Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ห่วงจัดตั้งรัฐบาลไม่แน่นอนสูงกระทบงบประมาณภาครัฐ ชี้เศรษฐกิจยังผันผวน
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ห่วงจัดตั้งรัฐบาลไม่แน่นอนสูงกระทบงบประมาณภาครัฐ ชี้เศรษฐกิจยังผันผวน

22 พ.ค. 66
08:30 น.
|
299
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

  • จัดตั้งรัฐบาลไม่แน่นอนสูง กระทบเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ

  • เศรษฐกิจไทยมีแรงหนุนจากท่องเที่ยว-การบริโภคภาคเอกชน

  • ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกมีโอกาสชะลอลง

  • คาดเดือนก.ค.ญี่ปุ่นใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายลดลง

  • ค่าเงินบาทผันผวนสูง แนะป้องกันความเสี่ยง

การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของไทยในขณะนี้ มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา อยู่ในช่วงการฟอร์มทีมรัฐบาล รวบรวมพรรคเพื่อเพิ่มฐานคะแนนเสียง เพื่อโหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย 

ความเคลื่อนไหวล่าสุด นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ 24 พ.ค.2566 เวลา 10.00 น.จะมีการยื่นเอกสารเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้น ITV ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง​(กกต.) โดยหวังให้กกต.จะพิจารณาในเรื่องนี้เร็วขึ้น

จัดตั้งรัฐบาลไม่แน่นอนสูง กระทบเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ

ในมุมของเศรษฐกิจไทยนั้น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) เห็นว่า การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของไทยยังมีความไม่แน่นอยู่สูง ซึ่งเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลได้ช้า คาดว่าจะส่งผลกระทบลบในไตรมาสที่ 4/2566 เพราะเมื่อจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าก็จะส่งผลต่อการประกาศใช้พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะกลับมาเร่งเบิกจ่ายได้ ตั้งแต่ต้นปี 2567

ห่วงจัดตั้งรัฐบาลใหม่

เศรษฐกิจไทยมีแรงหนุนจากท่องเที่ยว-การบริโภคภาคเอกชน

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิดได้ในช่วงกลางปีนี้ จากแรงสนับสนุนของภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคที่ขยายตัวได้ดี เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ส่วนการลงทุนและการผลิตมีสัญญาณที่ดีขึ้นในไตรมาส 2/2566 และคาดว่ามูลค่าส่งออกของไทยปีนี้จะโต 1.2% แม้จะคาดว่าในไตรมาส 2/2566 ตัวเลขการส่งออกจะหดตัวก็ตาม แต่จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในปีนี้ 

ห่วงจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกมีโอกาสชะลอลง

ขณะที่เศรษฐกิจโลกปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ การฟื้นตัวของภาคการผลิตและภาคบริการยังมีความแตกต่างกันมาก รวมถึงปัญหาเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินและความไม่แน่นอนในการขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนได้ขยายตัวชะลอลงในเดือนเม.ย.2566 ด้านเศรษฐกิจยุโรปเองก็ยังมีความอ่อนแออยู่ ทำให้เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะปรับลดลงอย่างชัดเจนในเดือนพ.ค.2566 ผลจากราคาพลังงานที่ลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต้นทุนที่สูงขึ้นส่งไปยังราคาผู้บริโภค 

ห่วงจัดตั้งรัฐบาลใหม่

คาดเดือนก.ค.ญี่ปุ่นใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายลดลง

ห่วงจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ด้านอัตราเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเข้าใกล้กรอบเป้าหมายของธนาคารกลางมากขึ้น ผลจากราคาพลังงานโลกที่ลดลง โดย SCB EIC คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะคงนโยบายดอกเบี้ยไว้ตลอดปี ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 3.75% และ 5% ตามลำดับ เนื่องจากภูมิภาคยุโรปกำลังเผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อรุนแรงกว่า ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายน้อยลง เนื่องจากได้มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกมาดีกว่าที่คาด ทำให้คาดว่าในเดือนก.ค.2566 นี้ บีโอเจจะมีการปรับเงื่อนไขนโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Cure Control) 

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทย คาดว่านโยบายการเงินไทยจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับที่ 2.5% ในไตรมาส 3/2566 ตามเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัว และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมี 

ห่วงจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ค่าเงินบาทผันผวนสูง 

ค่าเงินบาทไทยมีแนวโน้มผันผวนสูง จากปัจจัยเหล่านี้  

  1. การจัดตั้งรัฐบาลยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง เป็นความเสี่ยงในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
  2. ประเด็นเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งหากขยายเพดานหนี้ได้ทัน ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอลงอย่างรุนแรงจนอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าเร็ว เงินทุนไหลออก ตลาดหุ้นปรับลดลง
  3. ภาวะการเงินโลกตึงตัว จากนโยบายการเงินและการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด

ห่วงจัดตั้งรัฐบาลใหม่

SCB FM แนะป้องกันความเสี่ยง

แนะนำให้ลูกค้าป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จากปัจจัยความเสี่ยงที่การจัดตั้งรัฐบาลมีความไม่แน่นอนสูงโดยเสนอกลยุทธ์ที่ช่วยปิดความเสี่ยง จาก 3 scenarios ของการจัดตั้งรัฐบาล ดังนี้

    1. หากพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับเข้าตลาดการเงินไทย ทำให้เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นปานกลาง โดยอาจแตะระดับ 33.70-33.90 บาท/ดอลลาร์ ได้

        FX Strategy : แนะผู้ส่งออกซื้อ put option ที่ราคาใช้สิทธิ 34.40 บาท/ดอลลาร์ เพื่อปิดความเสี่ยงบาทแข็ง หรือเข้าทำ Easy Sure Capped อายุ 3 เดือน ที่ราคาใช้สิทธิ 34.40 บาท/ดอลลาร์ และ capped level ที่ 33.80 บาท/ดอลลาร์ 

    2. หากพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากสามารถจัดตั้งรัฐบาล แต่ชื่อที่เสนอไม่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี เงินบาทอาจอ่อนค่าในช่วงแรกสู่ระดับ 34.95-35.15 บาท/ดอลลาร์  แต่อาจกลับมาแข็งค่าสู่กรอบ 33.90-34.20 บาท/ดอลลาร์ ได้ หลังได้นายกฯ จากพรรคร่วมรัฐบาล

        FX Strategy : แนะผู้นำเข้าซื้อ call option ที่ราคาใช้สิทธิ 34.30 บาท/ดอลลาร์ เพื่อปิดความเสี่ยงบาทอ่อน หรือเข้าทำ Easy Sure Capped อายุ 3 เดือน ที่ราคาใช้สิทธิ์ 34.20 บาท/ดอลลาร์ และ capped level ที่ 34.80 บาท/ดอลลาร์ 

    3. เกิดการประท้วงผลการเลือกตั้งเป็นวงกว้าง หรือไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ หรือรัฐบาลไม่สามารถผ่านมติได้ (เกิด political gridlock) จนต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ เงินบาทอาจอ่อนค่าเร็ว โดยอาจเกินระดับ 35.35 บาท/ดอลลาร์ได้

        FX Strategy : แนะผู้นำเข้าซื้อ call option ที่ราคาใช้สิทธิ 34.30  บาท/ดอลลาร์ เพื่อปิดความเสี่ยงบาทอ่อน โดยไม่ต้องมี capped level

ฉะนั้น สถานการณ์การเมืองไทยเป็นประเด็นที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ รวมถึง ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง ซึ่งก็จะกระทบกับผู้ส่งออกไทยโดยตรง 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ภาวะตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากความไม่ชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลที่จะส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนไทย ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีแรงเทขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ได้รายงานตัวเลขนักลงทุนต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 15-19 พ.ค.2566 มีแรงเทขายหุ้นไทยสุทธิ -10,678.94 ล้านบาท และบริษัทบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เทขายหุ้นสุทธิ -707.67 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยเห็นเป็นโอกาสเข้าซื้อ เป็นการเข้าซื้อหุ้นสุทธิ 10,335.45 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบัน​ ซื้อสุทธิ 1,051.16 ล้านบาท  

แชร์
ห่วงจัดตั้งรัฐบาลไม่แน่นอนสูงกระทบงบประมาณภาครัฐ ชี้เศรษฐกิจยังผันผวน