Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
การบินไทย ขาดทุนหนัก เกือบ 2 หมื่นล้านบาท  หวังปีหน้าเริ่มมีกำไรตามแผนฟื้นฟูฯ
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

การบินไทย ขาดทุนหนัก เกือบ 2 หมื่นล้านบาท หวังปีหน้าเริ่มมีกำไรตามแผนฟื้นฟูฯ

28 ก.พ. 65
16:32 น.
|
344
แชร์

การบินไทย ประกาศผลการดำเนินงานปี 2564 ยังขาดทุนหนัก 19,702 ล้านบาท แต่เป็นการขาดทุนลดลงจากปีก่อน 15,712 ล้านบาท มองธุรกิจปีที่แล้วผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นแต่ยังขาดทุนอยู่ หวังปีหน้ากลับมามีกำไรหลังเดินหน้าได้ตามแผนฟื้นฟู้กิจการ คาดออกจากแผนได้ก่อนครบกำหนด 5 ปี บวกทั่วโลกเริ่มทยอยเปิดประเทศหนุนธุรกิจการบินฟื้นต่อเนื่อง

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย(THAI) เปิดเผยว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานในปี 2564 จำนวน 19,702 ล้านบาท โดยเป็นการขาดทุนลดลงจากปีก่อน 15,712 ล้านบาท หรือลดลดลงประมาณ 44.4% ซึ่งไม่รวมกำไรจากรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียว โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 23,747 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน24,684 ล้านบาท หรือ 51%

เนื่องจากรายได้ จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 24,599 ล้านบาท หรือ 59.9% และรายได้จากบริการอื่นๆลดลง 1,545 ล้านบาท แต่มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,460 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรับรู้รายได้ที่เกิดจากข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดของเครื่องยนต์ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวม 43,449 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 40,396 ล้านบาท หรือ 48.2%เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่ลดลง ตลอดจนการดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกิจการและปฏิรูปธุรกิจ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป จากการที่ไม่สามารถทำการบิน ได้ตามปกติ

ขณะที่บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิ เป็นรายได้จำนวน 81,525 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 55,113 ล้านบาท

 


ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 161,219 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 48,078 ล้านบาท (23%) หนี้สินรวม 232,470 ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน105,492 ล้านบาท (31.2%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ติดลบจำนวน 71,251 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่31 ธันวาคม 2563 จำนวน 57,414 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ


ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ ในยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศเมื่อปลายปี 2564 และเมื่อรัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จึงส่งผลให้บริษัทฯ มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยรวมต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 311 คนในเดือนตุลาคมเป็น 1,067 และ 2,559 คน ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2564 ตามลำดับ ในขณะเดียวกันมาตรการผ่อนคลายในประเทศก็ทำให้จำนวนผู้โดยสารในเส้นทางภายในประเทศของสายการบินไทยสมายล์ เพิ่มขึ้นมากจาก 2,623 คนต่อวัน ในเดือนกันยายน 2564 เป็น 9,536 คนต่อวัน ในเดือนธันวาคม 2564 แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นมาก แต่จำนวนผู้โดยสารของการบินไทยและไทยสมายล์รวมกันก็อยู่ระดับ เพียงร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาที่บริษัทฯ สามารถให้บริการตามปกติ

 

ด้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอนที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมฯ โดยการยกเลิกมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2564 ทำให้จำนวนผู้โดยสารต่อวันของบริษัทฯ ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2565 ลดลงกว่าร้อยละ 20 จากในเดือนธันวาคม 2564


อย่างไรก็ดี การที่ภาครัฐนำมาตรการ Test and Go มาใช้อีกครั้งหนึ่ง และประเทศปลายทาง อาทิ เยอรมนี อังกฤษสวีเดน เดนมาร์ก ออสเตรเลีย เนปาล ฯลฯ ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง นับเป็นสัญญาณดีที่ทำให้ความต้องการเดินทางเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง บริษัทฯ จึงมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางต่างๆ อาทิลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต โคเปนเฮเกน ซูริก สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์ และเปิดให้บริการสู่จุดหมายปลายทางใหม่เพิ่มเติม อาทิ เมลเบิร์นในประเทศออสเตรเลีย และจุดหมายปลายทางในประเทศอินเดีย ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 นี้เป็นต้นไป

ในขณะที่สายการบินไทยสมายล์ได้เปิดให้บริการในเส้นทางร้อยเอ็ดและตรังจากสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งเปิดให้บริการจากสนามบินดอนเมืองไปยังเชียงใหม่ในเดือนก.พ. ปีนี้


ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการหารายได้ด้านการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์และบริการคลังสินค้า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้หลักแก่บริษัทฯ ในช่วงที่การขนส่งผู้โดยสารยังมีข้อจำกัดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมา มีการเติบโตด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้รวมกว่า 10,000 ล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 50 ของรายได้รวมของบริษัทฯ ในปี 2564 ที่ผ่านมา


นอกจากนี้เชื่อว่าผลประกอบการของบริษัทได้ผ่านจุดต่ำไปแล้วในปี 2564 ที่ผ่านมาแล้วครับ โดยมีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้มาจากปัจจัยจากการที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มทยอยเปิดประเทศทั้งในยุโรป, ออสเตรเลีย, เนปาล รวมถึงอินเดียรวมถึงการทีาบริษัทสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ ในการปรับลดค่าใช้และหารายได้เพิ่ม พร้อมทั้งคาดว่าการบินไทยจะสามารถทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วกว่าแผนและสามารถออกจากแผนฟื้นฟูก่อน 5 ปี หลังปรับโครงสร้างทุนใหม่ เนื่องจากบริษัทได้ลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก

ขณะเดียวกันหลายประเทศก็ทยอยเปิดประเทศ อย่างออสเตรเลียเปิดแล้ว ประเทศในเอเชียก็ทยอยเปิดประเทศมากขึ้น คาดว่าในครึ่งปีหลัง เกาหลี ญี่ปุ่น น่าจะทยอยเปิดประเทศ ส่วนจีนเราไม่ได้หวังว่าจะเปิดประเทศปีนี้ แต่ถ้าเปิดได้ก็ถือเป็นผลบวก

อย่างไรก็ดียอมรับว่าในปีนี้บริษัทจะยังมีผลการขาดทุนจากการดำเนินงานต่อไป แต่คาดว่าจะเริ่มมีกำไรจากการดำเนินงานตั้งแต่ในปี 2566 เป็นต้นไปเพราะคาดว่าจะมีการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากการที่หลายประเทศน่าจะมีการผ่อนคลายทยอยเปิดประเทศเพิ่มขึ้นจากปีนี้

นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการจัดหาสินเชื่อใหม่วงเงิน 25,000 ล้านบาทจากสถาบันการเงินปัจจุบันมีสถาบันการเงิน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพทำหน้าที่อันเดอร์ไรท์เตอร์ (Underwriter) ธนาคารออมสินธนาคารเอ็กซิมแบงก์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายเดิมมีความเห็นสอดคล้องกับบริษัทฯในการจัดหาสินเชื่อใหม่ เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายในเดือนมี.ค.นี้

ทั้งเพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการในปี 2565 คาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายในเดือนมี.ค.นี้ รวมถึงจัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น โดยบริษัทฯจะยื่นการแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมายภายในเดือน มี.ค.นี้เช่นเดียวกัน

 

 

แชร์
การบินไทย ขาดทุนหนัก เกือบ 2 หมื่นล้านบาท  หวังปีหน้าเริ่มมีกำไรตามแผนฟื้นฟูฯ