หลังจากปล่อยให้ประเทศอื่นๆ แซงหน้าไปไกล ในที่สุดก็ได้ฤกษ์ที่สหรัฐจะหันมาเอาจริงเรื่อง "คริปโทเคอร์เรนซี" และ "สกุลเงินดิจิทัล" กันบ้างแล้ว
เมื่อคืนนี้ (9 มี.ค. 2565) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งบริหาร (Executive Order) สั่งการให้หน่วยงานทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐ ประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ของสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี พร้อมกับสั่งให้เร่งการวิจัยและพัฒนาสกุลเงิน "ดอลลาร์ดิจิทัล" อย่างจริงจัง
คำสั่งให้เร่งศึกษาข้อดี-ข้อเสียในครั้งนี้ จะครอบคลุม 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การคุ้มครองผู้บริโภคและนักลงทุน
- เสถียรภาพด้านการเงิน
- การทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย
- ความสามารถด้านการแข่งขันของสหรัฐในตลาดโลก
- โอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน
- นวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบ
การลงนามในคำสั่งบริหารครั้งนี้ หมายความว่าอย่างไร?
สำหรับวงการคริปโทเคอร์เรนซี นี่คือ "ข่าวดี" เพราะถือเป็นการให้ทิศทางความชัดเจนจากรัฐบาลสหรัฐเป็นครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ แวดวงคริปโทฯ ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ทั้งการควบคุมจากรัฐที่เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาการหลอกลวงฉ้อโกงต่างๆ และจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่เคยมีกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐเข้ามาจัดการคริปโทฯ เพื่ออุดช่องโหว่ไม่ให้รัสเซียใช้เป็นช่องทางการเงินหลังถูกตัดจากระบบสวิฟท์ ด้วย
แต่เมื่อผู้นำสหรัฐพูดถึง การอุดช่องโหว่ต่างๆ ในวงการนี้ และการแข่งขันของสหรัฐในเวทีโลก เพื่อให้สหรัฐยังคงความเป็นผู้นำในตลาดการเงินโลก ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกของตลาดคริปโทฯ ในสหรัฐ ซึ่งเจเรมี อัลแลร์ ซีอีโอของบริษัทคริปโทฯ อย่าง Circle ถึงกับระบุในทวิตเตอร์ว่า นี่คือห้วงเวลาครั้งสำคัญของคริปโทฯ สินทรัพย์ดิจิทัล และ Web 3 ไม่ต่างอะไรกับเมื่อครั้งที่รัฐบาลยอมรับอินเทอร์เน็ตในเชิงพาณิชย์ เมื่อช่วงปี 1996/1997 เลย
จึงไม่น่าแปลกใจที่ข่าวนี้จะส่งผลให้ราคาคริปโทฯ เด้งขึ้นเขียวยกกระดาน นำโดยบิตคอยน์ที่ทะยานขึ้นกว่า 9% ไปทะลุระดับ 42,000 ดอลลาร์/BTC ได้ แม้ว่าในภายหลังไม่นานราคาจะร่วงลงมาต่ำกว่า 40,000 ดอลลาร์/BTC ก็ตาม
รัฐบาลสหรัฐเน้นไปที่เรื่องไหนเป็นพิเศษ?
เราอาจต้องแบ่งเรื่องนี้เป็น 2 กรอบใหญ่ คือ คริปโทเคอร์เรนซี และ ดอลลาร์ดิจิทัล (สกุลเงินดิจิทัลของรัฐ)
ในกรอบของคริปโทเคอร์เรนซีนั้น รายงานจาก CNBC ระบุว่า ประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคถือเป็นส่วนสำคัญของคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมานั้น มีนักลงทุนจำนวนมากถูกหลอกลวงให้ลงทุนในคริปโทฯ รวมทั้งการสูญเสียเงินจำนวนมากจากการที่แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯ ถูกโจมตีทางไซเบอร์
ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง ทำการประเมินและพัฒนานโยบายการให้คำแนะนำเกี่ยวกับคริปโทฯ พร้อมกับสั่งให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านกฎระเบียบ สร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการควบคุมดูแลและป้องกันไม่ให้คริปโทฯ สร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงิน
ทำเนียบขาวได้ออกรายงานภายหลังคำสั่งดังกล่าวว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งรวมถึงคริปโทเคอร์เรนซี มีการขยายตัวอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ย. 2564 เราพบว่าราว 16% ของพลเมืองชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ หรือประมาณ 40 ล้านคน ต่างก็เข้าลงทุน, ซื้อขาย หรือใช้คริปโทฯ”
แต่อีกส่วนหนึ่งที่สหรัฐเคยแสดงความกังวล เพียงแต่ไม่ได้ถูกระบุถึงเป็นพิเศษจากไบเดนในครั้งนี้ก็คือ Stablecoin คริปโทฯ เช่น Tether ที่ผูกมูลค่าเหรียญเข้ากับสินทรัพย์จริงอย่างดอลลาร์สหรัฐ กำลังถูกจับตามากขึ้นเพราะปริมาณการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นมหาศาล ซึ่งเท่ากับว่า ทำให้สินทรัพย์อย่างเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ในวังวนความเสี่ยงของคริปโทฯ ไปด้วย จนก่อนหน้านี้มีรายงานว่า เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าการเฟดคนก่อน เคยเสนอให้สภาคองเกรสเข้ามาดูแลเรื่องนี้ด้วย
สหรัฐจะออก ดอลลาร์ดิจิทัล?
อีกประเด็นสำคัญของคำสั่งบริหารครั้งนี้ ก็คือ การสั่งให้เร่งการวิจัยและพัฒนาสกุลเงิน "ดอลลาร์ดิจิทัล" อย่างจริงจัง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการสั่งให้เพิ่มสปีด จากเดิมที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ก็ศึกษาเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ยังห่างไกลความเป็นไปได้ที่จะออกดอลลาร์ดิจิทัลมาใช้เร็วๆ นี้ แม้ว่าจะถูกหลายประเทศ เช่น จีน แซงหน้าไปไกลแล้วก็ตาม
ไบเดนสั่งการให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐทำการประเมินโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) และสนับสนุนให้เฟด ดำเนินการวิจัย พัฒนา และประเมินแนวทางของสกุลเงิน CBDC ต่อไป
ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เฟดได้เปิดเผยรายงานการศึกษาเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของสกุลเงิน CBDC พร้อมกับเปิดกว้างให้สาธารณชนเข้ามาร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกสกุลเงินดังกล่าวด้วย โดยจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับความคิดเห็นของสาธารณชนไปจนถึงวันที่ 20 พ.ค.ปีนี้
ทั้งนี้ เยลเลน ได้สนับสนุนให้ไบเดนออกคำสั่งฝ่ายบริหาร เพื่อกำหนดให้หน่วยงานของรัฐบาลเร่งทำการศึกษาข้อดีของการใช้คริปโทเคอร์เรนซี รวมทั้งข้อเสียที่อาจจะมีต่อผู้บริโภคและระบบการเงินเป็นวงกว้าง
เยลเลน ระบุว่า กระทรวงการคลังจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อรวบรวมรายงานเกี่ยวกับระบบการเงินและการชำระเงินในอนาคต ขณะเดียวกัน ก็จะจัดการประชุมหารือร่วมกับสภากำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (FSOC) เพื่อประเมินความเสี่ยงที่มีต่อเสถียรภาพการเงิน และประเมินว่าควรใช้มาตรการป้องกันหรือไม่ นอกจากนี้ ทางกระทรวงจะร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการเพิ่มมาตรฐานและยกระดับตลาดการลงทุนในคริปโทฯ ด้วย