รถยนต์ไฟฟ้า(EV) เวลานี้กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย เพิ่มขึ้นถึง 17 เท่าภายในเวลาเพียง 3 ปี และในปี 2566 ตั้งแต่ มกราคม-กันยายน ทะลุ 66,919 คันไปแล้ว หนึ่งในนั้นคือแรงสนับสนุนของภาครัฐที่ส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
ประเมินยอดขายรถยนต์ EV ไทย ปี 2566 เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพิ่มขึ้นถึง 17 เท่าภายในเวลาเพียง 3 ปี
จากข้อมูลทาง ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ที่กล่าวว่า เวลานี้การแข่งขันในตลาดรถยนต์ EV (Electric Vehicle : EV) ทั่วโลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายรายต่างปรับลดราคาขายลงเฉลี่ย 2-10% เพื่อกระตุ้นยอดขาย ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอาจช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหากเทียบกับค่าน้ำมัน รวมถึงการซ่อมบำรุง รถ EV จึงกลายเป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ
ฝั่งประเทศไทยก็เติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 17 เท่าภายในเวลาเพียง 3 ปี และคาดว่าในปี 2566 ยิดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงถึง 40,812 คัน (ปัจจุบัน ทะลุ 66,919 ไปแล้ว) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงสนับสนุนของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้มีสัดส่วนถึง 30% ภายในปี 2573
โดยในระยะเริ่มต้น ไทยอาจต้องพึ่งพาการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเป็นหลัก เนื่องจากโรงงานผลิตในประเทศไทยยังไม่สามารถรองรับความต้องการได้อย่างเต็มที่นัก แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และส่งออกได้ภายใน 3-5 ปี
ตลาดรถยนต์ไทย เปลี่ยนไป เมื่อ EV มาเร็วกว่าคาด
ข้อมูลยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งไฟฟ้าในประเทศไทยพุ่งพรวดจากเพียง 570 คันในปี 2562 มาอยู่ที่ 9,678 คันในปี 2565 และเวลานี้จากข้อมูล จดทะเบียนสะสมของ กรมขนส่งทางบก ประเภท รถยนต์ไฟฟ้า100% เวลานี้ทะยานสู่ 66,919 คันในปี 2566 เพิ่มขึ้นกว่า 300 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่น่าสนใจคือ รถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นที่นำเข้าจากจีนได้รับส่วนลดเพิ่มเติมจากค่ายผู้ผลิต จากเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) หลังจากเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งกำหนดเงื่อนไขให้ค่ายผู้ผลิตต้องลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด
10 อันดับรถ EV ยอดนิยมในประเทศไทย
- อันดับ 1 BYD Atto 3 15,924 คัน ราคาเริ่มต้นที่ 1,099,900 บาท
- อันดับ 2 NETA V 9,294 คัน ราคา 549,000 บาท
- อันดับ 3 Tesla Model Y 4,753 คัน ราคาเริ่มต้นที่ 1,699,000 บาท
- อันดับ 4 ORA Good Cat 4,362 คัน ราคาเริ่มต้นที่ 828,500 บาท
- อันดับ 5 MG EP 3,110 คัน ราคา 959,000 บาท
- อันดับ 6 MG 4 Electric 2,860 คัน ราคาเริ่มต้นที่ 869,000 บาท
- อันดับ 7 BYD Dolphin 2,013 คัน ราคาเริ่มต้นที่ 699,999 บาท
- อันดับ 8 Tesla Model 3 1,843 คัน ราคาเริ่มต้นที่ 1,599,000 บาท
- อันดับ 9 MG ZS EV 1,389 คัน ราคาเริ่มต้นที่ 949,000 บาท
- อันดับ 10 Volvo XC40 EV 858 คัน ราคาเริ่มต้นที่ 1,999,000 บาท
สำหรับ 3 ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่มี ยอดจดทะเบียนรถยนต์สะสม เยอะที่สุดคือ
- ค่าย BYD ส่งออกได้ 18,410 คัน แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 13,167 คัน ต่างจังหวัด 5,243 คัน
- ค่าย NETA ส่งออกได้ 9,347 คัน แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 5,288 คัน ต่างจังหวัด 4,059 คัน
- ค่าย TESLA ส่งออกได้ 7,386 คัน แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 7,013 คัน ต่างจังหวัด 373 คัน
ยอดจดทะเบียนรถยนต์สะสมรายภาคจาก กรมขนส่งทางบก ในกลุ่ม รถไฟฟ้า 100% (BEV : Battery Electric Vehicle) ตั้งแต่ เดือน มกราคม-กันยายน 2566 รวม 66,919 คัน โดยแบ่งได้ดังนี้
- กรุงเทพ 65,461 คัน
- ภาคกลาง 105 คัน
- ภาคตะวันออก 25 คัน
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 87 คัน
- ภาคเหนือ 639 คัน
- ภาคตะวันตก 495 คัน
- ภาคใต้ 107 คัน
ปัจจัยความสำเร็จ ที่ทำให้รถยนต์ EV ประสบความสำเร็จ
เพราะการแข่งขันด้านราคาในตลาดรถยนต์ EV ที่รุนแรงขึ้น กลายเป็น Game Changer กระทบตลาดรถยนต์ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย โดยมีสาเหตุดังต่อไปนี้
- รถยนต์ EV มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากกว่ารถยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ซึ่งแต่ละยี่ห้อและประเภทของเครื่องยนต์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกัน รวมถึงต้องใช้การบำรุงรักษามากกว่า ส่งผลให้ความน่าสนใจในตัวรถยนต์ ICE ลดลง
- แบรนด์รถยนต์ดั้งเดิมที่ปรับตัวได้ช้าอาจค่อย ๆ หายไป ผู้บริโภคมองว่ารถยนต์ EV เป็นสินค้าเทคโนโลยีที่ย่อมมีวันตกรุ่นไปตามยุคสมัย ทำให้รถยนต์ ICE รุ่นเก่ากว่ามีโอกาสตกรุ่นเร็วขึ้น ส่งผลให้แบรนด์รถดั้งเดิมที่ปรับตัวไม่ทันอาจค่อย ๆ หายไปจากตลาด
- ราคารถที่ปรับลงไม่เพียงกระทบตลาดรถมือหนึ่ง แต่ยังดึงราคารถมือสอง จากการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ที่มีแนวโน้มจะขายถูกลง ทำให้ราคารถมือหนึ่งปรับลงตามมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดรถมือสองเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดรถหรูหรือตลาดรถระดับกลาง
แนวโน้มของตลาดรถยนต์ EV ในประเทศไทย
กระแสรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทยกำลังมาแรง แต่ปริมาณรถยนต์ EV ที่จำหน่ายในประเทศยังค่อนข้างจำกัด ทำให้ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ EV ไทยยังต่ำกว่าหลาย ๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ttb analytics มองว่า การที่ Adoption Rate ของรถยนต์ EV ในไทยจะเร่งขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องอาศัย "Supply Leads Demand" หรือ การพัฒนาของบริษัทผู้ผลิตอย่างจริงจัง เพื่อสร้างปริมาณรถยนต์ EV ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น รองรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่พร้อมจะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ EV
ด้านการลงทุนรถยนต์ EV ในไทยของค่ายรถจีนในปัจจุบันยังน้อย หากเทียบกับฝั่งญี่ปุ่นที่ตั้งฐานการผลิตรถยนต์ในอดีต สาเหตุเพราะการนำเข้ารถยนต์ EV จากโรงงานจีนโดยตรงมีต้นทุนถูกกว่าการตั้งฐานผลิตในไทย อีกทั้งไทยยังไม่มีทรัพยากรสำคัญที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องนำเข้าเพื่อรองรับการผลิตในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการไทยในกลุ่ม Tier 2 และ 3 ทำได้เพียงเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและงานประกอบทั่วไป ซึ่งอาจไม่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากนัก
แต่ถึงอย่างนั้น ไทยก็ยังมีความน่าสนใจในการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ EV ในสายตานักลงทุนจีนอยู่ โดยการลงทุนรถยนต์ EV ในไทยมีส่วนช่วยกระจายความเสี่ยงจากประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เลี่ยงการแข่งขันใน ตลาดรถยนต์ EV ในจีนที่รุนแรง อีกทั้งยังสามารถต่อยอดห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยที่แข็งแกร่ง
ที่มา ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ,กรมขนส่งทางบก ,autolifethailand