คำยอดฮิตที่ทุกคนได้ยินในแวดวงข่าวการเมืองตลอดเวลาคงหนีไม่พ้นคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) เพราะการส่งเสริมอำนาจและสินค้าทางวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ด้วยความมุ่งหวังที่จะทำให้วัฒนธรรมไทยเป็นที่รู้จัก และเป็นเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ทั้งด้านการค้าและการท่องเที่ยว
แม้คอนเซปที่คนส่วนใหญ่ในประเทศรู้จัก การดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนทรัพยากรวัฒนธรรมของไทยก็ยังเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะคนก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่า ซอฟต์พาวเวอร์แท้จริงแล้วคืออะไร อะไรบ้างที่ถือว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ และควรจะต่อยอดอย่างไร ที่จะไม่เป็นการ ‘ขายตรง’ เกินไปแบบไม่มีชั้นเชิง
จากการสำรวจความเห็นของประชาชนที่มีต่อซอฟต์พาวเวอร์ โดย The Attraction ระหว่างวันที่ 21-27 พฤศจิกายน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ถึง 70% มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์และมองว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ไม่เข้าใจนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ว่าคืออะไร และดำเนินการอย่างไร
ข้อมูลในเว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทย นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ มีจุดประสงค์ เพื่อ “ส่งเสริมผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ไทยไปทั่วโลกโดยเริ่มต้นจากการ “พัฒนาคน” โดยจะให้ทุกครอบครัวไทยส่งสมาชิกอย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน เพื่อนำมาส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ ผ่าน “ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์” ที่จะมีในทุกระดับตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับประเทศ
โดยศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์นี้ ทุกคนจะสามารถเข้ามาเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะสร้างสรรค์ของตัวเองในทุกด้าน ไม่ว่าทักษะด้านการทำอาหาร ร้องเพลง ออกแบบ ศิลปะ กีฬา และอื่นๆ แบบ “ไม่เสียค่าใช้จ่าย”
โดยมี “THACCA” (Thailand Creative Content Agency) ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและงบประมาณที่เพียงพอทำหน้าที่สร้างระบบนิเวศทั้งหมดเพื่อสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด
อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ก็ยังมีปัญหาและได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในปัจจุบัน เพราะนอกจากการสร้างศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ในทุกหมู่บ้านจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลแล้ว การส่งเสริมให้ทุกครอบครัวในประเทศไทยมีศักยภาพด้านการสร้างสรรค์นั้น ยังเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลและทำได้ยาก เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัวจะมีผู้ที่ต้องการทำงานในอุตสาหกรรมนี้
ดังนั้น เมื่อถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ในไทย คนส่วนใหญ่ (61.4%) จึงมองว่า “นโยบายของรัฐ” เป็นอุปสรรคสำคัญ รองลงมาเป็น “ความเข้าใจที่ถูกต้อง” (55.7%) และ “งบประมาณ” (46.2%) สะท้อนว่า ประชาชนยังไม่เชื่อมั่นในนโยบายของรัฐบาลว่าจะสามารถทำได้จริง และเป็นวิธีสร้างเสริมซอฟต์พาวเวอร์ที่ดีสำหรับประเทศ
ทั้งนี้ แม้นโยบายในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยจะยังไม่แข็งแรง ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ก็ถือว่า มีการเติบโตและเป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลกในระดับหนึ่งแล้ว แม้ไร้การสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งจากวัฒนธรรมอาหาร เช่น กระแสข้าวเหนียวมะม่วงหลังนักร้องสาว Milli นำขึ้นไปรับประทานบนเวที Coachella และกระแสลูกชิ้นยืนกินของนักร้องสาว ‘ลิซ่า’ จากวง Blackpink และศิลปะป้องกันตัวของไทยที่โด่งดังเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว
ผลสำรวจของ The Attraction บุคคลที่ชาวไทยยกให้มีอิทธิพลในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยมากที่สุดก็คือ “ลิซ่า” วง Blackpink (63.3%) รองลงมาเป็น “บัวขาว บัญชาเมฆ” (36.2%) และ “โทนี่ จา” (32.4%)
ขณะที่ สิ่งที่ประชาชนคิดถึงเมื่อคิดถึงซอฟต์พาวเวอร์ของไทยมากที่สุดก็คือ “ข้าวเหนียวมะม่วง” (61.4%) รองลงมาเป็น “ต้มยำกุ้ง” (54.8%) และ “มวยไทย” (52.9%)
ส่วนทางด้านแบรนด์ที่คนไทยคิดว่ามีบทบาทในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยมากที่สุด ชาวเน็ตยกให้ “King Power” (44%) “สิงห์” (40.2%) และ “ช้าง” (36.4%)
จากผลสำรวจดังกล่าว จะเห็นได้ว่าบุคคล สิ่งของ วัฒนธรรม และแบรนด์ ที่มีอิทธิพลในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยล้วน แต่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากความสนใจและความคิดสร้างสรรค์ของผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมครีเอทีฟ ซึ่งทำให้การส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ ผู้ที่รับวัฒนธรรมเหล่านั้น ก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกยัดเยียดเพราะเป็นสิ่งที่ได้มาเองตามความสนใจของตัวเอง
การเผยแพร่วัฒนธรรมในลักษณะนี้สอดคล้องกับกลไกการทำงานของซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่ได้สร้างขึ้นมาด้วยการใช้กำลังหรือว่าอำนาจทางเศรษฐกิจบังคับ แต่ด้วย “การดึงดูด” (attraction) ด้วยสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจเป็นวัฒนธรรม ค่านิยม หรือแนวคิดต่างๆ ให้คนมานิยมชมชอบ และทำสิ่งที่เราต้องการด้วยความสมัครใจ
ดังนั้น การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์จึงต้องกระทำอย่างแยบยล ไม่ให้ผู้รับสารรู้สึกว่าเรากำลังยัดเยียดสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เขาชอบ และหน้าที่ของรัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้อาจไม่ใช่ด้วยการ ‘นำ’ แต่เป็นการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดการสร้างสรรค์ ทั้งด้วยการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การส่งเสริมให้ผู้ที่ทำงานสร้างสรรค์ได้นำเสนอไอเดียหรือทำงานที่ต้องการอย่างอิสระโดยไม่ถูกปิดกั้น
และเมื่อประชาชนเห็นว่า ตัวเองสามารถมีอนาคตหรือสร้างอาชีพที่ดีและยั่งยืนในอุตสาหกรรมนี้ได้ ประชาชนย่อมสนใจทำงานด้านนี้เองโดยไม่ต้องมีหน่วยงานใดไปบอก หรือมีการสร้างศูนย์บ่มเพาะทักษะ เพราะในปัจจุบันประชาชนมีที่ทางในการสร้างเสริมทักษะด้านนี้อยู่แล้ว ทั้งในการศึกษาอย่างเป็นทางการในสถานศึกษาต่างๆ หรือผ่านการฝึกฝนด้วยตัวเอง