ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ คือ การเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน 13 ชาติพันธมิตรของ ‘บริกส์’ (BRICS) กลุ่มประเทศที่กำลังรวมตัวกันเป็นขั้วอำนาจใหม่ของเศรษฐกิจโลก โดยมีจุดประสงค์หลักในการคานอำนาจกับกลุ่มประเทศตะวันตก บทความนี้ชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับกลุ่มบริกส์ รวมถึงความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญ เมื่อเข้าร่วมเป็นชาติพันธมิตร
แผนที่แสดงที่ตั้งของประเทศสมาชิกของกลุ่มบริกส์
กลุ่มบริกส์เกิดขึ้นจากการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของประเทศโลกใต้ (The Global South) ในปี 2009 ประกอบด้วย 4 ประเทศสมาชิกเริ่มต้น ได้แก่ บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และจีน (China) ซึ่งในช่วงเวลานี้ใช้ชื่อกลุ่มว่า ‘บริก’ (BRIC) โดยมีที่มาจากตัวอักษรแรกของชื่อประเทศสมาชิก ต่อมาในปี 2010 ประเทศแอฟริกาใต้ (South Africa) ได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 5 จึงมีการเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น ‘บริกส์’ (BRICS) อย่างที่หลายคนคุ้นเคย
ปัจจุบัน กลุ่มบริกส์มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 9 ชาติ โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2024 ได้มีการต้อนรับประเทศสมาชิกใหม่อีก 4 ชาติ ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
แผนที่แสดงที่ตั้งของ 10 ประเทศสมาชิก และ 13 ชาติพันธมิตรของกลุ่มบริกส์
นอกจากนี้ ภายในการประชุมที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 22-23 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มบริกส์ยังได้ชาติพันธมิตรเพิ่มขึ้นอีก 13 ชาติ ซึ่งในจำนวนนี้มี 4 ชาติจากอาเซียนด้วย นั่นก็คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งไทยได้แสดงความประสงค์ที่จะสมัครเข้าเป็นประเทศสมาชิกของกลุ่มบริกส์เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2023 แต่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
เมื่อดูจากรายชื่อประเทศสมาชิกแล้ว สังเกตได้ว่าประเทศเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ และเป็นคู่แข่งสำคัญของประเทศโลกเหนือ (The Global North) ซึ่งหมายถึงบรรดาชาติพัฒนาแล้ว และชาติที่มีความมั่งคั่งในทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปยุโรปฝั่งตะวันตก
เรื่องนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นจุดประสงค์หลักในการรวมตัวกันของกลุ่มบริกส์ เพื่อคานอำนาจด้านเศรษฐกิจและการเงินกับสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มบริกส์มองว่าชาติเหล่านี้มีอำนาจในการวางระเบียบการค้าโลกมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นสถานะเจ้าของสกุลเงินหลักของโลกอย่าง ‘ดอลลาร์สหรัฐฯ’ และ ‘ยูโร’ รวมถึงการกุมอำนาจในองค์กรการเงินและการค้าระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์กรการค้าโลก (WTO)
โดยหลายครั้งชาติเหล่านี้มีการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศตัวเอง เช่น สหรัฐอเมริกาที่มีการตั้งกำแพงภาษี เพื่อกีดกันสินค้าจากประเทศอื่น ๆ แม้ว่าตนเองจะเป็นประเทศสมาชิกของ WTO ที่สนับสนุนการค้าเสรีก็ตาม
ดังนั้น เพื่อเป็นการปรับความสัมพันธ์ทางการค้า และสมดุลของเศรษฐกิจโลก กลุ่มบริกส์จึงพยายามสร้างขั้วอำนาจใหม่ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การเงิน และการค้า ผ่านการสร้างระบบการเงินของตนเอง เช่น
เมื่อพิจารณาจากการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของกลุ่มบริกส์ จะเห็นได้ว่าการเข้าร่วมทั้งในฐานะพันธมิตรและชาติสมาชิก จะเป็นประโยชน์ต่อไทย ทั้งในแง่ที่เป็นการเปิดทางให้ไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายมากขึ้น และเอื้อให้ไทยสามารถสร้างความสัมพันธ์การค้ากับประเทศกลุ่มบริกส์ได้
ประเทศสมาชิกของกลุ่มบริกส์ นอกจากจะมีชาติคู่ค้าที่สำคัญของไทยอย่างจีนและอินเดียแล้ว ยังมีประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ ได้แก่ อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์รวมอยู่ด้วย ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นลำดับต้น ๆ ของโลก
โดยในปี 2023 GDP ของกลุ่มบริกส์ มีมูลค่ารวมกันถึง 25.80 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 25% ของ GDP โลก และในแง่ของจำนวนประชากรก็มีมากถึง 37% ของประชากรโลก ซึ่งนับว่าเป็นตลาดที่มีความต้องการบริโภคสูงมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มบริกส์จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย แต่เรื่องนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ไทยผิดใจกับชาติตะวันตกต่าง ๆ เนื่องจากการแสดงความประสงค์ที่จะสมัครเข้าเป็นประเทศสมาชิกของกลุ่มบริกส์ อาจสะท้อนถึงจุดยืนทางการทูตของไทยที่มีความเอนเอียงไปทางรัสเซียและจีนมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้อาจทำให้ไทยมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในอนาคตจากการที่โลกกำลังถูกแบ่งขั้วทางการค้าอย่างเข้มข้น
แรงกดดันในเรื่องนี้ยังเพิ่มขึ้นอีก จากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเขาได้มีการหาเสียงด้วยนโยบายกีดกันทางการค้า และการต่อต้านจีนอย่างรุนแรง ทำให้หากสหรัฐฯ เข้าใจว่าไทยเข้าข้างจีน ก็มีความเสี่ยงที่ไทยจะโดนหางเลขไปด้วยจากนโยบายในอนาคต
จะเห็นได้ว่า การเข้าร่วมกลุ่มบริกส์อาจสร้างได้ทั้งคุณและโทษแก่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการค้ากับประเทศมหาอำนาจใหม่ รวมถึงบทบาทของไทยในเวทีโลกที่จะมีเพิ่มมากขึ้น แต่เรื่องนี้ก็อาจทำให้ไทยวางตัวเป็นกลางได้ลำบากมากขึ้นในสงครามการค้าและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
โดยเรื่องนี้จะเป็นไปในทิศทางไหน กุญแจสำคัญคือการทำงานของรัฐบาลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าจะสามารถรักษาจุดยืนที่เป็นกลาง ซึ่งเป็นแนวทางดำเนินนโยบายทางการทูตที่สำคัญของไทยไว้ได้ต่อไปหรือไม่