ธุรกิจการตลาด

รถไฟฟ้า BTS ลงคลิปทวงหนี้! จี้ถาม 4 หมื่นล้านสายสีเขียว เมื่อไหร่จ่าย

21 พ.ย. 65
รถไฟฟ้า BTS ลงคลิปทวงหนี้! จี้ถาม 4 หมื่นล้านสายสีเขียว เมื่อไหร่จ่าย

BTS สวมบทเจ้าหนี้โหด "ลงคลิปทวงหนี้ 4 หมื่นล้าน ทุกแพลตฟอร์มออนไลน์" ย้ำไม่หยุดเดินรถทำให้ประชาชานเดือดร้อน แต่รัฐบาลต้องลงมาแก้ปัญหาได้แล้ว ย้ำผ่านแฮชแท็ก #ติดหนี้ต้องจ่าย 

วันนี้ (21 พ.ย. 2565) ทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ทั้งใน Facebook, Youtube และ Twitter ได้พร้อมใจกัน "ลงคลิปวิดีโอทวงหนี้" เพื่อทวงถามหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่า 4 หมื่นล้านบาท ที่กรุงเทพมหานครมานานกว่า 3 ปี โดยภายในคลิปดังกล่าวมีการขึ้นข้อความระบุว่า

“คนเราจะอดทนกับการแบกหนี้ได้นานแค่ไหน?
ทำงานแต่ไม่ได้เงิน ต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกวัน…
ผู้มีอำนาจโยนไปโยนมา ไร้การตัดสินใจ
ถึงเวลาเข้ามาจัดการปัญหา
อย่าหนีปัญหา…อย่าปล่อยให้เอกชนสู้เพียงลำพัง
ถึงเวลาจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 40,000 ล้าน
ควรแก้ปัญหาได้แล้ว ภาษีประชาชนเสียหาย
BTS จะไม่หยุดเดินรถ แต่ติดหนี้…ต้องจ่าย”

bts4

ภายในคลิปยังมีการสัมภาษณ์ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่ระบุว่า

“อย่าพึ่งพูดเรื่องสัมปทานเลยครับ จ่ายเงินที่ท่านควรจ่าย มัน 3 ปีกว่าแล้ว ตัวเงินถึง 4 หมื่นกว่าล้านบาทเนี่ย ใครก็รับไม่ได้ เพราะเอกชนผู้ลงทุนเนี่ย จ่ายทุกวัน พนักงานผมก็ต้องจ่าย ค่าไฟก็ต้องจ่าย ทุกอย่างต้องจ่ายหมดครับ”

นายคีรี ยังระบุด้วยว่า ผู้ที่มีอำนาจ ผู้ที่บริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กทม. หรือการเมืองของประเทศต้องเข้ามาดูปัญหานี้ได้แล้ว ตอนนี้ดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน และดอกเบี้ยที่ต้องเสียไปอย่างไรก็ต้องจ่ายให้บีทีเอส แต่ผู้ที่เสียหายด้วยจริงๆ ก็คือประชาชนผู้เสียภาษี ซึ่งไม่ควรปล่อยให้หนี้พอกพูนพร้อมดอกเบี้ยเหมือนทุกวันนี้ แต่ควรมีการเข้ามาแก้ปัญหาได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม นายคีรี ย้ำว่าจะไม่หยุดเดินรถ เพราะจะเป็นการทำให้ประชาชนต้องเดือดร้อน  

bts2_1


มหากาพย์หนี้รถไฟฟ้าแสนล้าน

ปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่าง BTS และกรุงเทพมหานคร ถือเป็นมหากาพย์เรื่องยาวที่คาราคาซังมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยย้อนไปตั้งแต่ยุคผู้ว่าฯ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เมื่อปี 2530 และยิ่งถูกผูกปมซับซ้อนขึ้นในยุคผู้ว่าฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ที่เกิดสัญญาจ้างเดินรถใหม่ ให้บีทีเอสซี เดินรถอีก 30 ปี ครอบคลุมทั้งส่วนต่อขยาย และส่วนไข่แดงด้วย สัญญาจ้างเดินรถสิ้นสุดปี 2585

หลังจากที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามาเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนล่าสุดในปีนี้ ได้มีการตกลงเจรจากันระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม (กทม.) และฝ่ายของบีทีเอส เมื่อเดือน กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยขีดเส้น 60 วัน ศึกษาปมหนี้สายสีเขียว ซึ่งทางบีทีเอสระบุว่า หากยอมจ่ายหนี้คืน 4 หมื่นล้าน ก็จะถอนฟ้องทุกคดี พร้อมเผชิญหน้าเปิดสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 30 ปี ถึงปี '85

ทั้งนี้ หนี้ 4 หมื่นล้าน จำแนกออก เป็น1.ค่าจ้างเดินรถ/บำรุงรักษา (O&M) จำนวน 20,000 ล้านบาท และ 2.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) จำนวน 20,000 ล้านบาท 

ส่วนหนี้ที่อยู่ขั้นการฟ้องร้องของศาล คือหนี้ในส่วนค่าจ้างเดินรถ 12,000 ล้านบาท ซึ่ง BTS ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองในเดือน ก.ค. 2564 และคดีนี้ศาลปกครองเพิ่งมีคำตัดสินเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ให้กทม.และกรุงเทพธนาคาร จ่ายหนี้ภายใน 180 วันแล้ว 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT