สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อคืนนี้ (31 ม.ค. 2565) ราคาน้ำมันโลกได้ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีอีกครั้ง โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ งวดส่งมอบเดือน มี.ค. บวกขึ้น 1.18% ไปอยู่ที่ 91.21 ดอลลาร์/บาร์เรล และน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส บวก 1.33% ไปอยู่ที่ 88.15 ดอลลาร์/บาร์เรล
หากคำนวณสถิติของทั้งเดือน ม.ค. จะพบว่า ราคาน้ำมันโลกแพงขึ้นรวม 17% ส่งผลให้เดือน ม.ค. ปีนี้ เป็นเดือน ม.ค. ที่ราคาน้ำมันแพงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี
ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกกลับมาดีดตัวแรงตั้งแต่ต้นปีนั้น นอกจากจะเป็นเพราะช่วงฤดูหนาวที่มีการใช้พลังงานมากกว่าปกติแล้ว ยังเป็นเพราะปัจจัยด้านซัพพลายน้ำมันที่ตึงตัว ท่ามกลางความต้องการใช้น้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งเพราะเศรษฐกิจโลกฟื้น รวมถึงปัจจัยค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น และปัญหาความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
ทิศทางดังกล่าวส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายสำนักเริ่มเห็นพ้องตรงกันว่า มีแนวโน้มที่ราคาน้ำมันโลกอาจพุ่งทะยานกลับมาแตะ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ให้เห็นอีกครั้ง ในปีนี้
ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ เป็นรายแรกที่คาดการณ์ว่าปี 2565 นี้อาจได้เห็นภาวะน้ำมัน 100 เหรียญ และหลังจากนั้นไม่นาน ธนาคารมอร์แกน สแตนลีย์ ก็คาดการณ์ราคาน้ำมันในทิศทางเดียวกันโดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะผลกระทบของโรคโควิด-19 น่าจะรุนแรงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และปัญหาด้านอุปทานน้ำมันที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้
ล่าสุด EIU ซึ่งเป็นหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของ ดิ อีโคโนมิสต์ ได้คาดการณ์ราคาน้ำมัน 100 เหรียญเช่นกัน โดยระบุว่า ภาวะตลาดที่ตึงตัวอาจดันให้ราคาน้ำมันสามารถทะยานขึ้นเหนือระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยเมี 3 ปัจจัยสนับสนุนหลักๆ คือ การเพิ่มปริมาณการผลิตของงกลุ่มโอเปกพลัสยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย การที่ผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้ และการที่วิกฤตการณ์ ยูเครน-รัสเซีย เลวร้ายลง
ปัจจุบัน ราคาน้ำมันได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งทะลุระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2557 ในสัปดาห์ที่แล้ว จากความวิตกเรื่องปัญหาการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งรัสเซียนั้นเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ขณะที่ยูเครนก็เป็นประเทศผู้ส่งออกก๊าซรายใหญ่ไปยังทวีปยุโรปเช่นกัน
สถานการณ์เช่นนี้ทำให้หลายฝ่ายจับตามองการประชุมของกลุ่มประเทศโอเปก ในวันพุธที่ 2 ก.พ. นี้ว่า จะมีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันออกมาเท่าไร โดยก่อนหน้านี้มีรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า กลุ่มโอเปกพลัส (เพิ่มรัสเซีย) จะยังคงยึดมั่นตามข้อตกลงปัจจุบัน ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วัน ในเดือน มี.ค. แม้ว่าสหรัฐและชาติพันธมิตรจะกดดันให้ผลิตเพิ่มขึ้นอีกก็ตาม เพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ หลังจากราคาในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปลายปี 2564 เป็นต้นมา ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทย ปรับตัวขึ้นตามไปด้วย ตลอดเดือน มกราคม 2565 เราคาขายปลีกน้ำมันในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ปรับเปลี่ยน 7 ครั้งเป็นการสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นราคาในหลายผลิตภัณฑ์ โดยพบว่า ราคาขายปลีกเฉพาะ ปตท. มีการปรับขึ้นดังนี้