ในเวลานี้ความต้องการของแร่ "ลิเทียม" กำลังเพิ่มมากขึ้น จากสาเหตุการอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ที่กำลังเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในปี 2568 และในปี 2573 จะต้องการมากกว่า 2 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ในวันนี้ทาง SPOTLIGHT ได้รวบรวมค้นหาข้อมูลปริมาณ แร่ลิเทียมสำรอง ที่มากที่สุดในโลก
รวมประเทศที่มีแร่ลิเทียมเก็บสำรองไว้มากที่สุดในโลก
จากการสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ในปี 2564 พบว่าทั่วโลกมีแหล่งทรัพยากรธาตุลิเทียมประมาณ 98 ล้านตัน โดยอเมริกาใต้เป็นทวีปที่มีปริมาณทรัพยากรชนิดนี้มากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้ดังนี้
- 1. โบลิเวีย 21.0 ล้านตัน
- 2. อาร์เจนตินา 19.0 ล้านตัน
- 3. ชิลี 9.8 ล้านตัน
- 4. สหรัฐฯ 9.1 ล้านตัน
- 5. ออสเตรเลีย 7.3 ล้านตัน
- 6. จีน 5.1 ล้านตัน
- 7 เยอรมันนี 3.2 ล้านตัน
- 8 คองโก 3 ล้านตัน
- 9 แคนาดา 2.9 ล้านตัน
- 10 เม็กซิโก 1.7 ล้านตัน
อันดับรองลงมา ได้แก่ สาธารณรัฐเชค 1.3 ล้านตัน; เซอร์เบีย 1.2 ล้านตัน; รัสเซีย 1 ล้านตัน; เปรู 880,000 ตัน; มาลิ 840,000 ตัน; บราซิล 730,000 ตัน; ซิมบับเว 690,000 ตัน; สเปน 320,000 ตัน; ปอร์ตุเกส 270,000 ตัน; นามิเบีย 230,000 ตัน; กานา 180,000 ตัน; ฟินแลนด์ 68,000 ตัน; ออสเตรีย 60,000 ตัน; และคาซักสถาน 50,000 ตัน ส่วนประเทศผู้ผลิตลิเทียมรายใหญ่ที่สุดในโลก มีดังนี้
ประเทศผู้ผลิตลิเทียมรายใหญ่ที่สุดในโลก
โดยข้อมูลจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐ (USGS) ปี 2565 ระบุว่า 6 ประเทศที่เป็นผู้ผลิตลิเทียมรายใหญ่ของโลกประกอบด้วย
- 1. ออสเตรเลีย 61,000 ตัน
- 2. ชิลี 39,000 ตัน
- 3. จีน 19,000 ตัน
- 4. อาร์เจนตินา 6,200 ตัน
- 5. บราซิล 2,200 ตัน
- 6. ซิมบับเว 800 ตัน
สำหรับประเทศไทย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า ไทยสำรวจพบแร่เลพิโดไลต์ (Lepidolite) กว่า 14,800,000 ตัน (Million Tonne: Mt) ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าได้ แม้จะมีความบริสุทธิ์ไม่สูงนัก ใช้ได้ประมาณ 0.45% หรือ พัฒนาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้สูงเกินกว่า 1,000,000 คัน โดยแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพในประเทศไทยอยู่ที่ จังหวัดพังงา ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ เเละแหล่งบางอีตุ้ม สุดท้ายนี้ แม้ แร่ในบ้านเราจะมีความบริสุทธิ์ไม่สูงนัก แต่ก็ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญ เนื่องจากประเทศไทยอาจกลายเป็นประเทศผู้ผลิตลิเทียมรายใหม่ในอนาคต
5 เหตุผลทำไมรถยนต์ EV ที่ต้องใช้ แร่ ลิเทียม ในการผลิตแบตรถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับเหตุผลที่ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า นิยมใช้ แร่ ลิเทียม ในการผลิตแบตเตอรี่เพื่อมาเป็นแกนพลังงานหลักในการขับเคลื่อนรถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้น สรุปได้ดังนี้
- น้ำหนักเบา ช่วยให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีน้ำหนักเบาลง จึงใช้พลังงานในการขับเคลื่อนน้อยลง และประหยัดพลังงานได้มากขึ้น
- อายุการใช้งานนาน ใช้งานได้นานหลายปี จึงช่วยลดต้นทุนในการบำรุงรักษา
- ให้พลังงานสูง ช่วยให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีระยะทางในการขับขี่ไกลขึ้น
- ชาร์จได้เร็ว ใช้เวลาในการชาร์จน้อยกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่น ๆ
- เป็นเซลล์แห้ง ไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ จึงปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนยังมีข้อดีอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ทนทานต่ออุณหภูมิได้ดี ทนต่อการสั่นสะเทือน และสามารถรีไซเคิลได้ โดยรวมแล้วแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนและเหมาะสมกับการใช้งานในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่มีประโยชน์สำหรับโลกใบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่โลกเราต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อน
ที่มา evbox.com และ pubs.usgs.gov