หลังจากที่ลูกค้าของแพลตฟอร์มเทรดคริปโทฯ รายใหญ่ ‘Zipmex’ ไม่สามารถถอนเงินและเหรียญคริปโทฯ ออกมาได้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 65 เป็นต้นมา เพราะบริษัทระงับการให้บริการ Z Wallet และ ZipUp+ จนสร้างความเสียหายร่วม 2,000 ล้านบาท ให้กับลูกค้า 60,000 - 70,000 รายนั้น
แม้ว่า Zipmex จะคืนเงินให้กับราว 60% ของลูกค้าทั้งหมดแล้ว แต่ยังมีลูกค้าจำนวนมากที่ยังไม่ได้เงินคืน หรือได้เงินคืนไม่ครบ และยังมีผู้เสียหายบางกลุ่มได้รวมตัวกันฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมเกือบ 700 ล้านบาท
ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 65 เว็บไซต์ Zipmex ประเทศไทย ได้ประกาศความคืบหน้าล่าสุดที่จะ ‘คืนเงิน/เหรียญ’ ให้กับลูกค้าแล้ว ภายใต้ ‘ข้อกำหนดและเงื่อนไข’ ที่เต็มไปด้วยภาษาทางกฎหมาย โดยเฉพาะการ ‘ขอความยินยอม’ ให้ลูกค้าลงนามตกลงในข้อตกลงหลายข้อเพื่อแลกกับการได้ทรัพย์สินคืน เช่น การยอมจบคดีความและจะไม่มีการฟ้องร้องอีก
เนื่องจากการคืนทรัพย์สินให้ลูกค้า (ปัจจุบันมีฐานะเป็นเจ้าหนี้) ในครั้งนี้เต็มไปด้วยเงื่อนไขและภาษาทางกฎหมาย ซึ่งมีความซับซ้อนและยากต่อการทำความเข้าใจ ทีมข่าว Spotlight จึงได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ 1. เงื่อนไขของบริษัทเพื่อแลกกับการได้ทรัพย์สินคืน และ 2. บทสัมภาษณ์มุมมองต่อทนายความผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายคริปโทเคอร์เรนซี เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
ท่านตกลงว่า ภายหลังจากที่ท่านได้เข้าทำข้อตกลงนี้ ท่านจะมีสิทธิในการเข้าถึงสินทรัพย์ใน Z Wallet ของท่านตามวันและเวลาที่ซิปเม็กซ์กำหนด ภายหลังจากที่การจัดการเสร็จสมบูรณ์ แผนการจัดการได้รับอนุมัติ และบรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการลงทุนใด ๆ ทั้งหลายสำเร็จลุล่วงแล้ว
ท่านตกลงที่จะถูกยกเลิกออกจากโครงการ ZipUp+
ข้อตกลงฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อท่านได้ตกลงตามข้อกำหนดนี้ โดยท่านจะสามารถถอนสินทรัพย์ใน Z Wallet ของท่านได้ตามวันและเวลาที่ซิปเม็กซ์จะได้ประกาศต่อไปเท่านั้น
ซิปเม็กซ์ พร้อมทั้งซิปเม็กซ์ เอเชีย พีทีอี แอลทีดี (Zipmex Asia Pte. Ltd.) พีที ซิปเม็กซ์ เอ็กเชนจ์ อินโดนีเซีย (PT Zipmex Exchange Indonesia) บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex Company Limited) และซิปเม็กซ์ ออสเตรเลีย พีทีวาย แอลทีดี (Zipmex Australia Pty Ltd) (“กลุ่มซิปเม็กซ์”) ได้ให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายภายใต้ชื่อทางการค้า “Zipmex” และอาจเสนอบริการเพิ่มเติมเป็นครั้งคราว ซึ่งรวมถึงโครงการ ZipUp+ ที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่แยกต่างหากเฉพาะสำหรับการใช้บริการโครงการ ZipUp+ (“ข้อกำหนดและเงื่อนไขสำหรับโครงการ ZipUp+”)
เพื่อตอบแทนการที่ซิปเม็กซ์ ได้ดำเนินการปล่อยสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดใน Z Wallet อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ZipUP+ เพื่อให้ท่านสามารถโอนสินทรัพย์ดิจิทัลไปยังกระเป๋าที่ใช้ในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Trade Wallet) ของท่านได้ โดยจะขึ้นอยู่กับความเสร็จสมบูรณ์ของการจัดการของซิปเม็กซ์ การอนุมัติแผนการจัดการ (scheme of arrangement) ความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงการลงทุน และการลงนามในเอกสารหรือสัญญาอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด:
ข้อกำหนดและเงื่อนไขของข้อตกลงดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามขึ้นในแวดวงผู้เสียหายจาก Zipmex ว่า ควรให้ความยินยอมหรือไม่ จะเกิดผลดีผลเสียทั้งต่อค่าเสียหายที่จะได้คืน และรูปคดีที่ก่อนหน้านี้มีการฟ้องร้องมากน้อยแค่ไหน?
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์ อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว Spotlight เพื่อไขข้อข้องใจประเด็นที่เกิดขึ้นจากข้อกำหนดและเงื่อนไขของข้อตกลงของ Zipmex ดังนี้
จากเนื้อความของข้อกำหนดและเงื่อนไขของข้อตกลงดังกล่าว มีเนื้อหาสำคัญว่า ผู้เสียหายจะยอมรับการชำระหนี้ของ Zipmex, สละสิทธิ์ฟ้องคดีทั้งแพ่งและอาญา, ตอกย้ำว่ามีสถานะการเป็นเจ้าหนี้ Zipmex Asia ไม่ใช่ Zipmex Thailand, ยอมรับการชำระหนี้ที่ไม่ได้ระบุรูปแบบสินทรัพย์และกรอบเวลาชัดเจน คล้ายการ ‘แฮร์คัทหนี้’ ต่อลมหายใจให้บริษัท ลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และการถูกฟ้องร้อง
เงื่อนไขของผู้เสียหายแต่ละคนแตกต่างกัน บางรายต้องการเพียงได้เงินต้นคืน บางรายต้องการเดินหน้าฟ้องให้ถึงที่สุด สำหรับผู้เสียหายที่มีมูลค่าความเสียหายอยู่ในหลักหมื่นถึงหลักแสนต้นนั้น การเลือกยอมรับ หรือไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว อาจไม่ได้แต่ต่างกันเท่าใด และหากคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องที่ศาลไทย รวมไปถึงที่ศาลสิงคโปร์แล้ว ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายอาจไม่สมเหตุสมผลกับมูลค่าความเสียหายสักเท่าไร
แต่สำหรับผู้เสียหายที่มีมูลค่าความเสียหายมากกว่านั้น หรือต้องการจะดำเนินคดีเอาผิดทางอาญาให้ถึงที่สุดนั้น การเลือกยินยอมในข้อกำหนดและเงื่อนไขดังกล่าวนี้ อาจทำให้คู่กรณีสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบในคดีอาญาในเรื่องการยอมความฐานความผิดต่อส่วนตัวได้ หรือในคดีแพ่ง จะตอกย้ำหรือรับว่าลูกหนี้เป็น Zipmex Asia ไม่ใช่ Zipmex Thailand และเกิดความไม่แน่นอนในรูปแบบของสินทรัพย์ที่จะใช้ชำระหนี้ว่าจะชำระในรูปของเงินสด หรือคริปโทเคอร์เรนซีสกุลใด และจะใช้ระยะเวลาในการชำระคืนนานเท่าใด
หากต้องการทำความเข้าใจมากขึ้น อาจต้องไปดูเอกสารที่ยื่นต่อศาลสิงคโปร์ (เนื้อหาในข้อกำหนดและเงื่อนไขของข้อตกลง ฉบับนี้ เป็นเพียงเนื้อหาโดยสรุปเท่านั้น) โดยหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญ คือ ‘รายละเอียดของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในบริษัท’ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ Zipmex เปิดเผยกับสื่อเพียงว่า มีนักลงทุนรายใหญ่ 2 ราย คาดว่าจะระดมทุนได้ไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท โดยยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอย่างเป็นทางการเพิ่มเติมต่อสาธารณชน
อย่างไรก็ดี นายปรุงศักดิ์ มองว่า Zipmex มีนักลงทุนรอสนับสนุนอยู่จริง เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ได้นำไปให้การต่อศาล เพราะหากเป็นความเท็จอาจเสี่ยงข้อหาเบิกความหรือแจ้งความอันเป็นเท็จได้ จึงมองว่าไม่คุ้มเสี่ยง นอกจากนี้ Zipmex ยังมีใบอนุญาตการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในมือ จึงยังมีโอกาสดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ต้องเรียกศรัทธาของลูกค้ากลับคืนมาให้ได้
เคสนี้เป็นอีกหนึ่งอุทาหรณ์ให้กับนักลงทุนรายย่อย ที่ควรจะต้องศึกษาตลาดและสินทรัพย์ที่ตนลงทุนให้เข้าใจ ระวังความเสี่ยงจากการลงทุน เพราะก่อนหน้านี้ แม้จะเป็นกรณี ‘หุ้นปั่น’ ซึ่งได้รับการรับรองจากตลาดทรัพย์และเป็นทรัพย์สินหรือการลงทุนที่ถูกมองว่าถูกควบคุมอย่างโปร่งใสจากหน่วยงานรัฐ แต่กลับสร้างความเสียหายกว่า 7 พันล้านมาแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น กรณีนี้ยังเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนการทำหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพราะ Zipmex ประเทศไทยเองก็ได้รับใบอนุญาตและถูกกำกับดูแลจาก ก.ล.ต. แต่กลับสามารถทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงอย่างการนำเงินลงทุนของลูกค้า 100% ไปลงทุนยังต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าในกรณีของ Zipmex ก.ล.ต. อาจไม่สามารถเข้ามากำกับดูแลหรือให้คำแนะนำกับนักลงทุนได้อย่างทันท่วงที ซึ่งขัดกับที่กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่น ๆ ที่ถูกควบอย่างเข้มงวดอย่างมาก