หน่วยงานสหรัฐฯ คาดแผ่นดินไหวใหญ่ในโมร็อกโกจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศเป็นมูลค่าสูงสุดถึง 8% ของ GDP หรือราว 3.8 แสนล้านบาท เพราะเป็นแผ่นดินไหวใกล้แหล่งท่องเที่ยว ทำลายสิ่งก่อสร้างพื้นฐานย่อยยับ ทำให้ต้องมีการฟื้นฟูซ่อมแซมระยะยาว ปัจจุบันพบผู้เสียชีวิตแล้วถึงกว่า 2,100 คน
แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 8 กันยายน โดยมีความรุนแรงถึง 6.8-6.9 Mw หรือ มาตราโมเมนต์ มีจุดศูนย์อยู่ที่จังหวัด Al Haouz ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง มาราเกช (Marrakech) หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของโมร็อกโก และมีระยะทางห่างกันประมาณ 72 กิโลเมตร
CNN รายงานว่า ความเสียหายของแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ครอบคลุมพื้นที่ถึงเมืองมาร์ราเกช และทางตอนใต้ของเมือง เมืองมาราเกชและพื้นที่ทางใต้ของเมือง แรงสั่นสะเทือนรุนแรงทำลายอาคารบ้านเรือนพังเสียหาย และทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วเกิน 2,100 คน นับเป็นแผ่นดินไหวที่ร้ายแรงที่สุดของโมร็อกโก นับตั้งแต่ปี 1960 หรือในรอบ 63 ปี
นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยทันทีหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวแล้ว โมร็อกโกยังจะได้รับผลกระทบระยะยาวจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ เพราะมาราเกชเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของโมร็อกโก และความเสียหายจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูระยะเวลานาน ทำให้นอกจากต้องมีค่าซ่อมแซมบ้านเรือน ค่ารักษาผู้บาดเจ็บ และอื่นๆ แล้ว โมร็อกโกยังจะต้องเสียรายได้จากการท่องเที่ยว ที่แต่ละปีจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 7% ของ GDP
โดยจากข้อมูลของ United States Geological Survey คาดการณ์ความเสียหายครั้งนี้ อาจจะพุ่งไปถึง 1 พัน ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8% ของ GDP ของประเทศโมร็อกโก ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.07 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.8 แสนล้านบาทไทย
นอกจากนี้ เหตุการณ์นี้ยังถือได้ว่าเป็นภัยพิบัติที่เข้ามาซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจที่ยังซบเซาของโมร็อกโก เพราะก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ เศรษฐกิจของโมร็อกโกก็ได้รับกระทบอยู่แล้วจากภัยแล้ง และราคาสินค้าที่สูง
โดยในปี 2021-2022 การเติบโตทางเศรษฐกิจของโมร็อกโกตกลงจนเหลือเพียง 1.2% ขณะที่เงินเฟ้อในประเทศพุ่งขึ้นไปสูงถึง 8.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ ได้ส่งผลอย่างมากต่อประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะประชาชนในครัวเรือนรายได้ต่ำ
ในเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ โมร็อกโกจะได้รับความช่วยเหลือจากทั้ง IMF, ธนาคารโลก, สหภาพยุโรป, สหภาพแอฟริกา, ฝรั่งเศส และอินเดีย ซึ่งออกมาประกาศแล้วว่าจะให้ทั้งเงินและอุปกรณ์ช่วยเหลืออย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
นอกจากนี้ โมร็อกโกยังมีระบบประกันสังคมเพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีที่เกิดภัยพิบัติอยู่จำนวนหนึ่ง ทั้งจากระบบประกันภัยพิบัติของโมรอคโคที่สนับสนุนโดยธนาคารโลก จะให้เงินช่วยเหลือกับประชาชนทุกครัวเรือนและธุรกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ครอบคลุมคนได้ถึง 9 ล้านคน และมีมูลค่าสูงสุด 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เงินกองทุนเพื่อความมั่นคงของชาติ อีกประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม เงินช่วยเหลือจำนวนนี้ก็อาจจะไม่เพียงพอในการฟื้นฟูระยะยาว เพราะการฟื้นฟูความเสียหายระดับนี้ต้องใช้เงินจำนวนมาก และคนจำนวนมากในโมร็อกโกไม่มีประกันทรัพย์สินและชีวิต โดยมีคนเพียง 2-4% เท่านั้นที่มีประกันส่วนตัว ทำให้คนจำนวนมากต้องพึ่งพาการช่วยเหลือของรัฐบาล และพึ่งพาตัวเองเพียงอย่างเดียวในการฟื้นฟูความเสียหาย
อ้างอิง: Artemis, The National News, CNN