Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ส่องไฮไลต์งาน ‘AI Summit’ ครั้งแรก ในไทย โดย Microsoft
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ส่องไฮไลต์งาน ‘AI Summit’ ครั้งแรก ในไทย โดย Microsoft

21 พ.ย. 66
23:03 น.
|
556
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

 

 

 

หลัง Microsoft ผนึกกำลังกับ OpenAI บริษัทผู้อยู่เบื้องหลังแชทบอทเปลี่ยนโลกอย่าง ChatGPT เปิดตัว AI ตัวเอกขององค์กรอย่าง ‘Copilot’ ที่ได้นำไปสอดผสานกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Microsoft ที่ครอบคลุมการทำงานแทบทุกด้าน

 

Copilot

 

วันนี้ Microsoft ได้ทยอยเปิดตัวผลิตภัณฑ์เหล่านั้น และนำ Use-case จริงจากองค์กรยักษ์ใหญ่ มาแชร์องค์ความรู้ และความท้าทายในงาน ‘AI Summit’ ที่จัดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพื่อจุดประกายให้องค์กรน้อยใหญ่ นำ AI ไปใช้ยกระดับองค์กรของตน

 

 

 กรณีศึกษา องค์กรยักษ์ใหญ่ นำ AI ไปใช้ในองค์กร



Microsoft ได้เริ่มโครงการ Copilot for Microsoft 365 Early Access Program (EAP) ที่ชวนพันธมิตรจากหลากลายอุตสาหกรรม นำ ‘Copilot for Microsoft 365’ AI ที่จะสอดประสานเข้ากับโปรแกรม Microsoft 365 ที่แต่ละองค์กรได้ใช้งานอยู่แล้ว เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้กับคนในทุกส่วนขององค์กร

โดย 3 ตัวแทนองค์กรชั้นนำที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ได้แก่ SCBX, PTTEP และ AIS รวมถึงบริษัทที่ปรึกษา FRONTIS ร่วมแชร์ประสบการณ์และกระบวนการเปลี่ยนผ่าน สู่องค์กรที่นำ AI ไปประสานในการทำงาน มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

  • SCBX : ตัวแทนผู้บริหารจาก SCBX ชูให้เห็นว่า พนักงานจำนวนมากใช้เวลาไปกับงานซ้ำซากจำเจ การที่มี AI มาช่วยจัดการงานเหล่านั้นให้ ทำให้พวกเขาได้ใช้ศักยภาพไปกับงานที่มีคุณค่ามากอย่างเต็มที่
     
    โดย SCBX ไม่ได้มีแผนที่จะลดคน แต่อยากเพิ่มศักยภาพการทำงานของคนจำนวนเท่าเดิมด้วย AI โดยหลักคิดสำคัญของการทำ AI มาใช้นั้น คือ การที่นำไปช่วยเสริมศักยภาพหน่วยธุรกิจก่อน โดยอาศัยหลักคิดง่ายๆ เหมือนกับตอนที่บริษัทต่างๆ นำ Microsoft Word เข้ามาใช้ ว่า โปรแกรมนี้ ควรใช้กับหน่วยงานที่จำเป็นก่อน ไม่ใช่นำไปใช้กับฝ่าย IT แค่เพียงเพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่

    สำหรับข้อจำกัดของ Copilot ขณะนี้ คือ การใช้งานภาษาไทยยังใช้งานได้ไม่เต็มที่ ซึ่ง SCBX ก็มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่จะพัฒนาโมเดล AI ภาษาไทยโดยอาศัยข้อมูลจากหลายภาคส่วน เพื่อมาเชื่อมต่อกับ Copilot และทำให้คนในทุกระดับสามารถเข้าถึงศักยภาพของ AI ได้อย่างสูงสุด แม้จะสื่อสารตอบโต้ด้วยภาษาไทย
  • PTTEP : ด้านตัวแทนผู้บริหารจาก PTTEP ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า ก่อนหน้านี้องค์กรก็พยายามจะพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมาใช้ในงานเฉพาะด้าน ซึ่งแต่ละเทคโนโลยีจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กับงานเฉพาะทางมากๆ มีคนใช้แค่หลักสิบคนเท่านั้น แต่ Copilot จะทำให้การใช้งาน GenAI สามารถใช้ได้กับทั้งส่วนต่างๆ ในองค์กร

