Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
มองผลกระทบ 'ภาษีศุลกากร' นโยบายยุคทรัมป์ 2.0 ที่ขัดกับแนวคิดการค้าเสรี
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

มองผลกระทบ 'ภาษีศุลกากร' นโยบายยุคทรัมป์ 2.0 ที่ขัดกับแนวคิดการค้าเสรี

8 ธ.ค. 67
13:29 น.
|
325
แชร์

‘ภาษีศุลกากร’ คือหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงทันที เมื่อ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะนี่คือหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ทำให้เขากวาดคะแนนจำนวนมากจากชาวอเมริกัน โดยทรัมป์ประกาศว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 60% และสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ราว 10%

ทั้งนี้ โหวตเตอร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ‘กำแพงภาษี’ จะช่วยกีดกันสินค้าราคาถูกจากจีน และจูงใจให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นการสร้างงานให้กับคนในประเทศอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นมีผลลัพธ์ตามที่ทรัมป์และชาวอเมริกันคาดหวังหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อไป แต่ทุกนโยบายย่อมมีเหรียญสองด้าน แล้วเหรียญอีกด้านของ ‘กำแพงภาษี’ คืออะไร

แนวคิดของ ‘กำแพงภาษี’

ภาษีศุลกากร หรือภาษีนำเข้า (Tariff) คือภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากสินค้าที่นำเข้ามาในประเทศ โดยผู้นำเข้าจะต้องเป็นผู้จ่ายภาษี ซึ่งส่วนมากอยู่ในรูปแบบร้อยละและอัตราส่วนต่อมูลค่านำเข้า เช่น ทรัมป์จะเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มขึ้น 60% ของมูลค่านำเข้า เป็นต้น ปัจจุบัน รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ มีการคำนวณและเรียกเก็บภาษีนำเข้าใน 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. การเรียกเก็บแบบคงที่ (Specific Tariff) เป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราคงที่ตามประเภทของสินค้า เช่น ภาษี 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อรถยนต์ 1 คัน
  2. การเรียกเก็บตามมูลค่าของสินค้า (Ad-Valorem Tariff) เช่น 5% ของมูลค่าสินค้าที่นำเข้า
  3. การกำหนดโควตา เช่น หากนำเข้าสินค้าดังกล่าวเกิน 5 ตัน จะต้องจ่ายภาษี 10% เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลจะบังคับใช้ภาษีนำเข้า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศจากการแข่งขันรุนแรงของต่างชาติ เช่น อุตสาหกรรมน้ำตาลในสหรัฐฯ ที่ได้รับการปกป้องด้วยภาษีศุลกากรมาตั้งแต่ปี 1789 และอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ ที่ได้รับประโยชน์จาก ‘ภาษีรถกระบะ’ อัตรา 25% มาตั้งแต่ปี 1964 

ขณะที่อีกจุดประสงค์ของการบังคับใช้ภาษีนำเข้า คือการจูงใจให้ประชาชนหันมาอุดหนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศ เนื่องจากภาษีนำเข้าจะทำให้สินค้าที่มาจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น ทำให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง พวกเขาก็จะหันไปให้ความสนใจกับสินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่า จึงกลายเป็นการจูงใจให้บริษัทต่างชาติย้ายฐานผลิตเข้าไปในประเทศนั้น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาษีนำเข้า ซึ่งจะเป็นการสร้างงานให้กับคนในพื้นที่และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ต่อไปอีก

เหรียญอีกด้านของ ‘กำแพงภาษี’

แม้ว่าภาษีศุลกากรหรือภาษีนำเข้าจะเป็นเครื่องมือที่สร้างข้อได้เปรียบสำหรับประเทศปลายทาง แต่ภาษีนำเข้าก็มีผลกระทบซับซ้อนที่แตกต่างกันไปตามพื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ และอาจส่งผลเสียได้หากตั้งอัตราภาษีไว้สูงเกินไป หรือถูกนำมาบังคับใช้ในเวลาที่ไม่เหมาะสม

ยกตัวอย่าง ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบลง ประเทศต่าง ๆ บังคับใช้ภาษีนำเข้า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ประเทศในระบบการค้าเสรีก็เริ่มลดการใช้ภาษีนี้ลง เนื่องจากการบังคับใช้ภาษีดังกล่าวเป็นการทำลายความสัมพันธ์ทางการค้า และทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศคู่ค้าออกมาตรการทางภาษีมาตอบโต้

การบังคับใช้ภาษีนำเข้ายังทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น อำนาจซื้อของประชาชนจึงลดลง และยังพบได้บ่อยครั้งที่ผู้นำเข้าผลักภาระภาษีดังกล่าวมาให้ประชาชนแบกรับ ขณะเดียวกันผู้ผลิตในประเทศก็ถือโอกาสในการเพิ่มราคาสินค้า เพราะเห็นแล้วว่าในตอนนี้ประชาชนต้องหันมาพึ่งพาสินค้าของตัวเองมากขึ้น

ดังนั้น นโยบาย ‘กำแพงภาษี’ ของทรัมป์ที่มีจุดประสงค์ในการลดการขาดดุลการค้าและส่งเสริมการผลิตในประเทศอาจให้ผลตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจไว้ เนื่องจากการกีดกันไม่ให้สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ อาจทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น เป็นการกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อ ท้ายที่สุดอาจวนกลับไปที่ผู้ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ ขายสินค้าได้น้อยลง เพราะประชาชนมีเงินเหลือใช้น้อยลง

กำแพงภาษียังทำให้ต้นทุนการผลิตภายในประเทศสูงขึ้น ในกรณีที่จีนเลือกโต้ตอบนโยบายกำแพงภาษีด้วยการหยุดส่งออกวัตถุดิบสำคัญมาให้สหรัฐฯ โดยเฉพาะ ‘เหล็กกล้า’ ซึ่งจีนเป็นผู้ส่งออกเหล็กกล้ามายังสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 2 รองจากแคนาดา ซึ่งการตอบโต้ดังกล่าวอาจทำให้สหรัฐฯ ต้องจัดหาทรัพยากรนั้นจากประเทศอื่น ๆ ในราคาที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังมีการคาดการณ์ว่า นโยบายกำแพงภาษีอาจทำให้สหรัฐฯ สูญเสียตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กมากกว่า 75,000 ตำแหน่ง ในขณะที่ทำให้เกิดการสร้างงานในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กเพียง 1,000 ตำแหน่งเท่านั้น

โดยพื้นฐานแล้ว ‘มาตรการทางภาษี’ ถือเป็นมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง ซึ่งขัดกับแนวคิดการค้าเสรีในระบบทุนนิยม ที่มองว่าประเทศต่าง ๆ ควรเปิดให้มีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศอย่างอิสระ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่ามาตรการทางภาษีอาจเป็นประโยชน์ หากนำมาบังคับใช้อย่างเหมาะสม ทั้งช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมการผลิตของประเทศมีความพร้อม และมีทรัพยากรภายในประเทศที่เพียงพอ โดยไม่ต้องพึ่งพาประเทศอื่น ๆ

แชร์
มองผลกระทบ 'ภาษีศุลกากร' นโยบายยุคทรัมป์ 2.0 ที่ขัดกับแนวคิดการค้าเสรี