สถานการณ์การเมืองไทย ณ วันนี้ ยังไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี? หน้าตาครม.ชุดใหม่จะมีใครบ้าง? นโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลได้หาเสียงกันไว้จะได้ทำแค่ไหนอย่างไร? ความไม่รู้เหล่านี้คือความเสี่ยงสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยทั้งในปีนี้ และ ปีต่อๆไป
เงื่อนไขสำคัญคือ ถ้าการเมืองสงบ มีความชัดเจนในการมีรัฐบาลใหม่ ผลที่ตามมาคือเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีนี้แน่นอน ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า ปีหน้า GDP ไทยจะเติบโต 3.8% ส่วนปีนี้ 3.6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโต คือ การท่องเที่ยวไทยที่จะฟื้นตัวขึ้นอีกอย่างชัดเจน และนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่มากระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ความไม่แน่นอนทางการเมือง
หากมองในแง่บวกว่าการเมืองชัดเจนและสงบ ปีหน้า 2567 การท่องเที่ยวไทยจะเป็นพระเอกทำรายได้เพิ่มขึ้นเท่ากับ ปี 2562 ก่อนโควิดระบาด เพราะเมื่อวานนี้ (11ก.ค.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.ได้วางเป้าหมายว่า ปี 2567 รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะสูงถึง 3.09 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16% ต่อ GDP เลยทีเดียว
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ททท. ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าไทย 40.5 ล้านคน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 56,500 บาท/คน/ทริป สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.29 ล้านล้านบาท ครองสัดส่วน 74% จากรายได้ทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 26% เป็นนักท่องเที่ยวไทยในประเทศจำนวน160.3 ล้านคน-ครั้ง ค่าใช้จ่าย 3,700 บาท/คน/ทริป
ผู้ว่า ททท. ระบุว่า เพื่อให้รายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2567 กลับมา 100% ของระดับรายได้ในปี 2562 หรือ 3.1 ล้านล้านบาท ททท.จะเน้นการขับเคลื่อนในเชิงคุณภาพเพิ่มทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัว โดยล็อกเป้านักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูงและมีจิตสำนึกที่ดี เพื่อกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นและชุมชน
ขณะเดียวกันจะเร่งสร้างอุปทานการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Tourism) หรือเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยคาดหวังว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือปี 2570 ภาคการท่องเที่ยวจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ 5.59 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4.47 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวในประเทศ 1.11 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ผู้ว่า ททท. ยังบอกด้วยว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลส่งผลต่องบประมาณ 2567 ซึ่งหากล่าช้า ททท.ได้เตรียมแผนรับมือไว้แล้ว ซึ่งถ้าได้งบประมาณตามที่จัดสรรไว้เดิม อาจไม่กระทบกับการทำการตลาดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ถึงเป้าหมาย แต่หากงบประมาณที่ยื่นเสนอไปถูกปรับลด เป้านักท่องเที่ยวที่คาดหวังไว้ก็อาจได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2567 ททท.ได้เสนอของบประมาณไป 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณ 2566 ประมาณ 1,500 ล้านบาท
อีกด้านหนึ่งที่สนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของไทยคือ กลุ่มธุรกิจสายการบิน ซึ่งเมือวันที 11 ก.ค.ที่ผ่านมาคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมทีมงานพรรคก้าวไกล ก็ได้เดินทางไปหารือร่วมกับ 7 สายการบิน ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, ไทยสไมล์, นกแอร์, ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท
หลังการหารือได้มีการแถลงข่าวร่วมกัน คุณพิธาระบุว่า ได้มีการกำหนดประเด็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหา 3 เรื่องคือ
1.เรื่องต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับภาษีต่างๆ ที่สายการบินต้องจ่ายให้กับรัฐ ซึ่งต้นทุนเหล่านี้มีผลต่อราคาตั๋วโดยสารของประชาชน จึงมีการพูดคุยกันเพื่อกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสม เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน เป็นต้น ง
2.เรื่องต้นทุนการกำกับกิจการ หรือ ecosystem ในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งธุรกิจการบินในประเทศไทยมีต้นต้นทุนนี้ 15-20 % ต้องมีการนำไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ว่าไทยสามารถแข่งขันได้หรือไม่
3.เรื่องการกระตุ้นการท่องเที่ยว มีความเกี่ยวข้องกับความตกลงในการเดินอากาศของรัฐหรือกลุ่มภาคีที่ว่าด้วยการเดินอากาศ (Air Service Agreement) ที่จำเป็นต้องมีการเจรจาระหว่างประเทศ เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ จีน เพื่อทำให้การเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศสะดวกยิ่งขึ้น และทำให้เกิดความสมดุลเหมาะสม นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่จะผลักดันนโยบายฟรีวีซ่าซึ่งหลายประเทศใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นต้องทำตลอดไป อาจกำหนดเป็นช่วงเวลาได้ เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจการบินด้วย
ด้านคุณธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น แสดงความยินดีที่พรรคก้าวไกลเดินทางมาพูดคุยถึงประเด็นต่างๆของกลุ่มธุรกิจสายการบิน เห็นว่า คุณพิธาและพรรคก้าวไกลสามารถเข้าใจปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้
คุณพิธา บอกด้วยว่า แผนที่จะผลักดันไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การบินของภูมิภาคอาเซียนได้รับข้อมูลจาก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศในอาเซียนรุกหนักมาก โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่ได้จัดทีมเจรจาในการหาเอกสิทธิ์ของเส้นทางการบินจากประเทศต่างๆ ในการเดินทางข้ามทวีป ซึ่งเรื่องนี้ไทยยังเสียโอกาส จึงเป็นงานที่รัฐบาลชุดต่อไปต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เพื่อให้ไทยกลับมาเป็นฮับของอาเซียนให้ได้
ธุรกิจการบินมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศและกระทบต่อการเดินทางของประชาชนการแก้ปัญหาต้องอาศัยการบริหารที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 2 แห่งในประเทศ ไม่เพียงพอต่อสายการบินทั้ง 7 สายการบิน จึงต้องนำอากาศยานไปซ่อมบำรุงที่ต่างประเทศ ทำให้สูญเสียโอกาสและเม็ดเงินที่สามารถสร้างเศรษฐกิจในประเทศไทยได้
แม้คุณพิธา จะไม่ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ชัดเจนนักว่าหากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค.ที่จะถึงนี้ไม่เป็นไปตามที่คาด คุณพิธาจะส่งผ่านนโยบายที่พรรคก้าวไกลได้เดินสายหารือกับภาคธุรกิจเอกชนหลายกลุ่มจำนวนมากอย่างไร… แต่ก็พอจะสรุปได้ว่า ขณะนี้ปัจจัยสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย และภาคอุตสาหกรรมต่างของไทยในเวลานี้ คือ เสถียรภาพทางการเมือง หากการเมืองสงบมันคือจุดแข็งสำคัญให้กับไทยในเวทีโลก แต่หากไม่แน่นอน ยืดเยื้อและลงถนน จะพลิกกลับมาเป็นจุดอ่อนที่สุดของเศรษฐกิจไทยจากนี้