    โดย Pain Point ที่หลายองค์กรเจอ ก็คือ ภายหลังการประชุมอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ คนในที่ประชุมก็อาจพลาดประเด็นสำคัญ และคนที่ไม่ได้เข้าประชุมก็อาจต้องมาไล่นั่งดู นั่งฟังย้อนหลัง
     
    แต่หากบริษัทมี Copilot ที่ผสานใน Microsoft Team แล้ว ก็จะสามารถจดประชุมไปพร้อมกับการประชุม และถอดออกมาเป็นสรุปได้ทันที ประหยัดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก และพนักงานก็จะมีเวลาใช้ไอเดียในการสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร เมื่อรวมกันแล้วก็จะกลายเป็นนวัตกรรมองค์กรต่อไป





  • AIS : หลังก่อนหน้านี้ AIS ประกาศตัวว่าจะผลักดันองค์กรสู่การเป็น Cognitive Tech-Co (เติมความอัจฉริยะลงไปในบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า) โดยการเพิ่มโซลูชั่นด้าน ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics), เทคโนโลยีอัจฉริยะ (Intelligent IT) และ ระบบเครือข่ายอัตโนมัติ (Autonomous Network) เข้าไป AI จึงเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ AIS ต้องเร่งทำความเข้าใจ และเริ่มใช้งาน เพราะการจะเป็นผู้นำได้นั้น ไม่ใช่แค่เท่าทันเทคโนโลยี แต่ต้องคิดให้เร็วกว่าเทคโนโลยีนั้นๆ

    AIS กล่าวถึงบทความของ Harvard Business Review เรื่อง Boost Your Productivity with Generative AI ว่าการนำ AI มาใช้ในการทำงาน ไม่เพียงช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น 25.1% เท่านั้น แต่ยังทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นถึง 40% อีกด้วย
     
    หนึ่งตัวอย่างการใช้งานของ AIS คือ การนำ AI มาช่วยให้บริการ Call Center แต่แทนที่จะใช้ให้บริการเหมือนระบบ Call Center ทั่วไปที่จะใช้กับสายโทรเข้า (In-bound Call) แต่กลับนำไปใช้กับสายโทรออกไปแจ้งข้อมูลลูกค้า (Out-bound Call) แทน เพราะมองว่า สำหรับลูกค้าที่มีปัญหาและโทรเข้ามานั้น ต้องการที่จะคุยกับผู้ให้บริการที่เป็นมนุษย์อย่างด่วนที่สุด
     
    การสายโทรออกนั้น ในเบื้องต้นอาจใช้ AI ทำแทนได้ เบื้องต้น และยังสามารถจับจากน้ำเสียงได้ ทั้งกรณีที่ลูกค้าไม่สะดวก ก็สามารถบอกว่าจะติดต่อมาใหม่ หรือถ้าลูกค้าสนใจ ก็ค่อยโอนสายไปยังผู้ให้บริการที่เป็นมนุษย์ เป็นการเพิ่มศักยภาพของ Call Center แม้จะมีจำนวนผู้ให้บริการเท่าเดิม
     
  • FRONTIS : ในงานยังมีตัวแทนบริษัทที่ปรึกษา อย่าง FRONTIS มาร่วมแชร์มุมมองด้วย โดยคำถามแรกที่องค์กรจะต้องตอบให้ได้คือๅ เราอยู่ในจุดไหนของ ‘AI Transformation Journey’ หรือเส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่ AI ได้แก่

    -Discover & Explore : สำรวจและค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับการนำ AI มาใช้ในองค์กร

    -Plan & Pilot : วางแผนและเริ่มนำ AI มาใช้โปรเจกต์ขององค์กร

    -Adopt & Scale : ใช้งาน AI กับองค์กรและขยายผล

    โจทย์สำคัญที่หลายองค์กรมักเจอ คือ จะทำอย่างไรองค์กรของตนถึงจะขยับจากช่วง ขั้นตอนของการชื่นชมและตระหนักถึงความสามารถของ AI มาเป็นการนำ AI มาใช้งานจริงๆ กล้าลอง กล้าเปลี่ยน โดยหัวใจสำคัญ คือ การหา Use-case ในองค์กรของตนให้เจอ หาคุณค่าของการนำ AI มาใช้ให้ได้

    โดยตัวอย่างที่ง่ายที่สุด คือ การนำ AI มาตอบคำถามแทน HR โดยสมตติว่า การปรับกระบวนการทำงานเช่นนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และประหยัดค่าใช้จ่ายให้องค์กรไปได้ 13 ล้านบาท/ปี หากมีกระบวนการเช่นนี้สอดแทรกอยู่ในแผนกต่างๆ ทั่วองค์กร 300 กระบวนการ ก็จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ 3,900 ล้านบาท/ปี จากการมี AI เข้ามาช่วย

 

Microsoft

 

 

MOU รัฐบาลไทย - Microsoft ความหวังเร่งสปีดไทยสู่ E-Government

 

หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว. คลังได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 12 - 19 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกานั้น นายกเศรษฐาได้เข้าหารือกับผู้บริหาร Microsoft พร้อมปิดดีลการลงทุนในไทยมูลค่ากว่า ‘100,000 ล้านบาท’ ผ่านการลงนาม MOU ร่วมกัน โดยมีใจความสำคัญ คือ

  • Microsoft จะทำงานกับภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ ‘Cloud First’ ของกระทรวงดิจิทัล พร้อมทั้งรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ และพิจารณาแผนการลงทุนสร้าง Data Center ในประเทศไทย

    โดยจะเป็น Data Center ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ดังแผนที่วางไว้ว่า Data Center ทั่วโลกของ Microsoft จะเป็นพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2025
  • จัดทำโรดแมปที่จะช่วยให้การนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานเกิดขึ้นได้จริง และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในภาคส่วนและอุตสาหกรรมต่างๆ
  • Upskill, Reskill และ NewSkill คนไทย 10 ล้านคนด้านดิจิทัลและ AI และพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ในทุกสายอาชีพ (Citizen Developers) ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกคน
  • สร้าง Sustainability Sandbox พื้นที่ทดสอบสำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608

 

 

AI Summit

 

สำหรับภายในงาน AI Summit นี้ นาย ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เผยว่า ในเฟสที่ 1 ซึ่งเป็นเฟสของการเตรียมการนี้จะเริ่มทำงานร่วมกับ 3 กระทรวงในขั้นต้น พร้อมนัดประชุมรายไตรมาสกับคณะทำงานของนายกเศรษฐาทุกๆ 3 เดือนเพื่อรายงานความคืบหน้า และขอการสนับสนุนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน ก่อนจะเริ่มเฟส 2 ซึ่งเป็นเฟสของการเริ่มลงมือปฏิบัติในอนาคต

โดยนาย ธนวัฒน์ยกตัวอย่างการใช้ AI มาเพิ่มความสมาร์ทให้กับรัฐบาลต่างๆ ว่า AI ของ Microsoft อาจมาช่วยทำให้ประสบการณ์การติดต่อหน่วยงานต่างๆ ของประชาชนดีขึ้น ผ่านการคุยกับ AI Chatbot ที่พัฒนาร่วมกันกับรัฐบาล ซึ่งจะช่วยให้เรียกข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐบาลได้ และติดต่อขอแบบฟอร์มต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ในด้านความปลอดภัยไซเบอร์ Microsoft ไม่เพียงใช้เครื่องมือที่มีในการร่วมพัฒนาระบบความปลอดภัยกับรัฐบาล แต่จะนำองค์ความรู้ผ่านการร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก มาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดการรับมือและจัดการกับปัญหาได้อย่างทันท่วงที ปัญหาที่เกิดขึ้นอีกฟากของโลก จะถูกส่งต่อองค์ความรู้มายังประเทศไทย และปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็จะเป็นตัวอย่างให้กับหน่วยงานอื่นๆ ทั่วโลกด้วย

