ใครเคยสั่งของออนไลน์แล้วเจอปัญหา สินค้าไม่ตรงปกบ้าง? หรือโดนหลอกขายของปลอม? บอกเลยว่าปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เพราะกฎหมายใหม่มาช่วยปกป้องขาช้อปอย่างเราแล้ว! ไม่ต้องกังวลเรื่องโดนโกงอีกต่อไป เพราะ "มาตรการส่งดี (Dee-Delivery)" จะทำให้การช้อปปิ้งออนไลน์ของคุณปลอดภัยและมั่นใจยิ่งกว่าเดิม! อยากรู้ว่ากฎหมายใหม่นี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง? แล้วจะช่วยให้ชีวิตนักช้อปอย่างเราดีขึ้นยังไงไปดูกัน !
ข่าวดีสำหรับขาช้อป! ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้กฎหมายใหม่ "ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567" เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากปัญหาสินค้าไม่ตรงปก หรือถูกหลอกลวงในการซื้อสินค้าออนไลน์แบบเก็บเงินปลายทาง
"มาตรการส่งดี (Dee-Delivery)" คือหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าต้องแสดงข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อ-สกุล และเบอร์โทรศัพท์ของผู้ส่ง หมายเลขพัสดุ รายละเอียดสินค้า และจำนวนเงินที่ต้องชำระอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการขนส่งต้อง "พักเงิน" ไว้ 5 วันก่อนส่งให้ผู้ขาย เพื่อให้ผู้ซื้อมีเวลาตรวจสอบสินค้าและสามารถขอเงินคืนได้หากพบปัญหา
ไฮไลท์สำคัญอีกอย่างคือ ผู้ซื้อมีสิทธิ์เปิดดูสินค้าก่อนจ่ายเงิน โดยสามารถบันทึกภาพหรือวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน หากสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ ก็สามารถปฏิเสธการรับสินค้าและขอเงินคืนได้ทันที กฎหมายใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้วันที่ 3 ตุลาคม 2567 ซึ่งการมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีเวลาเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
กฎหมาย "มาตรการส่งดี (Dee-Delivery)" ถือเป็นก้าวสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่การซื้อขายออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน การมีกฎหมายที่ชัดเจนและครอบคลุมจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และส่งเสริมให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโต และถึงแม้ว่ากฎหมายนี้จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 แต่ผู้บริโภคควรเริ่มทำความเข้าใจกับสิทธิและหน้าที่ของตนเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้อย่างเต็มที่
สำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้า การปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและรักษาฐานลูกค้าในระยะยาว การให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและการบริการที่ดี จะเป็นกุญแจสำคัญในการแข่งขันในตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ในอนาคต เราอาจจะได้เห็นการพัฒนากฎหมายและมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญคือการที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมการซื้อขายออนไลน์ที่ปลอดภัย โปร่งใส และเป็นธรรมสำหรับทุกคน
ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. ๒๕๖๗
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๕ เบญจ และมาตรา ๓๕ อัฏฐ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกอบกับมาตรา ๓ มาตรา ๔ และมาตรา ๕ แหควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงินและลักษณะของหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ออกประกาศควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน
ข้อ ๑ ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการเป็นต้นไป
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทาง” หมายความว่า การประกอบกิจการบริการขนส่งสินค้าโดยผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้นำสินค้าจากผู้ส่งสินค้าไปส่งให้กับผู้บริโภค โดยเมื่อนำสินค้าไปส่งให้กับผู้บริโภคแล้วมีการเรียกเก็บเงินปลายทางกับผู้บริโภคโดยผู้บริโภคจะชำระเป็นเงินสดหรือโอนเข้าบัญชีก็ได้
“บริการเก็บเงินปลายทาง” หมายความว่า บริการขนส่งสินค้าตามที่อยู่ผู้รับสินค้าซึ่งเป็นผู้บริโภค โดยให้บริการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากผู้รับสินค้า ก่อนทำการส่งมอบสินค้าและนำส่งเงินค่าสินค้าให้กับผู้ส่งสินค้าตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน
“ผู้ส่งสินค้า” หมายความว่า บุคคลใดที่ขายสินค้าต่อผู้บริโภคและส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยใช้บริการเก็บเงินปลายทางที่ให้บริการโดยผู้ประกอบธุรกิจ
“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่เรียกเก็บเงินปลายทางจากผู้บริโภค
ข้อ ๔ หลักฐานการรับเงินการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางที่ผู้ประกอบธุรกิจออกให้กับผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร โดยมีจำนวนตัวอักษรไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว และต้องใช้ข้อความที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ส่งสินค้า อย่างน้อยให้ระบุ ชื่อและนามสกุลของบุคคลธรรมดาหรือชื่อนิติบุคคล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล
(๒) รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจ อย่างน้อยให้ระบุ ชื่อและนามสกุลของบุคคลธรรมดาหรือชื่อนิติบุคคล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล
(๓) รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการส่งสินค้า
(๓.๑) หมายเลขติดตามพัสดุ
(๓.๒) ข้อมูลสถานที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจเข้ารับพัสดุจากผู้ส่งสินค้า
(๓.๓) ข้อมูลพนักงานผู้นำส่งสินค้าและผู้รับเงินโดยเรียกเก็บปลายทางจากผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้รับสินค้า เช่น ชื่อและนามสกุล หมายเลขโทรศัพท์มือถือ
(๓.๔) ชื่อของผู้มีอำนาจออกหลักฐานการรับเงิน
(๓.๕) ข้อมูลของผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้รับสินค้า ได้แก่ ชื่อและนามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์มือถือ
(๓.๖) ข้อมูลของพัสดุ โดยให้ระบุรายละเอียดของสินค้าที่แสดงให้ทราบว่าเป็นสินค้าอะไร ได้แก่ ชื่อประเภท หรือชนิดของสินค้า ขนาด น้ำหนัก หรือปริมาณ หรือปริมาตร จำนวน สี ราคาสินค้า
(๓.๗) จำนวนเงินที่เรียกเก็บปลายทาง
(๓.๘) วัน เดือน ปี ที่ส่งมอบสินค้า
(๓.๙) กำหนดเวลาการถือเงินค่าสินค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจรับมาจากผู้บริโภคก่อนนำเงินไปส่งให้กับผู้ส่งสินค้า
(๓.๑๐) กำหนดเวลาที่ผู้บริโภคแจ้งขอคืนสินค้าและขอรับเงินคืนจากผู้ประกอบธุรกิจ
(๔) ข้อความที่ผู้บริโภคมีสิทธิที่ปฏิเสธไม่รับสินค้า หรือมีสิทธิได้รับเงินค่าสินค้าคืน
(๔.๑) ในกรณีที่ผู้บริโภคได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าที่สั่งซื้อมีความชำรุดบกพร่อง ให้ผู้ประกอบธุรกิจรับสินค้าคืนจากผู้บริโภคกลับไปยังผู้ส่งสินค้า และคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค
(๔.๒) ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่ได้สั่งซื้อสินค้าแต่มีสินค้าไปส่งแล้วเรียกเก็บเงินปลายทาง หากผู้บริโภคมีการชำระค่าสินค้าแล้ว ถ้าภายหลังผู้บริโภคได้แจ้งทักท้วงว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้า และผู้ประกอบธุรกิจยังถือเงินที่ชำระค่าสินค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจรับสินค้าคืนจากผู้บริโภคและคืนเงินให้กับผู้บริโภคทันที เว้นแต่ผู้ส่งสินค้าจะพิสูจน์ได้ว่าผู้บริโภคเป็นผู้สั่งซื้อ
(๔.๓) ในกรณีที่ผู้บริโภครับและเปิดดูสินค้าให้กระทำต่อหน้าผู้ประกอบธุรกิจ โดยให้บันทึกภาพถ่ายหรือวิดีโอหรือเอกสารหลักฐานอย่างอื่นไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อบุคคลทั้งสองดังกล่าวตรวจสอบสินค้าแล้วพบว่าสินค้านั้นไม่ตรงตามข้อ ๔ (๔.๑) หรือข้อ ๔ (๔.๒) ให้ผู้บริโภคปฏิเสธไม่รับสินค้านั้นได้
กรณีที่ผู้บริโภคไม่อยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบสภาพสินค้าในขณะรับสินค้า เมื่อได้ทำหลักฐานตามวรรคหนึ่งและส่งผลการตรวจสินค้าที่ตนพบว่าไม่ตรงตามข้อ ๔ (๔.๑) หรือข้อ ๔ (๔.๒) ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้รับการโต้แย้งจากผู้ประกอบธุรกิจภายในเวลาตามที่กำหนดในข้อ ๔ (๔.๔) ให้ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธไม่รับสินค้าและได้รับเงินค่าสินค้าคืน
(๔.๔) เมื่อผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้รับเงินที่ชำระค่าสินค้าจากผู้บริโภคแล้วให้ถือเงินไว้ก่อนเป็นเวลาห้าวันนับแต่วันที่ผู้บริโภคได้รับมอบสินค้าและชำระเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ โดยผู้ประกอบธุรกิจจะยังไม่นำเงินไปส่งให้กับผู้ส่งสินค้า และเมื่อพ้นกำหนดห้าวันนับแต่วันที่ได้รับชำระเงินจากผู้บริโภคแล้วปรากฏว่าผู้บริโภคไม่ได้มีการแจ้งขอเงินคืน ดังนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเงินไปส่งให้กับผู้ส่งสินค้า
แต่ถ้าผู้บริโภคแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืนต่อผู้ประกอบธุรกิจภายในกำหนดเวลาห้าวันนั้น ว่าผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ตนไม่ได้สั่งซื้อ หรือสินค้าที่ได้รับไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าที่ตนสั่งซื้อมีความชำรุดบกพร่อง และเมื่อผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบสินค้าที่รับคืนมาจากผู้บริโภคแล้วก็ดี ถ้าปรากฏว่าสินค้านั้นเป็นไปตามเหตุที่ผู้บริโภคแจ้งมาจริง ดังนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคชำระทั้งหมดให้แก่ผู้บริโภคภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภค และส่งมอบสินค้านั้นคืนให้กับผู้ส่งสินค้า ทั้งนี้ หลักเกณฑ์นี้จะไม่นำไปใช้บังคับกับกรณีผู้บริโภคขอเงินคืนด้วยเหตุผลอื่นนอกจากเหตุดังกล่าวนั้น
(๕) ลายมือชื่อของผู้มีอำนาจออกหลักฐานการรับเงินและลายมือชื่อของผู้รับเงิน
ข้อ ๕ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดทำหลักฐานการรับเงินตามข้อ ๔ และส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคในทันทีที่ได้รับชำระค่าสินค้าจากผู้บริโภค หรือกรณีผู้บริโภคประสงค์จะรับหลักฐานการรับเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนด
ข้อ ๖ กรณีการส่งมอบหลักฐานการรับเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต้องจัดให้มีข้อความภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจนตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนด โดยจัดให้มีข้อความตามข้อ ๔ และข้อความต้องไม่มีลักษณะตามข้อ ๗
ข้อ ๗ หลักฐานการรับเงินตามข้อ ๔ ต้องไม่มีข้อความที่มีลักษณะหรือความหมายในลักษณะหรือทำนองเดียวกัน ดังต่อไปนี้
(๑) ข้อความที่เป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจและผู้ส่งสินค้า กรณีผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ตนไม่ได้สั่งซื้อ หรือสินค้าที่ได้รับไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าที่ตนสั่งซื้อมีความชำรุดบกพร่อง
(๒) ข้อความที่กำหนดว่าห้ามไม่ให้ผู้บริโภคคืนสินค้ากรณีผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ตนไม่ได้สั่งซื้อ หรือสินค้าที่ได้รับไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าที่ตนสั่งซื้อมีความชำรุดบกพร่อง
(๓) ข้อความที่กำหนดว่าห้ามไม่ให้ผู้บริโภคเปลี่ยนหรือคืนสินค้าไม่ว่ากรณีใด ๆ
(๔) ข้อความที่กำหนดว่าผู้ประกอบธุรกิจและผู้ส่งสินค้าจะไม่คืนเงินที่ผู้บริโภคได้ชำระมาแล้วไม่ว่ากรณีใด ๆ
ที่มา : ไทยคู่ฟ้า