ปรากฎชื่อบนพาดหัวข่าวมาหลายสัปดาห์แล้วสำหรับ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีกรณีขึ้นตั้งแต่มีคนออกมาเรียกร้องให้ #ล้างหนี้กยศ ใน Twitter และล่าสุดก็เป็นที่พูดถึงอีกครั้งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้มีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. กยศ.ให้การกู้ยืม ‘ปลอดดอกเบี้ย’ ‘ไม่คิดค่าปรับ’ และ ‘ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน’ เรียกทั้งเสียง ‘ชื่นชม’ และ ‘วิพากษ์วิจารณ์’ จากแต่ละฝ่าย
โดยฝ่ายที่ ‘เห็นด้วย’ ก็กล่าวว่าการทำให้หนี้กยศ. ปลอดดอกเบี้ยและค่าปรับจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้กองทุนบรรลุจุดประสงค์ดั้งเดิมที่จะช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสหรือเด็กจากครอบครัวรายได้น้อยเข้าถึงการศึกษาได้อย่างแท้จริง มากกว่าที่จะเป็นเหมือนธนาคารพาณิชย์อย่างทุกวันนี้
ส่วนทางฝั่งที่ ‘ไม่เห็นด้วย’ ก็บอกว่าการยกเลิกดอกเบี้ยจะทำให้กยศ.เสียรายรับ และจะกระทบกับสภาพคล่องของกยศ. ที่ปัจจุบันเป็นกองทุนหมุนเวียนที่ใช้ทั้งเงินต้น เงินดอกเบี้ย และเงินค่าปรับที่ได้จากนักเรียนรุ่นก่อนมาเป็นเงินกู้ให้แก่นักเรียนรุ่นต่อไป
โดยจากข้อมูลจาก กยศ. ในแต่ละปีกองทุนจะมีสภาพคล่องที่ได้รับจากการชำระหนี้เงินกู้ ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ประมาณ 6 พันล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุนประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี เมื่อไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รายรับส่วนนี้ก็จะหายไป
นอกจากนี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยังบอกด้วยว่าการยกเลิกดอกเบี้ย ‘ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด’ เพราะผู้ผิดชำระหนี้บางกลุ่มไม่ได้ผิดชำระหนี้เพราะไม่มีงานทำ หรือดอกเบี้ยแพง แต่เป็นเพราะ ‘ไม่มีวินัยทางการเงิน’ และถ้ายกเลิกดอกเบี้ยก็จะยิ่งทำให้ผู้กู้ไม่กระตือรือร้นคืนเงินเข้าไปอีก
โดยล่าสุด ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. ก็ได้ออกมาเปิดเผยรายชื่อมหาวิทยาลัย ‘ที่มีเด็กมีวินัยทางการเงินสูงที่สุด’ คือมีพฤติกรรมชำระหนี้กยศ. ดีที่สุด 25 อันดับ จากทั้งหมด 313 อันดับ ดังนี้
โดย กยศ. ได้ชี้ให้เห็นว่าใน 25 อันดับนี้ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ นำโดยมหาวิทยาลัยพะเยา และมีมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับคือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
และบอกอีกด้วยว่า “สถานศึกษามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างวินัยและปลูกฝังความรับผิดชอบให้กับนักเรียน นักศึกษาที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพ โดยกองทุนขอชื่นชมสถานศึกษาทุกแห่งที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานกองทุน และมีส่วนในการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบให้แก่ผู้กู้ยืม จนทำให้กองทุนได้รับชำระเงินคืนกลับมาหมุนเวียนเพียงพอในการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง”
ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนได้ให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 6,284,005 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 702,309 ล้านบาท ประกอบด้วย
สำหรับผลการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียน นักศึกษาได้รับอนุมัติให้กู้ยืมจำนวน 638,132 ราย รวมเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 38,879 ล้านบาท และสำหรับผลการรับชำระหนี้ในปีงบประมาณ 2565 กองทุนได้รับชำระเงินคืนแล้วกว่า 27,844 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กันยายน 2565)
ที่มา: กยศ.