 

Copilot AI

 

เปิดตัว ‘Copilot for Microsoft 365’ ประสบการณ์ออฟิศที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

หลังจากแง้มให้ทั่วโลกได้เห็นศักยภาพของการ AI มาปฏิวัติการทำงานบนบริการต่างๆ จาก Microsoft เมื่อช่วงต้นปี บัดนี้ บริการ Copilot for Microsoft 365 ได้เปิดให้ลูกค้าองค์กรเริ่มใช้งานทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา

โดยทำงานผสานกับแอปพลิเคชันที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและการทำงานของผู้คนนับล้านอย่าง Word, Excel, PowerPoint, Outlook และ Teams พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถใหม่ๆ มากมาย โดยมีฟีเจอร์เด่น อาทิ

 

  • Outlook มาพร้อมฟีเจอร์ช่วยสรุปอีเมลที่ต่อเนื่องกัน การร่างข้อความตามรูปแบบที่ต้องการ และติดตามการประชุมผ่าน Teams ได้อย่างสะดวก

  • Word ช่วยสรุปเนื้อหาในเอกสาร ร่างเนื้อหาในการเขียนเอกสารใหม่ และการจัดรูปแบบย่อหน้า
  • Excel สามารถวิเคราะห์ข้อมูล แนะนำสูตรการคำนวณ สร้างกราฟ เป็นต้น
  • PowerPoint สามารถออกแบบสไลด์จากหัวข้อและเนื้อหาที่ต้องการได้
  • OneNote ช่วยให้ผู้ใช้ได้รับข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น และสรุปบันทึกย่อได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม
  • Teams ช่วยสรุปเนื้อหาสำคัญจากการประชุม
  • Stream ช่วยค้นหาข้อมูลเชิงลึกจากวิดีโอบนแพลตฟอร์มได้ดีขึ้น
  • OneDrive ช่วยเหลือผู้ใช้ในการค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องภายในคลังไฟล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

 

 

Copilot for Microsoft 365 ยังโดดเด่นด้วยระบบที่พัฒนามาเพื่อองค์กรโดยเฉพาะ ทั้งด้านการรักษาความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และการกำกับดูแล รวมถึงด้านจริยธรรม ผ่านการร่วมเรียนรู้และสังเกตการณ์การใช้งานจริงกับลูกค้าองค์กรทั่วโลก รวมถึงองค์กรอย่าง Visa, General Motors, KPMG และ Lumen Technologies

จากการสำรวจความคิดเห็นและแนวทางการใช้งาน Copilot ของลูกค้าองค์กรใน 41 ประเทศทั่วโลก พบว่า

  • ผู้ใช้ Copilot ถึง 70% ระบุว่าพวกเขาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 68% รู้สึกว่าผลงานมีคุณภาพมากขึ้น
  • โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ใช้ Copilot สามารถทำงานประเภทการค้นหาข้อมูล งานเขียน และการสรุปเนื้อหาต่างๆ ได้เร็วขึ้น 29%
  • ผู้ใช้ Copilot สามารถติดตามเนื้อหาและประเด็นสำคัญในการประชุมที่ตนเองไม่ได้เข้าร่วมได้เร็วขึ้นถึง 4 เท่าตัว
  • ผู้ใช้ราว 64% เผยว่าพวกเขาใช้เวลาน้อยลงในการจัดการกับอีเมล ขณะที่ 85% สามารถเขียนงานดราฟท์แรกออกมาได้เร็วขึ้น และ 75% ค้นหาเอกสารที่ต้องการได้เร็วขึ้น
  • ผู้ใช้ Copilot 77% ต้องการใช้งานต่อไปในอนาคต
แชร์
ส่องไฮไลต์งาน ‘AI Summit’ ครั้งแรก ในไทย โดย Microsoft