Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
รู้จัก 3 ไอเทม Soft Power ตะลุยปารีสของ ‘เศรษฐา’ ‘ผ้าขาวม้า-ครามสกล-จักสานกระจูด’
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

รู้จัก 3 ไอเทม Soft Power ตะลุยปารีสของ ‘เศรษฐา’ ‘ผ้าขาวม้า-ครามสกล-จักสานกระจูด’

12 มี.ค. 67
17:44 น.
|
1.3K
แชร์

ในช่วงหลายวันมานี้ Soft Power กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลัง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร นำสินค้าพื้นบ้านไทยหลายอย่าง ไปอวดโฉมชาวโลกในกรุงปารีส เมืองแห่งแฟชั่น โดยหวังจะผลักดันให้สินค้าแฟชั่นไทยเป็นที่รู้จัก และมีคุณค่าเทียบเท่ากับสินค้าไฮเอนด์จากต่างประเทศ

โดยในหมู่สินค้าที่นายกฯ นำไปโชว์ ที่เป็นที่พูดถึงที่สุดก็คงหนีไม่พ้นผ้าพันคอ ‘ผ้าขาวม้า’ จากทั้งอุดรธานี กาฬสินธุ์ และนครพนม สีสันสดใสที่นายกฯ เลือกมาใช้ป้องกันอากาศหนาวในแต่ละวัน เสื้อโค้ท ‘ผ้าคราม’ จากจังหวัดสกลของอุ๊งอิ๊ง และกระเป๋า ‘เครื่องสานกระจูด’ ที่นายกฯ ถือเดินโชว์ในกรุงปารีส 

ทั้งนี้ แม้สินค้าเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสินค้าภูมิปัญญาจากชาวไทย ที่มีทั้งความสวยงาม และมีความเป็นมาอย่างน้อยหลายร้อยปี คนไทยหลายๆ คนก็อาจจะยังไม่รู้จัก เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่เคยได้รับการสนับสนุน หรือมีพื้นที่ในสื่อเท่าที่ควร

ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จัก 3 ไอเทม Soft Power ของนายกฯ เศรษฐากันว่ามีความเป็นมาอย่างไร มีความพิเศษอย่างไร และอาจจะเติบโตไปเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่สำคัญของไทยได้อย่างไรบ้าง

 

‘ผ้าขาวม้า’ ผ้าสามัญประจำบ้านคนไทย ความเป็นมากว่า 1,000 ปี

ผ้าขาวม้าเป็นผ้าทอพื้นบ้านที่พบได้ในเกือบทุกภูมิภาคของไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ภาคกลาง และภาคใต้ โดยแต่ละในภูมิภาคจะมีชื่อเรียก วัสดุที่ใช้ทำ และลายที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไป ทำให้ถือได้ว่าผ้าขาวม้าเป็นสินค้าทางภูมิปัญญาที่คนไทยในหลายพื้นที่มีร่วมกัน จนกลายเป็นสินค้าที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้นำเสนอต่อองค์การยูเนสโก เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

จากหลักฐานข้อมูล ผ้าขาวม้าเป็นของใช้ที่ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับมาจากที่อื่น โดยนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า คำว่า ‘ขาวม้า’ เป็นคำจากภาษาเปอร์เซีย ที่มีคำเต็มๆ ว่า “กามาร์บันด์” (Kamar Bund) แบ่งเป็น ‘กามาร์’ ที่แปลว่า เอว หรือท่อนล่างของร่างกาย และ ‘บันด์’ ที่แปลว่า พัน รัด หรือคาด รวมกันเป็น ‘เข็มขัด หรือผ้าคาดเอว’

ยังมีการสันนิษฐานว่า คำนี้อาจแผลงมาจาก “ผ้ากรรมา” ของกัมพูชา ซึ่งเป็นผ้าที่ชาวกัมพูชามอบให้ผู้ใหญ่เพื่อขอขมา ซึ่งไทยเราก็มีการนำผ้าขาวม้า ไปไหว้ผู้ใหญ่ในประเพณีรดน้ำดำหัว รวมถึงใช้เป็นผ้าไหว้ในพิธีแต่งงานและขอขมาในโอกาสต่างๆ เช่นกัน

messageimage_1710240688597

ในช่วงศตวรรษที่ 16  (ปี พ.ศ. 1501 - 1600) หรือในสมัยเชียงแสน ชาวไทยรับวัฒนธรรมการใช้ผ้าขาวม้ามาจากชาวไทยใหญ่ที่นิยมนำผ้าขาวม้าโพกศีรษะ แต่เมื่อเข้ามาอยู่กับคนไทย ผ้านี้ก็กลายเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ ทั้งผ้าพาดบ่า ผ้าคาดเอว ผ้าห่อของ หรือว่าผ้าไว้ปูรองนั่งหรือนอน ใช้อาบน้ำ หรือเช็ดร่างกาย เป็นต้น

จากนั้นมา ผ้าขาวม้าก็กลายมาเป็นของใช้พื้นบ้านของชาวไทย และทำให้เกิดการสร้างสรรค์ลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ไปใยแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะวัสดุมีทั้งที่ทอจากฝ้ายย้อมสีหลายๆ สี หรือมีสีเดียว บางผืนอาจทอจากเส้นด้ายย้อมสีธรรมชาติ ด้ายไหม หรือใยสังเคราะห์ โดยมากทอเป็นลายตารางเล็ก

นอกจากนี้ ผ้าขาวม้ายังมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยคน ‘ภาคอีสาน’ จะเรียกผ้าขาวม้าว่า ผ้าแพ หรือผ้าแพอีโป้ ที่มักทำจากไหมและฝ้าย ทอเป็นลายตาราง ขณะที่ ‘ภาคเหนือ’ จะเรียกผ้าขาวม้าว่า ผ้าหัว ผ้าตะโก้งหรือตาโก้ง หมายถึง ผ้าลายตาราง ผ้าเตี่ยว ที่มักทำจากฝ้าย และมีลาย ‘จก’ ซึ่งเป็นลายสัตว์หรือสถานที่ต่างๆ ที่ชาวเหนือนิยมทอไว้ในเครื่องแต่งกาย

สำหรับผ้าขาวม้าที่นายกฯ เศรษฐา เลือกใช้เป็นผ้าพันคอที่กรุงปารีส คือ ผ้าขาวม้าจากภาคอีสาน คือ ผ้าขาวม้าจากจังหวัด ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุดรธานี และนครพนม ที่มีลวดลายต่างกันไปทั้งลายตาราง ลายสก็อต รวมไปถึง ผ้า ‘ลายไส้ปลาไหล’ ผ้าแพรลิ้นแลน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ผ้าขัดด้าม ผ้าขาวด้าม หรือผ้าด้าม ซึ่งมีลักษณะคล้ายผ้าลายทาง 

79304641_2534708596583197_621

 

ผ้าย้อมคราม ของเก่าแก่ชาวสกล ความเป็นมาหลายร้อยปี

นอกจากผ้าข้าวม้า อีกผ้าที่ได้เป็นดาวเด่นในกรุงปารีส ก็คือ ผ้าย้อมสีคราม (indigo) หรือสีน้ำเงินเข้มจากจังหวัดสกลนคร ที่อุ๊งอิ๊ง หัวหอกดำเนินการด้าน Soft Power ของพรรคเพื่อไทยเลือกนำมาตัดเป็นเสื้อโค้ท คู่กับนายกฯ ที่ใส่ผ้าขาวม้าจากกาฬสินธุ์

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สีคราม เป็นสีธรรมชาติที่เก่าแก่และอยู่บนโลกมายาวนานกว่า 6,000 ปีแล้ว แต่ในประเทศไทย พบว่า มีการใช้ผ้าย้อมสีครามเป็นครั้งแรกในสมัยสุโขทัย ในศิลาจารึกวัดช้างล้อม ที่มีการบรรยายพระธาตุว่ามีสีสดใสแวววาวเหมือนผ้าย้อมสีคราม และพบว่าการย้อมผ้าด้วยสีครามเป็นวัฒนธรรมร่วมของผู้คนและชนกลุ่มน้อยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้คนในพื้นที่ดังกล่าวมีวัฒนธรรมนิยมใส่เสื้อผ้าสีดำและสีน้ำเงินร่วมกัน

ในฐานะจังหวัดในภาคอีสาน สกลนครก็ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการทำผ้าย้อมสีคราม เพราะเป็นพื้นที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เหมาะกับการปลูกต้นคราม คือ เป็นที่ราบสูง ล้อมรอบด้วยภูเขาและป่าไม้มีแดดจัด น้ำฝนไหลลงสู่ลุ่มน้ำสงคราม ไม่ท่วมขัง จึงเหมาะกับต้นครามที่ชอบแดดจัด และชอบที่พื้นที่ที่มีน้ำสม่ำเสมอ แต่ไม่ท่วมขัง 

นอกจากนี้ สกลนครยังมีภูมิอากาศที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการแช่ใบครามและหมักน้ำย้อม ทำให้เกิดสีผสมของสีเหลืองอมเขียว ส่งผลต่อการย้อมของเส้นใยที่ทำให้สีไม่ตก และทำให้น้ำครามมีคุณภาพดี มีสีสันสดใส

5b433775-4353-019c-fe4a-58f89

ความเหมาะสมด้านภูมิศาสตร์นี้หล่อหลอมให้สกลนครเกิดภูมิปัญญาการเตรียมน้ำย้อมและดูแลหม้อครามขึ้นมาเป็นเอกลักษณ์ของคนในท้องถิ่น โดยพบว่ากรรมวิธีในการเตรียมสีและย้อมผ้าครามนี้อยู่ในวิถีชีวิตของบรรพบุรุษชาวสกลนครมาหลายร้อยปี ซึ่งประกอบขึ้นด้วยคนจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ลาวอีสาน ภูไท ไทญ้อ กะเลิง โส้ โย้ย

ในปัจจุบัน ขอบเขตพื้นที่การผลิตผ้าครามธรรมชาติของสกลนครครอบคลุมพื้นที่ในเขต 18 อำเภอของสกลนคร และมักทำจากเส้นฝ้ายเข็นมือฝ้ายมัดหมี่ และเส้นฝ้ายแท้ 100% ที่มีคุณสมบัติระบายน้ำและซับน้ำได้ดี นำไปย้อมกับน้ำย้อมใบคราม โดยอาจย้อมเส้นฝ้ายเป็นสีแล้วค่อยไปทอเป็นลวดลายต่างๆ หรือทอก่อนแล้วย้อมผ้าทั้งผืนก็ได้

470245

 

จักสานกระจูด ของดีชาวใต้จากป่าพรุ 

“จักสานกระจูด” ถือเป็นสินค้าจากภูมิปัญญาของชาวใต้ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ใกล้กับป่าพรุ ที่มีต้นกระจูดอยู่มาก เช่น ชุมชนบ้านทอน ตำบลโคกเคียน จังหวัดนราธิวาส, หมู่บ้านทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง และ ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่พบต้นกระจูดอยู่มากที่สุด

โดยจากข้อมูลของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ "กระจูด” เป็นพืชตระกูลเดียวกับ "กก” (Sedge) คือ ในตระกูล Cyperaccae มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Lepironia artica late เป็นวัชพืชที่เจริญเติบโตง่าย และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว 

ชาวบ้านนิยมใช้กระจูดมาผลิตเป็นเครื่องจักสาน เพราะกระจูดเป็นพืชที่มีความเหนียว ยืดหยุ่นได้ดี อีกทั้ง ยังมีความมันวาวทนทาน และ ระบายความร้อนได้ดี ทำให้เมื่อนำมาสานเป็นข้าวของเครื่องใช้แล้ว สิ่งนั้นจะมีอายุการใช้งานที่ยาว และเป็นงานหัตถกรรมที่มีคุณค่าทั้งด้านประโยชน์ใช้สอยและความสวยงาม ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้

ทั้งนี้ ชาวบ้านในภาคใต้ยังมีวิธีการรักษาคุณค่าเส้นกระจูดให้ไม่เปราะไม่หักง่ายเมื่อนำไปใช้งานที่เป็นเอกลักษณ์ของคนในพื้นที่ ซึ่งทำได้ด้วยการนำต้นกระจูดที่ต้ดมาเป็นต้นสดนั้นคลุกกับโคลนขาวเพื่อทำให้มีความนิ่ม มีความคงทนกว่าวัสดุทั่วไป

b_3190417_153431

เล่ากันว่า ภูมิปัญญาในการจักสานนี้สืบทอดมาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย นับ 100 ปีมาแล้ว แต่ภูมิปัญญาในการจักสานด้วยกระจูดที่เท่าสามารถบันทึกเป็นหลักฐานได้เริ่มจากครอบครัว 3 พี่น้อง สกุล รักษ์จุล ซึ่งอพยพมาจากบ้านผาสุกตำบลแหลมตีน อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช มาตั้งรกรากในพื้นที่ตำบลทะเลน้อย พร้อมทั้งนำภูมิปัญญา ในการจักสานด้วยกระจูดทำเป็นของใช้ในครัวเรือนมาด้วย 

และเนื่องจากของใช้ที่ทำด้วยกระจูดมีความนุ่มและสวยงามกว่าของที่ทำจากกก ชาวบ้านในตำบลจึงหันมาจักสานกระจูดบ้างซึ่งมักจักสานเป็นเสื่อสำรับปู นั่ง นอน และสอบหนาดใช้เป็นภาชนะใส่ถ่านและใช้สำหรับทารกแรกเกิดนอน และเป็นกระสอบเพื่อใช้สำหรับใส่ข้าวสารและข้าวเปลือก

ในปัจจุบัน การสานกระจูดมีการพัฒนาทั้งในด้าน ลวดลายและสีสัน ตลอดจนการสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น อาทิ กระเป๋าสะพาย ที่ใส่โน๊ตบุ๊คหรือ ไอแพด กระเป๋าถือ รองเท้าแตะ หรือของตกแต่งบ้าน อาทิ ที่รองจาน รองแก้ว ปลอกคลุมเก้าอี้ และมีการนำเส้นกระจูดไปย้อมสีเพื่อให้เมื่อนำมาสานจะเกิดลวดลายที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น 

บางพื้นที่ใช้ข้อดีของเส้นกระจูดที่เป็นธรรมชาติ นำเสนอเป็นจุดเด่นในการทำสินค้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสานธรรมชาติ ที่ปราศจากการเคลือบแล็กเกอร์ หรือการย้อมสีเคมี ทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการของชาวต่างประเทศที่ใส่ใจในวิถีธรรมชาติของงานเครื่องสาน โดยเฉพาะในแถบประเทศญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันกระแสความเป็นสินค้าที่ทำจากธรรมชาติกำลังได้รับความนิยม 

20181219eaa38555e80d477179d98

 

ที่มา: กรมทรัพย์สินทางปัญญาศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (1)ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (2)











แชร์
รู้จัก 3 ไอเทม Soft Power ตะลุยปารีสของ ‘เศรษฐา’ ‘ผ้าขาวม้า-ครามสกล-จักสานกระจูด’