กรุเทพโพล เปิดผลสำรวจเรื่อง “รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ กับหัวอกคนใช้บริการ ” พบว่า ประชาชน 46.2 % ระบุว่า ปัจจุบันต้องเสียเงินค่าขึ้นรถไฟฟ้าเฉลี่ยวันละ 51-100 บาท โดย 61.0 % ระบุว่า ค่าตั๋วโดยสารแพงเป็นปัญหาหนึ่งในการใช้บริการรถไฟฟ้า จึงวอนผู้ที่เกี่ยวข้องปรับค่าโดยสารให้ถูกลงกว่านี้
ปัญหานี้ทำให้พรรคเพื่อไทย มีนโยบายตอนหาเสียง คือ ค่าโดยสารรถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้โดยสาร โดยในเว็บไซต์พรรคเพื่อไทย บรรจุนโยบายนี้อยู่ในหมวดคมนาคม มีข้อความว่า
“เราถือว่าการเดินทางเป็นปัจจัยหนึงในการดำเนินชีวิตและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อช่วยให้ประชาชนประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้ชีวิตของประชาชนสะดวกสบายขึ้น การเดินทางด้วยระบบรางถือเป็นการเดินทางที่ประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุดอย่างหนึ่งในขณะนี้เราจะเร่งเจรจากับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าโดยมีเป้าหมายคือ ค่าโคยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพคือ 20 บาทตลอดสาย
แต่ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลในสัปดาห์หน้า กลับกลายเป็นนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะยังไม่ใช่วาระเร่งด่วนที่จะถูกบรรจุไว้ โดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ระบุว่า ต้องให้เวลารัฐมนตรีคมนาคมได้ทำงานก่อน และกำลังศึกษาความพร้อมในภาพรวมทั้งหมด
ขณะที่เจ้ากระทรวง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ยืนยันว่า ที่จริงแล้ว นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น เป็นนโยบายเร่งด่วน ต้องมีแน่นอน แต่อาจต้องใช้เวลา โดยประเมินว่าไม่น่าจะเกิน 2 ปี
"นโยบายเรื่องนี้มีแน่นอน แต่อาจต้องใช้เวลา โดยคิดว่าไม่น่าจะเกิน 2 ปี ในรัฐบาลเพื่อไทยจะได้ใช้รถไฟฟ้า 20 บาทแน่นอน" นายสุริยะ กล่าว
ขณะที่ในการแถลงนโยบายนั้นจะมีการพูดถึงระบบโลจิสติกส์ เรื่องการขนย้ายประชาชน โดยนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่คุณสุริยะจะเข้าไปอธิบายให้ฟังว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำ แต่คงไม่ได้เขียนว่า "นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท" เพราะมันเป็นเพียงส่วนย่อยของนโยบายใหญ่
นายสุริยะ ระบุว่า เรื่องรถไฟฟ้ามีหลายสาย แต่ละสายมีระยะสัมปทานที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการเจรจาในขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้เวลา เช่น ถ้ามีระบบที่ต้องเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องมีระบบคอมพิวเตอร์เพื่อคำนวณค่าใช้จ่าย หรือระบบตั๋วร่วม ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีแล้ว แต่รถไฟฟ้า BTS ยังไม่มี
ดังนั้นต้องเจรจากับ BTS ให้ติดตั้งระบบนี้ โดยใช้งบประมาณในการติดตั้งระบบประมาณ 1,000 ล้านบาท ต้องเจรจาให้ BTS ช่วยติดตั้งให้ ซึ่งไม่สามารถติดตั้งวันนี้ได้เลย เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา ซึ่งนโยบายนี้จะทำให้รายได้ของผู้ประกอบการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ต้องไปเจรจาว่าจะคืนกลับให้รัฐได้อย่างไร กระบวนการทั้งหมดจึงต้องใช้เวลา
ส่วนจะลดค่าใช้จ่ายแบบขั้นบันไดได้หรือไม่ นายสุริยะ บอกว่า เรื่องนี้ต้องใช้เวลา เพราะระบบตั๋วร่วมไม่ใช่จะได้ทันที ส่วนรัฐบาลต้องให้เงินอุดหนุนแก่เอกชนเท่าไรนั้น นายสุริยะ กล่าวว่า ตอนนี้กำลังทำตัวเลขอยู่ และยังไม่นิ่ง โดยมอบให้กรมขนส่งทางรางไปทำตัวเลขออกมาก่อน และให้ไปศึกษากับนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าอาจจะได้ตัวเลขออกมา
ขณะที่ก่อนหน้านี้ กรุงเทพโพลล์ โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความเห็นของประชาชน เรื่อง “รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ กับหัวอกคนใช้บริการ” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,200 คน เมื่อวันที่ 5-10กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า
ปัจจุบันประชาชนร้อยละ 38.2 ระบุว่าเดินทางโดยใช้บริการรถไฟฟ้า (BTS, MRT, Airport Link) เป็นบางวัน รองลงมาร้อยละ 36.2 ระบุว่าใช้เป็นประจำทุกวัน และร้อยละ 25.6 ระบุว่านานๆ ใช้ที โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 66.2 ระบุว่า ขึ้นขบวนเดียว/ต่อเดียวถึง ขณะที่ร้อยละ 33.8 ระบุว่า ต้องเปลี่ยนขบวนเชื่อมต่อไปรถไฟฟ้าสายสีอื่น
ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 46.2 ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเฉลี่ยวันละ 51-100 บาท รองลงมาร้อยละ 35.4 ระบุว่าน้อยกว่า 50 บาท และร้อยละ 14.2 ระบุว่า 101-150 บาท
สำหรับเรื่องที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.0 รู้สึกว่าเป็นปัญหาหรือลำบากในการใช้บริการรถไฟฟ้าคือ ค่าตั๋วโดยสารแพง รองลงมาร้อยละ 39.4 คือ จุดเชื่อมต่อของ MRT BTS เดินไกล และร้อยละ 25.7 คือยุ่งยากต้องพกบัตรโดยสารทีละหลายใบ ทั้ง MRT, Rabbit, EMV
ส่วนเรื่องที่อยากฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการรถไฟฟ้าพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.0ระบุว่าปรับค่าโดยสารให้ถูกลงกว่านี้ รองลงมาร้อยละ 48.5 ระบุว่าอยากให้มีบัตรเดียวใช้บริการได้กับรถไฟฟ้าทุกสายเหมือนต่างประเทศ และร้อยละ 47.6 ระบุว่าอยากให้เร่งสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆให้เสร็จตามแผนอย่างรวดเร็ว
ด้านความพึงพอใจการให้บริการรถไฟฟ้าในภาพรวมนั้นพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 88.3ระบุว่า พึงพอใจมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 11.7 ระบุว่าพึงพอใจน้อยถึงน้อยที่สุด ทั้งนี้หากสามารถสร้างรถไฟฟ้าครอบคลุมทุกเส้นทางตามที่วางแผนไว้ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ78.5 เห็นว่าจะทำให้คนกรุงเทพฯและปริมณฑลลดใช้รถส่วนตัวและหันมาใช้รถไฟฟ้าได้ ขณะที่ร้อยละ 10.1 เห็นว่าไม่ได้ ที่เหลือร้อยละ 11.4 ยังไม่แน่ใจ