ว่าด้วยเรื่องของ “หนี้” ตัวเลขนี้ถ้าสูงมากๆคงจะไม่ดีแน่ทั้งกับตัวเราเองและระบบเศรษฐกิจ หนึ่งตัวชี้วัดระดับการเป็นหนี้ของภาคประชาชนเราเรียกว่า “หนี้ครัวเรือน” ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TTB Analytics พบว่า ตั้งแต่โควิด-19ระบาด หนี้ครัวเรือนของไทยมีการปรับตัวสูงมากขึ้น จาก 80% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2562 เป็น 90.5% ของจีดีพี ณ ไตรมาส 1/2564 ส่วนตัวเลขล่าสุดจากแบงค์ชาติ ข้อมูลถึงสิ้นปี2564 หนี้ครัวเรือนของไทย อยู่ที่ 14,581,137 ล้านล้านบาท หรือ 90.1 % ของจีดีพีไทย
หนี้ครัวเรือน คือ หนี้ที่ประชาชนอย่างเราไปกู้ยืมมา นับรวมหมดไม่ว่าจะกู้ จากคนรู้จัก สถาบันการเงินหรือแม้แต่ผู้ให้บริการนอกระบบ ซึ่งเรากู้เงินเหล่านั้นมาเพื่อไปใช้จ่ายตามที่เราต้องการ การกู้เงินมาไม่ใช่เรื่องผิดอะไร การกู้เงิน หรือ การก่อหนี้ ช่วยให้เราสามารถใช้จ่ายได้ทั้งในชีวิตประจำวัน และยามจำเป็น ในช่วงที่เรารายได้ไม่พอ หรือเงินออมไม่พอ
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักไว้เสมอคือ การก่อหนี้เปรียบเสมือนการนำรายได้ในอนาคตมาใช้ แม้จะทำให้เกิดการใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในวันนี้ แต่ในอนาคตเราจำเป็นต้องชำระหนี้คืนอยู่ดี นั่นแปลว่าในวันที่เราต้องชำระหนี้จะทำให้รายได้ที่หามาเหลืใช้น้อยลง ดังนั้นหากครัวเรือนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจก่อหนี้มากเกินไปก็จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจนั่นเอง
ปัจจัยสำคัญในช่วง3ปีที่ผ่านมา คือ โควิด 19เป็นตัวเร่งให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น เพราะ
ในหลายประเทศกำลังประสบปัญหาการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ครัวเรือนเช่นเดียวกัน โดยเกาหลีใต้มีหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 93.9% ของจีดีพี เป็น 103.8% ณ ต้นปี 2564 และมาเลเซียที่เพิ่มจาก 82.7% เป็น 93.2% ในปัจจุบัน ซึ่งไทยมีปริมาณหนี้ครัวเรือนอยู่อันดับที่ 17 ของโลก ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน คือ เกาหลีใต้และมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 9 และ 14 ตามลำดับ แต่สูงกว่าหนี้ครัวเรือนของสิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับที่ 26 ของโลก จึงเห็นได้ว่านอกจากหนี้ครัวเรือนของไทยและประเทศเพื่อนบ้านจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังถือว่ามีปริมาณภาระหนี้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย ดังนั้น การบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งจำเป็น
นอกจากโควิดเป็นตัวเร่งให้หนี้ครัวเรือนสูงมากขึ้นแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยวิเคราะห์สาเหตุของหนี้ครัวเรือนไทยที่สูงขึ้นด้วยว่า เป็นหนี้สูง เป็นหนี้เร็ว และ เป็นหนี้นาน
(1) พฤติกรรมของครัวเรือน พบว่า ครัวเรือนไทยออมน้อย เป็นหนี้สูง และเป็นหนี้นาน เนื่องจากพฤติกรรมใช้จ่ายเกินตัว ทำให้มีเงินออมน้อย เมื่อต้องการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงจึงจำเป็นต้องกู้แบบเต็มมูลค่าหรือเป็นหนี้สูง นอกจากนี้ ผู้กู้บางรายยังจำเป็นต้องยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ที่ต้องชำระในแต่ละเดือนสูงจนเกินไป ทำให้เป็นหนี้นาน
(2) แรงกระตุ้นจากทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมักมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ซึ่งบางมาตรการมีส่วนทำให้ครัวเรือนเป็นหนี้ในขณะที่ยังไม่พร้อม เช่น โครงการรถยนต์คันแรกในปี 2555 ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนเองก็มีการออกมาตรการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อทำให้ครัวเรือนตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้ครัวเรือนเป็นหนี้เช่นกัน
(3) การส่งเสริมของสถาบันการเงิน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันการเงินมีการแข่งขันกันเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของตนเอง โดยการยื่นข้อเสนอที่เย้ายวนใจ ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนติดกับดักภาระหนี้ เช่น โพรโมชันผ่อน 0% หรือการให้เงินคืน (cash back) เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต รวมทั้งยังมีการเจาะกลุ่มลูกค้าอายุน้อยซึ่งอาจยังไม่มีความพร้อมทางการเงิน โดยงานศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์[2] พบว่า คนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี กู้เงินเพื่อซื้อรถยนต์มากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้กู้เพื่อซื้อบ้านหลังแรกที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปีก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
1.เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ 34% - หนี้ผ่อนบ้าน หนี้อสังหา เป็นหนี้ที่มีหลักประกันและในมุมผู้บริโภค คือเพื่ออยู่อาศัย หนี้ส่วนนี้อาจจะปลอดภัยกว่าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันแต่หากความสามารถในการจ่ายหนี้ลดน้อยลง หากหนี้ก้อนนี้มีปัญหาก็กระทบกับเศรษฐกิจมากเช่นเดียวกัน
2.เพื่อการอุปโภคบริโภค 28% - หนี้ส่วนนี้น่าเป็นห่วง เพราะอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าหนี้อสังหาริมทรัพย์ และเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ไม่ว่าใจจะเป็นบัตรเครดิต หรือ สินเชื่อบุคคล ซึ่งตัวเลขหนี้ก้อนนี้เป็นสัดส่วนที่สูง
3.เพื่อการทำธุรกิจ 18%
4.เพื่อเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ 13%
5.เพื่อการศึกษา 7%
ในช่วงเวลาโควิด19 จะเห็นได้ว่า ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทบ และธนาคารพาณิชย์ต่างออกมาตรการมาช่วยเหลือลูกหนี้ ให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ เพื่อลดภาระในช่วงวิกฤติโควิด มาตรการเหล่านี้มีระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้น จึงน่าหวั่นใจว่า หากเศรษฐกิจไทยยังเจอศึกหลายด้าน โควิด ของแพง น้ำมันแพง เงินเฟ้อสูง และแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น จะเป็นความเปราะบางให้กับลูกหนี้ทั้งหลายในอนาคตหรือไม่ ดังนั้นเท่ากับว่า การแก้หนี้ครัวเรือน อาจจะต้องเป็นความร่วมมือกันในหลายฝ่าย
1 “เพิ่มรายได้ของครัวเรือน” เพราะตราบใดที่ครัวเรือนยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องก่อหนี้เพื่อนำไปใช้จ่าย ในภาพใหญ่คงต้องช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้แรงงานไทยเก่งขึ้น มีทักษะการทำงานที่ตรงกับความต้องการของตลาด จะทำอย่างไรให้แรงงานในภาคเกษตรกรรมที่มีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมดมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน รวมทั้งปัญหาแรงงานในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่รายได้ฟื้นตัวได้ช้า ท่ามกลางวิถีการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่จะเปลี่ยนไป และให้ภาคธุรกิจเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยยกระดับผลิตภาพการผลิตและรายได้ของประชาชน ประเด็นเหล่านี้เป็นโจทย์ที่สำคัญและท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
2 “ปลดหนี้เดิม” ในช่วงที่ผ่านมา หลายหน่วยงานริเริ่มมาตรการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ทยอยปรับตัวและหลุดพ้นจากปัญหาหนี้ที่ประสบอยู่ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผลักดันหลายโครงการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ คลินิกแก้หนี้ และโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนสอดคล้องกับรายได้ที่เปลี่ยนไป ด้านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เดินหน้าช่วยเหลือกลุ่มข้าราชการครูที่ประสบปัญหาหนี้สินสูง สำหรับกรมส่งเสริมสหกรณ์เริ่มออกแบบมาตรการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกร อย่างไรก็ดี ยังคงต้องเร่งเดินหน้าต่อไปเพื่อทำให้หลายมาตรการที่ออกมาเกิดผลดีในวงกว้าง
3 “สร้างความตระหนักรู้ทางการเงินให้กับครัวเรือน” เพื่อไม่ให้เกิดการใช้จ่ายและการก่อหนี้ที่เกินตัว มีความตระหนักถึงความสำคัญของการออมและการลงทุน รู้จักวางแผนการเงินและบริหารความเสี่ยง สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของหลายภาคส่วนที่ต้องทำร่วมกัน โดยภาครัฐต้องส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับประชาชน ขณะที่ภาคครัวเรือนก็ต้องขวนขวายหาความรู้และฝึกวินัยทางการเงินด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ภาคสถาบันการเงินต้องไม่ออกโปรโมชั่นหรือผลิตภัณฑ์การเงินที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้ประชาชนติดกับดักหนี้
สรุปได้ว่า เมื่อมองไปข้างหน้าแม้รายได้ของครัวเรือนจะมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจจะดีขึ้นจากโควิด 19 แต่คาดว่า ภาระหนี้ที่สูงจะยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจากครัวเรือนจำเป็นต้องนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปชำระหนี้ที่มีอยู่เดิมก่อน ทำให้ไม่สามารถใช้จ่ายได้อย่างเต็มที่
ที่มา
https://www.ttbbank.com/th/newsroom/detail/thailand-household-debt