สถานการณ์สินค้าแพงยังวิกฤต เงินเฟ้อเดือนเม.ย. พุ่งต่อ 4.65% โดนพิษราคาน้ำมัน-อาหาร ยังทะยานขึ้นแรงเป็นเหตุ เดือน พ.ค. เสี่ยงเงินเฟ้อพุ่งต่อเนื่อง หลังเดือน มี.ค.ทำนิวไฮในรอบ 13 ปี
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ "เงินเฟ้อทั่วไป" เดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 105.15 เพิ่มขึ้น 4.65% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยถือเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือน มี.ค. 2565 ที่ผ่านมาที่ตัวเงินฟ้อทั่วออกมาอยู่ที่ 5.73% สูงสุดในรอบ 13
ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงาน อาหารสด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตร ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต การค้า และการขนส่ง ราคาสินค้าและบริการในประเทศจึงปรับสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในที่สุด ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ราคาต้นทุนหรือราคาหน้าโรงงานของไทยที่สูงขึ้นค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต ที่สูงขึ้นถึง 12.8% ยังไม่ส่งผ่านไปยังราคาขายปลีกมากนัก เนื่องจากมาตรการของภาครัฐ และความต้องการที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 โดยมีรายละเอียด สรุปดังนี้
สินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 4.65% อาทิ
- สินค้าในกลุ่มพลังงาน สูงขึ้น 21.07%
- สินค้าในกลุ่มอาหาร สูงขึ้น 4.83%
- สินค้าอื่น ๆ ที่ปรับสูงขึ้น
สินค้าจำเป็นอีกหลายรายการราคายังคงลดลง อาทิ
- กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 3.64%
- กลุ่มผลไม้สด ลดลง 1.05%
- เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.17%
- การศึกษา ลดลง 3.14%
ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนเมษยน นี้ เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 0.34% ซึ่งต่ำกว่าเดือนมีนาคม 2565 ที่อยู่ 0.66% จากราคาของผักสด ผลไม้สด เนื้อสุกร และไข่ไก่ ที่สูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่น้ำมันเชื้อเพลิงราคาปรับลดลง ส่วนอาหารสำเร็จรูปบางรายการราคาสูงขึ้นในอัตราที่น้อยลง
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการตรึงราคาน้ำมัน และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการกำกับดูแลราคา และการขอความร่วมมือภาคเอกชนตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น และเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 4.71%
สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนเมษายน 2565 สูงขึ้น 12.8% ตามต้นทุนการผลิต วัตถุดิบ ค่าขนส่ง และเงินบาทที่อ่อนค่าลง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าเกษตรสำคัญ จากอุปทานที่มีความตึงตัว
ขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้น 8.8% สูงขึ้นในทุกหมวดสินค้าตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ ทั้งราคาน้ำมัน เหล็ก ถ่านหิน และอลูมิเนียม ที่ปรับสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ประกอบกับการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิต ส่งผลให้สินค้าขาดแคลน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.7 เทียบกับระดับ 43.8 ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากเศรษฐกิจภายในประเทศได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เดือนพฤษภาคม 2565
มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับมาตรการตรึงราคาและการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ได้สิ้นสุดลงในเดือนเมษายนและปลายเดือนพฤษภาคมนี้ และการปรับราคาสูงขึ้นแบบขั้นบันไดของก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ในเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2565
รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ นอกจากนี้ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และพันธมิตร และการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ ยังคงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศสูงขึ้นได้ในระยะต่อไป ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ปี 2565
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบร้อยละ 4 - 5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4.5% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
1.เงินเฟ้อพุ่งแรง-ของแพงทั้งโลก
2.“เงินเฟ้อ” น่ากังวลแค่ไหน ? ในมุมมองของแบงก์ชาติ
3.เงินเฟ้อพุ่ง ทำเงินเกษียณไม่พอใช้ ทิสโก้แนะลงทุนธุรกิจเมกะเทรนด์
4.เงินเฟ้อไทยพุ่ง 5.73% สูงสุดรอบ13ปี สินค้า 178 รายการราคาสูงขึ้นกว่าเดือนก่อน