Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิด 10 เส้นทางบินที่เสี่ยงเจอหลุมอากาศรุนแรงมากที่สุด หลุมอากาศคืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

เปิด 10 เส้นทางบินที่เสี่ยงเจอหลุมอากาศรุนแรงมากที่สุด หลุมอากาศคืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?

23 พ.ค. 67
15:59 น.
|
2.4K
แชร์

ในวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา เกิดเหตุระทึกขวัญขึ้นบนเที่ยวบิน SQ 321 เส้นทางลอนดอน-สิงคโปร์ ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เมื่อเครื่องบินของเที่ยวบินดังกล่าวเจออากาศปั่นป่วนระดับรุนแรง ที่ทำให้ตัวเครื่องบินเคลื่อนขึ้นและตก ‘หลุมอากาศ’ เป็นระยะทางหลายสิบเมตรในเวลาเพียง 3-4 วินาที

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า การลดความสูงอย่างรวดเร็วนี้เกิดขึ้นในบริเวณอ่าวอิรวดี ประเทศพม่า ขณะที่พนักงานต้อนรับกำลังให้บริการอาหารแก่ผู้โดยสาร ทำให้ผู้โดยสาร และเจ้าหน้าที่ไม่ได้คาดเข็มขัด รวมไปถึงสิ่งของต่างๆ ลอยขึ้นไปกระแทกเพดาน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และผู้บาดเจ็บ 30 คน

แม้การตกหลุมอากาศ หรือการที่เครื่องบินส่ายจากสภาพอากาศจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยจนหลายๆ คนชิน และมองว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เหตุการณ์ก็สะท้อนให้เห็นว่า กฎความปลอดภัยทุกอย่างบนเครื่องบินที่มีที่มา และควรถูกปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะอากาศเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คาดเดาได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โลกกำลังประสบปัญหาภาวะโลกร้อน และสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง

ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปทำความเข้าใจกันว่า หลุมอากาศ คือ อะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร? เส้นทางบินใดมีโอกาสเจอสภาพอากาศปั่นป่วน และหลุมอากาศรุนแรงมากที่สุด และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

หลุมอากาศ คือ อะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร? 

ก่อนไปอธิบายว่าหลุมอากาศ คือ อะไร ต้องอธิบายหลักการการบินง่ายๆ ก่อนว่า อากาศยานทุกลำนั้น ต้องอาศัยกระแสลมให้คงระดับอยู่บนอากาศได้ โดยเฉพาะกระแสลมกรด (jet stream) ซึ่งเป็นกระแสลมหลักในการบินที่พัดจากด้านตะวันตกไปตะวันออก ลมต้าน (headwind) ลมส่ง (tailwind) ลมใต้เครื่อง และลมบนเครื่อง ทำให้หากอากาศแจ่มใส ไม่มีปัจจัยใดเข้ามาทำให้กระแสลมเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เครื่องบินก็จะสามารถเคลื่อนที่ในอากาศได้อย่างสม่ำเสมอและราบรื่น

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง แม้นักบินและทีมงานจะคาดการณ์สภาพอากาศและวางแผนการบินล่วงหน้ามาแล้ว แต่ในสถานการณ์จริง นักบินก็อาจจะต้องเจอสภาพอากาศแปรปรวนอย่างกะทันหัน โดยเฉพาะ ‘การเปลี่ยนแปลงของความเร็วและทิศทางของกระแสลม’ หรือ วินด์เชียร์ (windshear) ซึ่งเป็นสาเหตุโดยตรงของการเกิด ‘หลุมอากาศ’ 

ยกตัวอย่างเช่น หากกระแสลมต้านหน้าเครื่องบินเกิดลดความเร็วลงอย่างกะทันหัน หรือลมส่งท้ายเครื่องเพิ่มความเร็วขึ้น เครื่องบินที่ลอยตัวอยู่ได้ด้วยแรงพยุงนั้นก็จะตกลงมาอย่างรวดเร็ว จนทำให้ผู้โดยสารรู้สึกว่าเครื่องบินตกลงไปในหลุมทั้งที่ไม่ได้มีหลุมจริงๆ เกิดขึ้น และในทางกลับกันหากแรงต้านทวีความรุนแรงขึ้นอย่างกะทันหันเครื่องบินก็อาจถูกเหวี่ยงให้เคลื่อนที่ขึ้นไปข้างบนอย่างรวดเร็วได้

จากข้อมูลของศูนย์อุตุนิยมวิทยา วินด์เชียร์เกิดขึ้นได้ในหลายสภาพอากาศและสภาพภูมิประเทศ เช่น

  1. สภาพอากาศพายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorm) ที่เกิดจากเมฆที่ก่อตัวขึ้นในแนวดิ่งขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสภาพอากาศรุนแรง เช่น ลมกระโชก ฟ้าแลบและฟ้าผ่า ฝนตกหนัก
  2. สภาพอากาศเมื่อร่องอากาศที่อุณหภูมิต่างกันมากกว่า 5 องศาเซลเซียส (ร้อนและเย็น) มาเจอกัน เช่น การที่อากาศร้อนลอยจากพื้นผิวขึ้นมาเจออากาศเย็นที่ลอยตัวลงต่ำ ทำให้เกิดกระแสลมปั่นป่วน
  3. บริเวณภูเขา เพราะเมื่อลมพัดผ่านยอดเขา ความเร็วของลมด้านปลายลม คือิด้านที่ผ่านยอดเขามาจะมีความเร็วของลมที่ต่างกัน ทำให้เกิดกระแสลมปั่นป่วนม้วนตัว (turbulence)
  4. downbursts คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากลมฝนที่ตกเทลงมายังพื้น ทำให้เกิดกระแสลมที่มุ่งลงพื้นดินแล้วหักออกพุ่งออกนอก

ทั้งนี้ แม้ในบางสถานการณ์และบางสถานที่ นักบินจะพอคาดการณ์และวางแผนรับมือกับวินด์เชียร์ได้ ในบางครั้งวินเชียร์ก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลันโดยแทบไม่มีสัญญานเตือนมาก่อน เช่น การเกิดวินด์เชียร์และความปั่นป่วนในสภาพอากาศแจ่มใส (Clear Air Turbulence: CAT) ซึ่งเป็นสิ่งที่เที่ยวบิน SQ 321 ประสบมาในวันที่ 21 พ.ค. เกิดจากการที่กระแสลมที่มีอุณหภูมิ ความเร็ว และความแรงแตกต่างกันมากระทบกันจนทำให้เกิดกระแสลมปั่นป่วน 

10 เส้นทางบินที่มีโอกาสเจอหลุมอากาศที่รุนแรงมากที่สุด

จากสาเหตุการเกิดหลุมอากาศและความปั่นป่วนในเครื่องบินดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญจึงสามารถทำนายและคาดการณ์ความรุนแรงของการเกิดหลุมอากาศในแต่ละเส้นทางบินได้ตามสภาพอากาศและสภาพภูมิประเทศที่เครื่องบินต้องเคลื่อนที่ผ่าน และเส้นทางบินที่มีโอกาสเกิดหลุมอากาศที่รุนแรงมากที่สุด ก็คือ เส้นทางที่ต้องผ่านแนวภูเขาเป็นจำนวนมาก

โดยจากข้อมูลของ Turbli เว็บไซต์รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความปั่นป่วน (turbulance) ในการบินจากสวีเดน ในปี 2023 สิบเส้นทางบินที่มีผู้โดยสารมีสิทธิเจอความปั่นป่วนจากสภาพอากาศที่รุนแรงที่สุด หากวัดจากค่าเฉลี่ย EDR หรือ eddy dissipation rate คือ

  1. เส้นทางซันติอาโก-ซานตาครูซ ระยะทาง 1,905 กิโลเมตร ค่า EDR เฉลี่ย 17.57
  2. เส้นทางอัลเมตี-บิชเคก ระยะทาง 210 กิโลเมตร ค่า EDR เฉลี่ย 17.46
  3. เส้นทางหลานโจว-เฉิงตู ระยะทาง 661 กิโลเมตร ค่า EDR เฉลี่ย 16.75
  4. เส้นทางเซ็นแทรร์-เซนได ระยะทาง 517 กิโลเมตร ค่า EDR เฉลี่ย 16.58
  5. เส้นทางมิลาน-เจนีวา ระยะทาง 214 กิโลเมตร ค่า EDR เฉลี่ย 16.40
  6. เส้นทางหลานโจว-เสียนหยาง ระยะทาง 519 กิโลเมตร ค่า EDR เฉลี่ย 16.34
  7. เส้นทางโอซากา-เซนได ระยะทาง 655 กิโลเมตร ค่า EDR เฉลี่ย 16.31
  8. เส้นทางเสียนหยาง-เฉิงตู ระยะทาง 624 กิโลเมตร ค่า EDR เฉลี่ย 16.25
  9. เส้นทางเสียนหยาง-ฉงฉิ่ง ระยะทาง 561 กิโลเมตร ค่า EDR เฉลี่ย 16.04
  10. เส้นทางมิลาน-ซูริก ระยะทาง 203 กิโลเมตร ค่า EDR เฉลี่ย 16.02

 

ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดหลุมอากาศในสภาพอากาศแจ่มใสมากขึ้น

ทั้งนี้ รายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง (Reading University) เกี่ยวกับปรากฎการณ์ความปั่นป่วนในสภาพอากาศแจ่มใส (Clear Air Turbulence: CAT) พบว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เที่ยวบินเสี่ยงเจอภาวะ CAT มากขึ้น ซึ่งอันตรายเพราะเป็นสภาพความปั่นป่วนที่สามารถทำนายและคาดการณ์ได้ยาก

นักวิจัยในการศึกษาดังกล่าวพบว่า ในช่วงปี 1979-2020 ภาวะความปั่นป่วนรุนแรงเกิดถี่ขึ้นถึง 55% ในเส้นทางบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เพราะภาวะโลกร้อนทำให้พื้นผิวร้อนขึ้น ทำให้มวลอากาศอุ่นจากพื้นดินลอยขึ้นไปกระทบกับอากาศเย็นด้านบนมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดวินด์เชียร์ และกระแสลมปั่นป่วน

ดังนั้น หากภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น สายการบินต่างๆ ก็จะต้องเตรียมรับมือกับ CAT มากขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายและอุปสรรคอย่างมากต่อทั้งผู้โดยสารและผู้ให้บริการ เพราะทำให้นักบินไม่สามารถเตือนลูกเรือได้ทันเวลาว่าจะเกิดความปั่นป่วนหรือหลุมอากาศขึ้น 

นักวิจัย ชี้ว่า ในอนาคต วิศวกรและสายการบินต่างๆ อาจต้องคิดค้นหาอุปกรณ์หรือระบบที่สามารถจับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ล่วงหน้า หรือเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยอื่นๆ ในเครื่องบิน เพราะคงไม่สามารถงดการให้บริการอาหารและอื่นๆ หรือให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนั่งอยู่กับที่ตลอดเวลาได้

นอกจากนี้ การที่ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดความปั่นป่วนในเที่ยวบินเพิ่มขึ้นนี้ยังจะทำให้อุตสาหกรรมการบินประสบความเสียหายด้านการเงิน โดยอุตสาหกรรมการบินสหรัฐฯ อาจต้องเสียรายได้ถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซ่อมแซมเครื่องบินที่เกิดความเสียหายในภาวะปั่นป่วนแต่ละครั้ง หรือค่าน้ำมันจากการที่นักบินต้องบินอ้อมบินเลี่ยงพื้นที่ที่เสี่ยงต่อความปั่นป่วน ซึ่งจะทำให้ภาวะโลกร้อนยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก

 

ผู้โดยสารควรเตรียมรับมือกับความปั่นป่วนและหลุมอากาศระหว่างบินอย่างไร?

หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น หลายๆ คนอาจจะรู้สึกกลัวการบิน และรู้สึกว่าการบินนั้นอันตราย อย่างไรก็ตาม ความเสียหายรุนแรงหรือการเสียชีวิตจากความปั่นป่วนและหลุมอากาศนั้นเกิดขึ้นได้ไม่บ่อย เพราะส่วนมากนักบินจะสามารถตรวจจับความแปรปรวนได้ และส่งสัญญาณเตือนลูกเรือได้ทันเวลา

โดยจากรายงานของ The Guardian พบว่า ครั้งล่าสุดที่มีผู้เสียชีวิตจากความปั่นป่วนในเที่ยวบิน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์เที่ยวบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ขึ้น คือ ในปี 1997 ในเที่ยวบินจากโตเกียวไปโฮโนลูลู ของสายการบิน United Airlines

ดังนั้น ผู้ที่ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินบ่อยๆ ควรป้องกันการบาดเจ็บจากความปั่นป่วนระหว่างเดินทางด้วยการทำตามกฎอย่างเคร่งครัด และคาดเข็มขัดไว้เสมอเมื่อนั่งในที่นั่ง แม้ไม่เห็นสัญญาณเตือนจากนักบิน เพราะเครื่องบินสามารถเจอความปั่นป่วนเฉียบพลันได้ตลอดเวลา

 

 

อ้างอิง: Turbli, The Guardian, Reuters, Pilot Mall, BBC

 

แชร์

เปิด 10 เส้นทางบินที่เสี่ยงเจอหลุมอากาศรุนแรงมากที่สุด หลุมอากาศคืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?