สินทรัพย์ดิจิทัล

จริงหรือไม่ บิตคอยน์เป็นมากกว่าสกุลเงินดิจิทัล และเครื่องมือทางเสรีภาพ

12 ต.ค. 67
จริงหรือไม่ บิตคอยน์เป็นมากกว่าสกุลเงินดิจิทัล และเครื่องมือทางเสรีภาพ

“บิตคอยน์ไม่ใช่แค่สกุลเงินดิจิทัลเท่านั้น แต่มันคือเครื่องมือเพื่อสิทธิมนุษยชน” 

นี่คือสิ่งที่ ‘Alex Li’ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาบิตคอยน์ที่มูลนิธิสิทธิมนุษยชน (HRF) กล่าวภายในงาน Thailand Bitcoin Conference 2024 ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

Li เผยว่า ปัจจุบันมีประชากรมากถึง 5.7 พันล้านคน ที่อาศัยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทางการเงิน ด้วยสิทธิเสรีภาพในการพูดและการวิจารณ์ถูกจำกัด รวมถึง ‘เงิน’ มักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุม กดขี่ ต่อต้านเสรีภาพ และบังคับให้คนต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล 

รัฐบาลมีอำนาจในการอายัดบัญชีธนาคาร บังคับใช้โทษทางการเงิน หรือปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าถึงเงินของตัวเองได้ แต่ ‘บิทคอยน์’ สกุลเงินที่มีการกระจายอำนาจ ทำให้ไม่มีใครสามารถหยุดมันได้ แม้แต่ในระบอบเผด็จการทางการเงิน

SPOTLIGHT พามาดูมุมมองของ ‘Alex Li’ ผู้ซึ่งมองว่า ‘บิทคอยน์’ จะเป็นทางออกของปัญหาการควบคุมการเงินในระดับโลก และสามารถฟื้นฟูอำนาจที่สูญเสียไปให้แก่ผู้คนจำนวนมาก

ทำไมบิทคอยน์ถึงแตกต่าง

บิตคอยน์มีความแตกต่างจากระบบการเงินทั่วไป เพราะเป็นระบบที่ไม่ต้องมีการอนุญาตจากใคร ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีบัตรประชาชน หรือได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในการส่งหรือรับบิตคอยน์ เพียงแค่มี ‘อินเทอร์เน็ต’ และ ‘สมาร์ทโฟน’ ก็สามารถใช้งานบิตคอยน์ได้แล้ว 

ทำให้ผู้คนในประเทศต่างๆ อย่างไทย มาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย หรือที่ใดก็ตาม สามารถเข้าถึงบิตคอยน์ได้ เนื่องจาดรัฐบาลไม่สามารถ ‘บล็อก’ หรือ ‘เซ็นเซอร์’ ธุรกรรมบิตคอยน์ ทำให้ผู้คนมีอิสระในการควบคุมเงินของตนเองมากขึ้น

ถึงแม้บิตคอยน์อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ แต่สิ่งหนึ่งที่มันทำได้ คือ การเป็น ‘เงินแห่งเสรีภาพ’ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไม่มีใครสามารถหยุดการใช้บิทคอยน์ได้ เพราะมันไม่มีการควบคุมจากศูนย์กลาง และต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีอื่น ๆ เช่น Ethereum หรือ Solana ที่มีผู้ก่อตั้ง และองค์กรที่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎได้

“บิตคอยน์ดำเนินการภายใต้กฎที่เรียบง่าย และไม่เปลี่ยนแปลง บล็อกใหม่ถูกเพิ่มเข้าไปทุกๆ 10 นาที และความปลอดภัยของระบบไม่มีการประนีประนอม ทำให้บิตคอยน์เป็นคริปโตเคอร์เรนซีที่มีความปลอดภัยและกระจายอำนาจที่สุดในปัจจุบัน” Li กล่าว

3 กรณีศึกษาของบิตคอยน์ในโลกแห่งความจริง

  1. Alexei Navalny และการต่อสู้กับการทุจริต

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของบิตคอยน์ในการปกป้องสิทธิมนุษยชน เกิดขึ้นที่ประเทศรัสเซีย โดย Alexei Navalny นักกิจกรรมต่อต้านการทุจริต ได้เปิดโปงว่า รัฐบาลรัสเซียมีการคอรัปชัน และได้ขโมยเงินมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไป

ทำให้รัฐบาลตอบโต้ด้วยการอายัดบัญชีธนาคารของเขาและครอบครัว ทรัพย์สินถูกอายัดจนถึงขั้นมีหนี้สินติดลบ แสดงให้เห็นว่า ในกรณีนี้ ระบบการเงินถูกนำมาใช้เป็นอาวุธเพื่อกำจัดการต่อต้าน 

แต่ถึงแม้รัฐบาลจะอายัดบัญชีธนาคาร กลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของรัฐบาล ได้รวมตัวกันบริจาคบิตคอยน์ ให้องค์กรต่อต้านการทุจริตของ Navalny ได้ ทำให้การเคลื่อนไหวยังคงดำเนินต่อไปได้

  1. การเคลื่อนไหว #EndSARS

การเคลื่อนไหว #EndSARS ในไนจีเรียเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่เริ่มขึ้นในปี 2020 เพื่อต่อต้านหน่วยพิเศษปราบปรามโจรกรรม (SARS - Special Anti-Robbery Squad) ของตำรวจไนจีเรีย ซึ่งถูกกล่าวหาว่า มีการใช้ความรุนแรง ข่มขู่ กรรโชก และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน

การเคลื่อนไหวนี้เริ่มต้นจากการรณรงค์ออนไลน์ โดยผู้ประท้วงใช้แฮชแท็ก #EndSARS ในโซเชียลมีเดียเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกหน่วยงานดังกล่าว และมีการปฏิรูปตำรวจ สิ่งที่ทำให้การประท้วงนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง คือ การเข้าร่วมของคนหนุ่มสาวและประชาชนจำนวนมากที่เบื่อหน่ายกับการถูกละเมิดสิทธิโดยตำรวจ

ในช่วงการประท้วง รัฐบาลได้ตอบโต้ด้วยการใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง รวมถึงมีการอายัดบัญชีธนาคารของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการชุมนุม 

ทำให้ผู้ประท้วงหันมาใช้สกุลเงินดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ ในการระดมทุนและสนับสนุนการเคลื่อนไหว เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมหรือปิดกั้นธุรกรรมทางการเงินผ่านบิตคอยน์ได้ นี่จึงเป็นตัวอย่างสำคัญของการใช้คริปโตเคอร์เรนซีในการต่อสู้กับการกดขี่ทางการเมือง

  1. การควบคุมการเงินในเมียนมา

หลังจากที่รัฐบาลทหารเข้ายึดอำนาจและเข้ามาควบคุมประเทศพม่า ทำให้บัญชีการเงินกว่า 700 บัญชีที่ถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลถูกปิดตัวลง ประชาชนจำนวนมากถูกจับกุมเพียงเพราะการโอนเงินเพียง 8 ดอลลาร์ เพื่อช่วยสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล 

ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยการปราบปรามเช่นนี้ บิตคอยน์ได้กลายเป็นเส้นชีวิตสำคัญสำหรับกลุ่มนักกิจกรรม และผู้ต่อต้านทางการเมือง เนื่องจากบิทคอยน์เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีความปลอดภัยสูง กระจายอำนาจ ไม่มีผู้ควบคุมจากศูนย์กลาง รัฐบาลหรือระบอบเผด็จการไม่สามารถหยุดหรือปิดกั้นการทำธุรกรรมได้ 

ต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ ที่มักมีการควบคุมจากองค์กรหรือผู้ก่อตั้ง บิตคอยน์ไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้มันเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ในการใช้หลีกเลี่ยงการถูกควบคุมทางการเงินจากรัฐบาล

บทสรุป

Li เผยว่า นี่เป็นเพียงตัวอย่างของ 3 กรณีที่บิตคอยน์เป็นเครื่องมือเพื่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางการเงิน ถึงแม้มันอาจไม่สามารถแก้ไขทุกปัญหาบนโลกได้ แต่บิตคอยน์เป็นเครื่องมือที่สำคัญมาก สำหรับผู้ที่อยู่ภายใต้การกดขี่ทางการเมือง 

เมื่อระบบการเงินถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน บิตคอยน์กลับเป็นทางเลือกที่ไม่ต้องพึ่งพารัฐบาล เป็นเงินที่กระจายอำนาจ ปลอดภัย และไม่มีการเซ็นเซอร์อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในโลกดิจิทัลยุคใหม่

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT