"ตลาดจะรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจัดทัพครม.ต่อไป ถือว่าการได้ผู้นำใหม่ค่อนข้างเร็ว ช่วยลดความไม่แน่นอนหรือช่วงสูญญากาศได้ในระดับหนึ่ง"
โดยนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับ SPOTLIGHT ว่า จับตาการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีใหม่จะมีความล่าช้า จนส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายและการลงทุนของภาครัฐ รวมถึง การจัดทำงบประมาณปี 2568 หรือไม่? เนื่องจากจะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอาจส่งผลต่อมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินได้
ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โดยน.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคาร ได้ให้กับ “SPOTLIGHT” ว่า มองว่าขณะตลาดจะรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจัดทัพครม.ต่อไป ถือว่าการได้ผู้นำใหม่ค่อนข้างเร็ว ช่วยลดความไม่แน่นอนหรือช่วงสูญญากาศได้ในระดับหนึ่ง
โดยตลาดยังจะให้ความสนใจกับตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ของไทย ซึ่งกรุงศรี คาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่ กนง.ประเมินไว้อย่างมีนัยสำคัญ เศรษฐกิจฟื้นตัวตามวัฎจักร
อีกทั้ง ยังมีมาตรการช่วยเหลือเฉพาะจุด ดังนั้น จึงมองว่าในมุมของธปท. อาจต้องการเก็บกระสุนดอกเบี้ยนโยบายไว้หากเกิดวิกฤติในอนาคต ขณะที่กระสุนทางการคลังเหลือน้อย นอกจากนี้ หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ได้ต่อยอดความมั่งคั่ง สะสมความเปราะบางในระบบหากดอกเบี้ยต่ำเกินไป นอกจากนี้ ยังมีงานสัมมนาวิชาการที่เมือง Jackson Hole ซึ่งเฟดเป็นเจ้าภาพและมักใช้เวทีนี้สื่อสารกับตลาดเรื่องทิศทางดอกเบี้ย
น.ส.รุ่ง ยังได้คาดการณ์ว่า ในเดือนนี้เงินบาทแข็งค่าเกาะกลุ่มไปกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ขณะที่มีสัญญาณบ่งชี้มากขึ้นว่าเฟดใกล้ลดดอกเบี้ยท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อชะลอตัวและอัตราการว่างงานสูงขึ้น โดยมีกระแสเงินทุนไหลเข้าพันธบัตรไทยแต่ในสัปดาห์ล่าสุดเงินไหลออกไปแล้วบางส่วน อนึ่ง คาดว่าเมื่อคืนวันศุกร์ผู้ค้าทองคำในประเทศอาจส่งออกทองคำ (ปัจจัยบาทแข็ง) ขณะที่ราคาทองตลาดโลกทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นายพูน มองว่า ในระยะสั้น ประเมินโซนแนวรับเงินบาทใหม่แถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ภายหลังเงินบาทแข็งค่าหลุดโซน 34.85 บาทต่อดอลลาร์ ที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า ซึ่งจะมีโซนแนวรับถัดไป 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้านแรกจะอยู่ในช่วง 35.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยจะมีโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ และ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านถัดไป
ส่วนค่าเงินบาทในระยะสั้น ปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าจะมาจากประเด็นการเมืองในประเทศที่ความไม่แน่นอนทยอยคลี่คลายลง (แต่ยังคงต้องติดตามการจัดคณะรัฐมนตรีและการจัดทำงบประมาณปี 2568 อย่างใกล้ชิด) ขณะที่ ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า อาจมาจากการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยออกมาดีกว่าคาด
โดยในกรณีดังกล่าว อาจหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง พร้อมกดดันให้ราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวลดลง หลังจากทำจุดสูงสุดใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
นายพูน ยังได้กล่าวอีกว่า ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจกลับมาทวีความร้อนแรง จนกดดันให้ตลาดการเงินผันผวนได้อีกครั้ง แต่ แม้ว่าในกรณีความขัดแย้งในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น จนทำให้ตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบอาจผันผวนสูงขึ้น ซึ่งดูจะเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง แต่เรามองว่า เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก หรืออาจเพียงแค่แกว่งตัว sideways ถ้าราคาทองคำสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นกัน