จบไปแล้วในวันนี้ สำหรับการดีเบตระหว่าง ‘โจ ไบเดน’ (Joe Biden) และ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) ผู้ลงสมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่โคจรมาเจอกันอีกครั้งหลังท้าชนกันมาแล้ว 1 ครั้งในการเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดในปี 2020 ที่ นาย โจ ไบเดนเป็นฝั่งได้ชัยชนะไป
เวทีดีเบตในครั้งนี้เป็นที่จับตามอง เพราะเป็นการโต้วาทีประชันกันครั้งแรกของ 2 ผู้สมัครในศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2024 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่นอกจากจะเป็นเวทีให้ทั้ง 2 ผู้สมัครโชว์สมรรถภาพความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจแล้ว ยังเป็นการเผยวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจครั้งแรกของทั้งคู่ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในอนาคต เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปดูกันว่า ภายใต้คำวิจารณ์และเหน็บแนมเผ็ดร้อนที่ทั้งคู่ใช้โจมตีกันนั้น แฝงวิสัยทัศน์ในการดำเนินเศรษฐกิจในประเด็นใดไว้บ้าง
นโยบายด้านภาษี และสงครามการค้า
ปัจจุบัน ประเด็นการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (decoupling) และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ถือเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของหลายๆ เศรษฐกิจทั่วโลก เพราะอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการค้า ภาษี และซัพพลายเชน เนื่องจากชาติที่เป็นพันธมิตรมักจะทำธุรกิจร่วมกัน ขณะที่ย้ายการผลิตกระจายความเสี่ยงจากประเทศฝั่งตรงข้ามไปยังประเทศอื่นที่เป็นกลางมากกว่า
ดังนั้น ท่าทีและวิสัยทัศน์ของไบเดนและทรัมป์ที่มีต่อจีนจึงมีผลอย่างมากต่อนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในอนาคต โดยแม้ไบเดนเองจะมีการออกมาตรการด้านภาษีออกมากีดกันสินค้าของจีน เช่น การขึ้นภาษีนำเข้าอีวีจีน หรือการแบนไม่ส่งออกชิประดับสูงไปยังจีน ทรัมป์มีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อจีนมากกว่ามาก เพราะขณะที่ไบเดนเน้นกีดกันจีนในบางอุตสาหกรรม ทรัมป์มองว่าสหรัฐฯ จะต้องกีดกันสินค้าจากจีนทั้งหมด ไม่ใช่แค่ในหมวดเทคโนโลยี
โดยในการดีเบตครั้งนี้ เขาได้พูดย้ำถึงความตั้งใจที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภท 10% และการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนถึง 60% เพื่อลดการขาดดุลการค้า เพราะเขามองว่าประเทศอื่นนั้น ‘โกง’ สหรัฐฯ และการเพิ่มภาษีก็เป็นมาตรการตอบโต้ที่สมควรแล้ว
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกล่าวว่าไบเดนกำลังปล่อยให้จีน ‘ฆ่า’ คนสหรัฐฯ จากการที่มีเฟนตานิล (fentanyl) สารเสพติดนำเข้าจากจีนเข้ามาในสหรัฐฯ ที่มีฤทธิ์ร้ายแรงและทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และถ้าหากยังไม่ดำเนินการจัดการ อีกไม่นานจีนก็จะเข้ามาควบคุมและเป็นเจ้าของสหรัฐฯ
ในประเด็นนี้ นายไบเดนได้โต้ตอบทรัมป์ว่า นโยบายนี้จะทำให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และทำให้ประชาชนที่ประสบปัญหาเงินเฟ้ออยู่แล้วเดือดร้อน โดยจากการวิเคราะห์ของ Peterson Institute for International Economics นโยบายนี้ของทรัมป์จะทำให้ประชาชนสหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นถึงประมาณ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 62,400 บาท/ ปี
ขณะเดียวกัน นายทรัมป์ก็ได้วิจารณ์นโยบายของไบเดน ที่จะขึ้นภาษีเงินได้ว่าจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งนายไบเดนได้กล่าวโต้ว่าเขาไม่ได้คิดจะเก็บภาษีเพิ่มจากประชากรทั้งประเทศ แต่จะเน้นเก็บภาษีเพิ่มแค่คนที่มีรายได้เกิน 400,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และผู้ที่มีรายได้สูงเท่านั้น
ดังนั้น ขณะที่มาตรการด้านภาษีของทั้งคู่มีทีท่าว่าจะทำให้ประชาชนสหรัฐฯ มีเงินใช้น้อยลง และมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นทั้งคู่ มาตรการภาษีของทรัมป์น่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่ามาก เพราะจะทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ประเทศขนาดกลางต้องปรับตัวตามไปด้วย
นอกจากวิสัยทัศน์แล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมจับตามองจากดีเบตในครั้งนี้ คือสุขภาพ และสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ชิงตำแหน่งทั้ง 2 คน เพราะทั้งคู่ได้รับเสียงวิจารณ์ว่ามีอายุมากเกินไปแล้วทั้งคู่ โดยเฉพาะไบเดนที่ปีนี้มีอายุถึง 81 ปีแล้วในปีนี้ ขณะที่ทรัมป์มีอายุ 78 ปี
อย่างไรก็ตาม หากมีการตัดเกรด performance ของทั้งคู่ในด้านนี้ ทรัมป์เรียกได้ว่าได้คะแนนนำไบเดนไปแบบไม่เห็นฝุ่น เพราะไบเดนมีสุขภาพที่ดูไม่สู้ดีอย่างเห็นได้ชัด เพราะเขาเสียงแหบ และพูดตะกุกตะกักบ่อยครั้งในระหว่างการดีเบต ซึ่งผู้ช่วยของพรรคได้ออกมาอธิบายว่าเป็นอาการจากโรคหวัด
แม้ไบเดนจะยืนยันกับนักข่าวว่าเขาจะยังเดินหน้าสู้ต่อไปในศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ จากสภาพร่างกายและความนิยมในตัวไบเดนที่เริ่มลดลง มีนักวิเคราะห์มองว่าพรรคเดโมแครตอาจจะตัดสินใจเปลี่ยนตัวแคนดิเดตประธานาธิบดีที่ดูหน่วยก้านดีและมีอายุน้อยกว่าลงมาชิงชัยแทน
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนตัวแคนดิเดตในกรณีไบเดนก็เป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะเขาได้คะแนนเสียงถึง 99% จากผู้แทนพรรคให้เป็นแคนดิเดตของพรรคในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ ทำให้ใครก็ตามที่ต้องการชิงตำแหน่งกับไบเดนต้องรวบรวมคะแนนเสียงให้ได้มากกว่านั้นในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก โดยเฉพาะเมื่อคู่ต่อสู้เป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
โดยหากมีการเปลี่ยนตัวจริง ตัวเต็งอันดับหนึ่งก็คือ รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) หรือ เกวิน นิวซัม (Gavin Newsom) ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เจ.บี พริตซเคอร์ (J.B. Pritzker) ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ และ เกรทเช่น วิทเมอร์ (Gretchen Whitmer) ผู้ว่าการรัฐมิชิแกน แต่ไม่มีใครในนี้เลยที่ได้คะแนนเสียงดีกว่าไบเดน