ธุรกิจการตลาด

ไทยออยล์ชี้แจงสถานการณ์แรงงานประท้วง เร่งหาข้อยุติจ่ายค่าจ้างค้างชำระ

30 ก.ค. 67
ไทยออยล์ชี้แจงสถานการณ์แรงงานประท้วง  เร่งหาข้อยุติจ่ายค่าจ้างค้างชำระ

สถานการณ์การรวมตัวประท้วงของกลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวไทยและเวียดนามที่หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางความพยายามในการแก้ไขปัญหาของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

โดยล่าสุดมีการนัดประชุมหารือเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

จากกรณีความคืบหน้ากรณีกลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวไทยและเวียดนามของบริษัท One Turn Ten, EMCO และ Thai Fong ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงภายใต้ Sinopec ได้รวมตัวชุมนุมหน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 24-26 กรกฎาคม 2567 เพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่ยังไม่ได้รับนั้น

จากการสอบถามของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) พบว่าปัญหาการค้างจ่ายค่าจ้างดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการที่ Sinopec ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า UJV: Unincorporated Joint Venture of Petrofac South East Asia Pte. Ltd. (“Petrofac”), Saipem Singapore Pte. Ltd. (“Saipem”) และ Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (ชื่อเดิมSamsung Engineering (Thailand) Co., Ltd.) (“Samsung”) ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาจ้างช่วงจาก UJV ส่งผลให้ Sinopec ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้แก่บริษัทผู้รับเหมารายย่อย รวมถึง One Turn Ten, EMCO และ Thai Fong ได้

พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด

บริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการจ่ายค่าจ้างดังกล่าว อย่างไรก็ตาม บริษัท ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและได้ประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับค่าจ้างที่ควรได้รับตามสิทธิ์โดยชอบ นอกจากนี้ทาง

บริษัทได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาจ้าง EPC กับ UJV อย่างครบถ้วน โดยได้ชำระค่าตอบแทนครบถ้วนตามงวดงานที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่ง UJV มีหน้าที่ในการบริหารจัดการสัญญาจ้างช่วงกับผู้รับเหมาช่วงอีกประมาณ 60 ราย รวมถึง Sinopec ด้วย ดังนั้น ปัญหาการจ่ายค่าจ้างที่เกิดขึ้นจึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ Sinopec และ UJV ในการแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการให้ผู้ใช้แรงงานได้รับค่าตอบแทนตามสิทธิ์ที่พึงได้รับโดยเร็วที่สุด

แม้บริษัทจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการจ่ายค่าจ้างโดยตรง แต่บริษัทตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นอย่างยิ่ง จึงได้อำนวยความสะดวกและประสานงานในการเจรจาระหว่างผู้แทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผู้รับเหมาช่วง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และ UJV อย่างต่อเนื่อง และจากการหารือเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ทุกฝ่ายได้แสดงความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมีความคาดหวังที่จะบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ในการเจรจาครั้งต่อไป ซึ่งได้กำหนดไว้ในวันนี้ (30 กรกฎาคม 2567) ทั้งนี้ ผลการหารือดังกล่าวได้ช่วยคลี่คลายความกังวลของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และนำไปสู่การสลายการชุมนุมในเวลา 20.30 น. ของวันเดียวกัน

เร่งหาข้อยุติเกี่ยวกับการชำระเงินค้างจ่าย

ล่าสุดในวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 มีการรวมตัวของกลุ่มผู้ใช้แรงงานอีกครั้ง เพื่อรอฟังผลการประชุมร่วมกันระหว่าง Sinopec, UJV, นายจ้าง, ผู้แทนภาครัฐ และตัวแทนผู้ใช้แรงงาน เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการชำระเงินค้างจ่ายแก่ผู้รับเหมาช่วง ทางบริษัทฯ ตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยบริเวณโรงกลั่นไทยออยล์อย่างเต็มที่ โดยได้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐในการจัดกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น บริษัทฯ ขอยืนยันว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้การรวมตัวของกลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยและไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของชุมชนโดยรอบ

สถานการณ์การเรียกร้องค่าจ้างของกลุ่มผู้ใช้แรงงานยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างเร่งหาทางออกร่วมกันเพื่อยุติปัญหาโดยเร็วที่สุด บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ยืนยันที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงานทุกคน และเพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT