ข่าวเศรษฐกิจ

ไฟเขียว ลด/ยกเว้น ภาษีให้ต่างชาติ 4 กลุ่มหลัก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทย

22 ก.พ. 65
ไฟเขียว ลด/ยกเว้น ภาษีให้ต่างชาติ 4 กลุ่มหลัก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทย
ไฮไลท์ Highlight
จะมีชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 1 ล้านคน และกระทรวงการคลังได้ประมาณการว่าจะไม่มีการสูญเสียรายได้จากมาตรการภาษีครั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างประเทศซึ่งไม่อยู่ในฐานภาษีของประเทศไทย แต่อาจเพิ่มรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษที่จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 17% ของเงินได้พึงประเมิน นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับดังนี้คือ ชาวต่างชาติผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาพักอาศัยหรือทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น, การบริโภคและการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้น

ในการประชุม ครม. วันนี้ อนุมัติหลักการทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ชาวต่างชาติ 3กลุ่ม  และ การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้กลุ่มชาวต่างชาติ 4 กลุ่มหลัก โดยรัฐยืนยัน ไม่สูญเสียรายได้จากมติดังกล่าว แต่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ระยะยาว และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยด้วย

  

โดยน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ ลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย

 

โดยมีสาระสำคัญการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับชาวต่างชาติผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident Visa : LTR Visa) 3 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง

2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ

3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย

สำหรับเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศหรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ

 

ขณะเดียวกันยังได้ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 17% สำหรับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษซึ่งทำงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

 

โดยชาวต่างชาติซึ่งเป็นเป้าหมายแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1.ประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง ได้แก่ ผู้ที่มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือในอสังหาริมทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 500,000.02 ดอลลาร์สหรัฐ มีรายได้ส่วนบุคคลไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 260,000 บาท/ปี) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือราวกว่า 32 ล้านบาท)

 

2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือในอสังหาริมทรัพย์ ไม่ต่ำกว่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีรายได้ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือมีรายได้ (เงินบำนาญ) ไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ

 

3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหรือมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปหรือครอบครองทรัพย์สินทางปัญญาหรือได้รับเงินทุน Series A มีประสบการณ์การทำงาน 5 ปี

 

4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหรือมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์การทำงานห้าปีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

 

ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า

จะมีชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 1 ล้านคน และกระทรวงการคลังได้ประมาณการว่าจะไม่มีการสูญเสียรายได้จากมาตรการภาษีครั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างประเทศซึ่งไม่อยู่ในฐานภาษีของประเทศไทย แต่อาจเพิ่มรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษที่จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 17% ของเงินได้พึงประเมิน นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับดังนี้คือ ชาวต่างชาติผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาพักอาศัยหรือทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น, การบริโภคและการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้น

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT