ถอดบทเรียนปัญหา "คาร์ซีท" จากเพื่อนบ้าน "มาเลเซีย" ที่ประกาศใช้ในวันที่ไม่พร้อม ก่อนจะนำไปสู่โครงการอุดหนุน "คาร์ซีทคนละครึ่ง"
หากจะพูดกันถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายคาร์ซีทของเด็กในรถยนต์ ที่กำลังเป็นปัญหาปวดหัวให้หลายครอบครัว ทั้งในแง่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและการต้องเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจไม่คุ้นชิน "มาเลเซีย" น่าจะเป็นตัวอย่างใกล้เคียงมากที่สุดที่ไทยอาจนำมาเป็นบทเรียนของการปรับใช้
มาเลเซียเริ่มเสนอกฎหมายคาร์ซีทของเด็กมาตั้งแต่ปี 2019 แต่ก็ถูกเลื่อนมาบังคับใช้จริงในวันที่ 1 ม.ค. 2020 เนื่องจากความไม่พร้อมหลายๆ อย่าง และต้องให้เวลาครอบครัวต่างๆ ได้เตรียมพร้อม
อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายคาร์ซีทจะเริ่มมีผล 1 ม.ค. 2020 โดยมีบทลงโทษปรับสูงสุด 300 ริงกิต (เกือบ 2,400 บาท) สำหรับคนที่ไม่ทำตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังคงมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่ยอมติดตั้งคาร์ซีท จนในที่สุด รัฐบาลต้องประกาศผ่อนผัน "ไม่ปรับ-ไม่ลงโทษ" ออกไปเป็นเวลา 6 เดือน จนถึงกลางปี 2020 เพื่อให้ครอบครัวได้มีเวลาปรับตัวและหาซื้อคาร์ซีทมาติดตั้ง
เพื่อเป็นการช่วยอุดหนุนให้คาร์ซีทมีราคาถูกลง รัฐบาลจึงได้ใช้มาตรการลดภาษีนำเข้าคาร์ซีทเหลือ 0% และยังลดค่าธรรมเนียมสรรพสามิตลงมาอยู่ที่ 5-10% อีกด้วย
เพราะต้องไม่ลืมว่า มาเลเซียก็มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง โดยในมาเลเซียจะแบ่งกลุ่มรายได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังคงเห็นรายงานข่าวเรื่องปัญหาประชาชนผู้มีรายได้ต่ำเข้าไม่ถึงคาร์ซีทอีกเป็นจำนวนมาก เพราะหลายครอบครัวมีลูกมากกว่า 1-2 คน และหลายครอบครัวมีรถเพื่อทำมาหากิน ทำให้รถไม่ใช่สิ่งที่ตัดสินฐานะได้เสมอไป
ในที่สุดเมื่อปีที่แล้ว ระหว่างการประกาศงบประมาณปี 2022 รัฐบาลจึงตัดสินใจออกโครงการ "คาร์ซีทคนละครึ่ง" เพื่อช่วยเหลือครอบครัวรายได้น้อยในกลุ่ม B40 โดยเฉพาะ ซึ่งเพิ่งจะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการไปเมื่อ 1 มี.ค. ที่ผ่านมานี้นี่เอง
เงื่อนไขของโครงการนี้ก็คือ รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าคาร์ชีท 50% สำหรับคาร์ซีทราคาไม่เกิน 300 ริงกิต หรือเท่ากับรัฐออกให้ 150 ริงกิต (ราว 1,200 บาท) แต่หากแพงกว่านั้นประชาชนก็ต้องยอมจ่ายแพงขึ้น เพราะรัฐช่วยเพียง 150 ริงกิต โดยครอบครัวที่มีสิทธิสมัครรับความช่วยเหลือจะต้องเป็นครอบครัวที่อยู่ในกลุ่ม B40 หรือกลุ่มที่มีรายได้น้อยสุด 40% ล่างของประเทศ หรือมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 4,850 ริงกิต (ราว 38,500 บาท)
รัฐบาลมาเลเซียคาดหวังว่า การใช้งบประมาณ 30 ล้านริงกิต เพื่ออุดหนุนคาร์ซีทให้ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยราว 188,000 ครัวเรือน จะช่วยรับประกันสวัสดิภาพความปลอดภัยของเด็กๆ ได้ โดยที่ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายให้ครัวเรือนมากเกินไปด้วย โดยเฉพาะในยามที่หลายคนยังบาดเจ็บได้รับผลกระทบมาจากโควิด-19 กันถ้วนหน้า