Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะต่ำกว่า 2% เตรียมเข้าสู่ยุค Lost Decade
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะต่ำกว่า 2% เตรียมเข้าสู่ยุค Lost Decade

18 ก.ค. 67
14:35 น.
|
6.9K
แชร์

ข้อมูลของเศรษฐกิจไทยในปี 2024 ส่งสัญญาณน่าห่วงหลายอย่าง จนนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจถึงกับใช้คำว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค “ Lost Decade” หรือ “ทศวรรษที่หายไป” คำๆนี้เคยถูกใช้กับวิกฤตเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่การเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวต่ำมากในช่วงยุค 1990 และต่ำต่อเนื่องยาวนานนับสิบปีจากนั้น แม้ว่าในอดีตเคยมีการเติบโตที่สูงมากก็ตาม

สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ยุค“ Lost Decade” จริงหรือไม่? บทวิเคราะห์ เรื่อง "เศรษฐกิจไทยสู่ยุคโตต่ำ 2%" ของ KKP Research ฉายภาพให้เห็นชัดเจน 

ในอดีตศักยภาพของ GDP ไทย เคยอยู่ 8.1% ในช่วงปี 1961-1970 และยังเติบโตอยู่เหนือระดับ 6% กินเวลายาวนานเกือบ 40 ปี จนกระทั่งในปี 2000 เป็นต้นมา ศักยภาพ GDP ไทยค่อยๆลดลงต่ำลงเหลือ 3% กว่า และ ปัจจุบันรวมถึงอนาคต GDP ไทยกำลังจะโตต่ำกว่า 2% และอาจกินเวลายาวนานนับ 10 ปี ซึ่งก็คงมีสภาพไม่ต่าง Lost Decade ของญี่ปุ่น  

เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า2%

เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า2%ข้อมูลจาก KKP Research ระบุว่า ทุกครั้งที่ไทยต้องเผชิญกับวิกฤตที่ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องหดตัวรุนแรง แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะลดต่ำลงทุกครั้ง นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงจากมากกว่า 7% ในช่วงก่อนหน้ามาเหลือเพียง 5% หลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 3% และหลังวิกฤตโควิดในปี 2019 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยได้เพียง 2%

การประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มจะเติบโตได้ต่ำกว่า 2% ด้วย 3 เหตุผลหลัก ได้แก่ 1. ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ภายใต้ภาวะการแข่งขันจากต่างประเทศที่เข้มข้นขึ้น 2. กำลังแรงงานที่ทั้งลดลงและแก่ตัวลง และ 3.ขาดการลงทุนที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิต

ปัจจัยการผลิตที่เป็นแรงฉุดสำคัญ คือ ‘แรงงาน’ ที่ลดลง ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการเติบโต (GDP Potential) ลดลงประมาณ 0.5 จุดต่อปีจนถึงปี 2030 และลดลง 0.8 จุดต่อปีในทศวรรษที่ 2040 ซึ่งจะทำให้ศักยภาพ GDP ไทยเหลือต่ำเพียงราว 2% ต่อปี โดยที่คงสมมติฐานให้การสะสมทุนและผลิตภาพเท่าเดิม

ซ้ำร้ายกว่านั้น หากการสะสมทุนหรือผลิตภาพหดตัวลงด้วย (ซึ่ง KKP Research มองว่าจะทยอยลดลงเช่นกัน) จะทำให้ศักยภาพ GDP ไทยจะต่ำลงไปได้ถึง 1.3% ต่อปีในปลายทศวรรษหน้า

เศรษฐกิจไทยสู่ยุคโตต่ำ 2%

แรงงาน-ทุน-เทคโนโลยี 3 ปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย 

“แรงงาน” ลดลงทั้งจำนวนและผลิตภาพ

ปัจจัยด้านแรงงานสำหรับประเทศไทยนอกจากจะเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aged society) ซึ่งหมายถึงการที่มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% แล้ว กำลังแรงงานในวัยทำงาน (15-60 ปี) ก็ได้ลดลงแล้วด้วย จากประมาณการของสหประชาชาติคาดว่าประชากรไทยจะถึงจุดสูงสุดภายในปี 2030 โดยประชากรวัยทำงานได้ผ่านจุดสูงสุดไปล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ปี 2012 และจะหดตัวอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 0.7% จนลดลงเหลือสัดส่วนเพียง 60% ของประชาการทั้งหมดในปี 2030 จาก 70% ในปี 2012 ขณะที่ประชากรวัยเด็กมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยปีละ 1.8% ต่อปีจนถึง 2030 ทั้งหมดนี้สวนทางกับประชากรผู้สูงอายุกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2012 เป็น 20% ในปี 2023

ประชากรวัยทำงานและวัยเด็กที่ลดลง ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น สร้างความท้าทายกับเศรษฐกิจไทยอย่างน้อยใน 2 ด้านหลัก ประเด็นแรก คือ กำลังซื้อในประเทศจะลดลง และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังซื้อสินค้าคงทนอย่างรถยนต์และสินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ คาดว่าจะหดตัวลง แต่สินค้าอย่างสินค้าหรือบริการด้านสุขภาพและสินค้าจำเป็นจะเติบโตมากขึ้น

ประเด็นที่สอง คือ นอกจากกำลังแรงงานลดลงแล้ว ผลิตภาพแรงงานก็ลดลงด้วย โดยกำลังแรงงานผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2012 และจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่ผลิตภาพแรงงานที่สะท้อนความสามารถในการทำงานของแรงงานไทยก็ชะงักงันหรือเติบโตได้เล็กน้อยมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันจนถึงปัจจุบันเช่นเดียวกัน

“ทุน” การลงทุนหายไปตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง

ระดับการลงทุนในเศรษฐกิจไทยหายไปนับตั้งแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จากที่มีการสะสมทุนเฉลี่ยปีละ 6.6% ต่อปี ลดลงเหลือ 2.1% ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา

KKP Research มองว่าฐานผู้บริโภคที่หดตัวลง การค้าโลกที่ผ่านยุคทองไปแล้ว ความสามารถในการแข่งขันโดยรวมที่ลดลง และการขาดการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชน มีส่วนทำให้การสะสมทุนในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งลดลง ขณะที่แนวโน้มในอนาคต ความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์และห่วงโซ่อุปทาน การค้าและการลงทุนโลกที่กำลังเปลี่ยนไปจะสร้างความไม่แน่นอนและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอีก

ซ้ำร้ายปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคเอกชนที่สูงขึ้น คุณภาพของหนี้ที่ลดลง นโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ และการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในระยะหลัง ทำให้โอกาสที่จะขยายการลงทุนในเศรษฐกิจไทยโดยรวมลดลงไปด้วย

“เทคโนโลยี” - ขาดการพัฒนาทำให้ผลิตภาพแรงงานอยู่ในช่วงขาลง

อีกทางหนึ่งที่สามารถชดเชยกำลังแรงงานได้คือการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อทำให้แรงงาน 1 คน หรือ ทุน 1 หน่วยสามารถผลิตสินค้าและบริการได้มากขึ้น หรือคือมี ‘ผลิตภาพ’ หรือ ‘productivity’ มากขึ้น

แม้ว่าผลิตภาพของไทยส่วนหนึ่งจะได้รับผลกระทบจาก “วัฏจักรเศรษฐกิจ” ในระยะสั้น แต่ภาพในระยะยาวจากข้อมูลของ Penn World Table พบว่าผลิตภาพในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

3 ปัจจัยที่ทำให้ผลิตภาพของไทยลดลง 1) การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มหรือผลิตภาพต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรม 2) คุณภาพของการศึกษาที่นำไปสู่ปัญหาคุณภาพแรงงาน และ 3) การขาดการลงทุน ทั้งจากธุรกิจภายในประเทศและจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และขาดนโยบายสนับสนุนนวัตกรรมและการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน

หากไม่มีการลงทุนที่จะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่สำคัญต่อเศรษฐกิจในอนาคตและทุนมนุษย์ คงเป็นไปได้ยากที่ผลิตภาพจะเพิ่มขึ้นจนสามารถชดเชยจำนวนแรงงานหรือทุนที่ลดลงไป

เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า2%

4 ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย 

ทั้งนี้มีการเสนอแนะว่า รัฐบาลไทยควรปฏิรูปใน 4 ด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพ GDP อีกครั้ง

  1. เพิ่มผลิตภาพ ดึงดูดแรงงานทักษะสูง ด้วยการปฏิรูปการศึกษาเพื่อเพิ่มแรงงานทักษะสูงที่จะมาพร้อมกับการลงทุนใหม่ ๆ 
  2. การเปิดเสรีภาคบริการ ส่งเสริมและเพิ่มการแข่งขันในภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคอื่น ๆ ในการทำธุรกิจ 
  3. เพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร ภาคการเกษตรนับเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำสุด แต่มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจมากในแง่ของสัดส่วนแรงงาน การเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตรและแรงงานในภาคเกษตร และการเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร จะช่วยเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้อีกมาก
  4. ปฏิรูปภาคการคลัง เพราะสังคมผู้สูงอายุย่อมนำไปสู่ความเสี่ยงทางด้านการคลังของประเทศโดยตรง การที่ฐานภาษีที่อยู่ในระดับต่ำ (สัดส่วนรายได้ต่อ GDP อยู่ที่เพียงไม่ถึง 15% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหลายประเทศ) และรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ยากที่ภาครัฐจะสามารถลงทุนขนาดใหญ่เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยได้อย่างจริงจัง หากไม่จัดการปัญหาด้านภาระทางการคลังเสียก่อน

ข้อมูลจาก KKP Research ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับคนไทยในเวลานี้และอนาคต คงไม่น่าแปลกใจหากจากนี้ไปจะมีข่าวคนตกงาน ธุรกิจปิดกิจการลงไป หรือแม้ตลาดหุ้นไทยที่ดูซบเซา…ปัญหาเชิงโครงสร้างสำหรับเศรษฐกิจไทย เป็นเรื่องใหญ่มากที่ยังรอการแก้ไขอย่างจริงจังและจริงใจ เพราะคงไม่มีใครอยากอยู่ในช่วง “ทศวรรษที่หายไป” อย่างแน่นอน 

ที่มา:KKP Research บทวิเคราะห์เรื่อง "เศรษฐกิจไทยสู่ยุคโตต่ำ 2%" 

แชร์
การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะต่ำกว่า 2% เตรียมเข้าสู่ยุค Lost Decade