  

ในขณะเดียวกัน โครงการโคแฟค (COFACT) ซึ่งเป็นพื้นที่ตรวจสอบข่าวลวง ยังได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นของการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบในยุคแห่งสื่อดิจิทัล ที่ผู้ประสงค์ร้ายสามารถเข้าถึงและหลอกลวงประชาชนได้อย่างง่ายดาย ไม่ให้หลงเชื่อข้อมูลเท็จและสารพัดกลลวงที่อาจสร้างความเสียหายให้กับตนเอง

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง COFACT ประเทศไทย กล่าวว่า COFACT เห็นว่า ความสามารถในการแยกแยะข้อมูลอันเป็นเท็จเป็นอีกหนึ่งพื้นฐานสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัย ซึ่งความร่วมมือของกับ TikTok และพันธมิตรทุกราย ผ่านแคมเปญ #คนไทยรู้ทัน ถือเป็นก้าวสำคัญในการมอบความรู้และเครื่องมือที่จำเป็นให้กับผู้ใช้ชาวไทยในการท่องโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัย 

ไม่เพียงเท่านี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ร่วมมอบความรู้เกี่ยวกับแนวทางปฎิบัติเมื่อตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ รวมถึงกรณีของผู้บริโภคที่ได้รับสินค้าอย่างไม่เป็นธรรม โดยแนะให้ผู้บริโภคเก็บรวบรวมหลักฐานตั้งแต่การสั่งซื้อจนกระทั่งการเปิดสินค้า 

หากได้รับสินค้าที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1166 หรือผ่านทาง www.ocpb.go.th สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมุ่งหวังให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้จากการช้อปปิ้งออนไลน์ อีกทั้งยังยืนหยัดติดตามและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ผู้ใช้งานทุกรายสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ได้ ผ่านการแชร์คอนเทนต์ไอเดียต่อกรกับกลโกงต่างๆ พร้อมติดแฮชแท็ก #คนไทยรู้ทัน บน TikTok ซึ่งคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาดีเด่นและโดนใจจะได้รับรางวัลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อย่างเช่น iPhone 15 Pro Max, Apple Watch และ iPad Air M2 ได้ตั้งแต่ 26 กรกฎาคม - 9 สิงหาคม 2567 และประกาศผลในวันที่ 19 สิงหาคม 2567

ทั้งหมดนี้ TikTok วางเป้าหมายระยะยาวในการสร้างพื้นที่ดิจิทัลที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมบนแพลตฟอร์มที่เอื้อประโยชน์ต่อครีเอเตอร์ แบรนด์ และธุรกิจต่างๆ ให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งคอนเทนต์ที่เชื่อถือได้สำหรับทุกคน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT