ธุรกิจการตลาด

LINE MAN ผงาดเบอร์ 1 ธุรกิจออนดีมานด์ในไทย แซงหน้า Grab เรียบร้อย

10 ก.ย. 67
LINE MAN ผงาดเบอร์ 1 ธุรกิจออนดีมานด์ในไทย แซงหน้า Grab เรียบร้อย

สมรภูมิของตลาดธุรกิจบริการแบบออนดีมานด์ในประเทศไทย ยังดำเนินมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2567 ที่เราพบเห็นเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการประกาศปิดตัวของ Robinhood ไปก่อนหน้านี้ แม้ภายหลัง เหลือเพียงแค่บริการส่งอาหารอย่าง Robinhood Food ก็ตาม

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มูลค่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยในปี 2567 จะซบเซา โดยมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 1.0% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันที่รุนแรงจากแพลตฟอร์มต่างๆ และต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น

ล่าสุด Redseer Consulting บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจที่เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ในตลาดเกิดใหม่ รายงานการเติบโตของธุรกิจบริการแบบออนดีมานด์ในประเทศไทย อย่างบริการ ‘ฟู้ดเดลิเวอรี’ และบริการ ‘เรียกรถ’ ในช่วงครึ่งปีแรก 2567

โดยพบว่า มูลค่าตลาดเติบโตสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.69 แสนล้านบาท สะท้อนศักยภาพของภาคครัวเรือนในการใช้จ่ายในบริการดิจิทัล และยังพบความเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้เล่นในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 ด้วย 

จากรายงาน ระบุว่า ‘LINE MAN’ ขึ้นแท่นมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด ติดอันดับหนึ่ง อยู่ที่ 44% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ตามมาด้วย Grab ที่ 40% ใกล้เคียงกับช่วงปีที่ผ่านมา และ ShopeeFood ลดลงมาอยู่ที่ 10% ส่วนกลุ่ม Others (เช่น Foodpanda และ Robinhood) มีส่วนแบ่งตลาดที่เหลืออยู่ประมาณ 6%

นอกจากนี้ ตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่ารวมของธุรกรรม (GMV) ในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีคาดว่าจะเติบโตขึ้นจาก 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ​ หรือประมาณ​ 1.42 แสนล้านบาท ในปี 2023 เป็น 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2028 หรือมากถึงราว 2.40 แสนล้านบาท

ในขณะที่ตลาดบริการเรียกรถ จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าใน 5 ปี โดยในปี 2023 ตลาดบริการเรียกรถมีมูลค่า GMV อยู่ที่ 0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.03 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเติบโตอีก 13% เป็น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2028 หรือประมาณ 3.38 หมื่นล้านบาท

โดยผู้เล่นในตลาดหลักยังคงเป็น Grab, LINE MAN, Bolt, inDrive และ Maxim การขยายตัวของตลาดนี้ได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถและคนขับ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยผู้เล่น 3 รายใหญ่จะครองส่วนแบ่งตลาดรวมกว่า 85% 

ผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี

LINE MAN

  • ปี 2564: รายได้ 4,140 ล้านบาท ขาดทุน 2,386 ล้านบาท
  • ปี 2565: รายได้ 7,802 ล้านบาท ขาดทุน 2,730 ล้านบาท
  • ปี 2566: รายได้ 11,634 ล้านบาท กำไร 253 ล้านบาท

Grab

  • ปี 2564: รายได้ 11,375 ล้านบาท ขาดทุน 325 ล้านบาท
  • ปี 2565: รายได้ 15,197 ล้านบาท กำไร 576 ล้านบาท
  • ปี 2566: รายได้ 15,622 ล้านบาท กำไร 1,308 ล้านบาท

Robinhood

  • ปี 2564: รายได้ 15 ล้านบาท ขาดทุน 1,335 ล้านบาท
  • ปี 2565: รายได้ 538 ล้านบาท ขาดทุน 1,987 ล้านบาท
  • ปี 2566: รายได้ 724 ล้านบาท ขาดทุน 2,156 ล้านบาท

foodpanda

  • ปี 2564: รายได้ 6,786 ล้านบาท ขาดทุน 4,721 ล้านบาท
  • ปี 2565: รายได้ 3,628 ล้านบาท ขาดทุน 3,255 ล้านบาท
  • ปี 2566: รายได้ 3,843 ล้านบาท ขาดทุน 522 ล้านบาท

ที่มา Redseer, Creden Data

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT