เศรษฐกิจโลกในเวลานี้กำลังเต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอย่างมาก ทั้งปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่เบอร์ 2 ของโลก รวมไปถึงสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซึ่งยังไม่มีท่าทีจะจบลงโดยง่าย และกำลังสร้างความกังวลว่าราคาพลังงานโลกอาจจะกลับมาพุ่งสูงอีกครั้งหากสถานการณ์บานปลาย
นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลก และประเทศต่างๆ ลดลงจากประมาณการเดิม โดยในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) GDP โลกปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.7% จากเดิม 2.9% ซึ่ง IMF ระบุว่า นี่คือการขยายตัวที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 นอกเหนือจากช่วงที่เกิดวิกฤตการเงิน และการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19
ทั้งนี้เศรษฐกิจโลกมากกว่า 1 ใน 3 จะต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัวในปีนี้หรือปีหน้า ขณะที่การขยายตัวของสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีนจะชะลอตัวลง
สำหรับมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐ IMF ประเมิน GDP สหรัฐฯปี 2022 GDP ขยายตัว 2.1% ปี 2023 2.1% ส่วนปี 2024 ขายตัว 1.5 % ส่วนสหภาพยุโรป ปี2023 โตเหลือ 0.7% ส่วนปีหน้าขยับขึ้นมาเป็น 1.2%
ส่วนเศรษฐกิจจีน IMF ก็ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีนในปี 2566 และ 2567 เช่นกัน โดยในปี 2566 ขยายตัว 5% ลดลงจาก 5.2% ส่วนปี 2567 ขยายตัว 4.2% ลดลงจาก 4.5% ในการคาดการณ์ของ IMF ในเดือนเมษายน 2566
ทั้งนี้การฟื้นตัวของจีนอ่อนแรงลงเนื่องจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ในรายงานคาดการณ์ว่าการแก้ไขปัญหาในตลาดที่อยู่อาศัยของจีนยืดเยื้อ ส่งผลให้ภาคการเงินตึงตัวบรรดาบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และคุณภาพสินทรัพย์ก็จะแย่ลง ผลกระทบดังกล่าวอาจทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนลดลงมากถึง 1.6% เมื่อเทียบกับค่าพื้นฐานภายในปี 2568 ในขณะที่ GDP โลกจะลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับค่าพื้นฐาน
ขณะที่แนวโน้มของ IMF สำหรับเอเชียและแปซิฟิกในปี 2566 มีความชัดเจนมากขึ้น โดย IMF เรียกภูมิภาคนี้ว่าภูมิภาคที่มีพลวัตมากที่สุดในปีนี้ นอกจากนี้ยังคงคาดการณ์การเติบโตก่อนหน้านี้สำหรับภูมิภาคที่ 4.6% ในปี 2566 และกล่าวว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคกำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องซึ่งมีส่วนสนับสนุนประมาณ 2 ใน 3 ของการเติบโตทั่วโลกในปีนี้ ส่วนในปี 2567 เศรษฐกิจในเอเชียและแปซิฟิก จะชะลอตัวลงเหลือ 4.2%
สำหรับเศรษฐกิจไทย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และ 2567 โดยระบุถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งรวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์
ในปี 2566 GDP ไทยลดลงเหลือ 2.7% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.4% และได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยในปี 2567 ลงสู่ระดับ 3.2% จากระดับ 3.6%
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ IMF เตือนว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์อาจจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 10% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งขึ้นส่วนอัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากรัฐบาลไทยออกโครงการสนับสนุนเศรษฐกิจ และผลพวงของราคาอาหารในภูมิภาคอาเซียนที่ปรับตัวลง คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1.5%