นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์ถึงการประชุมร่วมกับกลุ่มโรงกลั่นวานนี้ (20 มิ.ย.) ว่า ทางโรงกลั่นน้ำมันเอกชนทั้ง 6 แห่ง พร้อมให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือนั้นต้องไม่ขัดกฎหมายเนื่องจากเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงพลังงานจะต้องดูรายละเอียดต่อไป ส่วนการขอแบ่งกำไรขั้นต้นจากโรงกลั่นนั้น ก็พอมีแนวทางอยู่ แต่ต้องตั้งทีมงานมาหารือกันอีกครั้ง
"เป็นความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย ทางออกต้องมานั่งดูรายละเอียดกันว่า สิ่งที่จะทำสามารถดำเนินการได้ทั้งฝ่ายรัฐ และไม่ขัดกฎหมายเขาด้วย ส่วนการขอแบ่งกำไรขั้นต้นจากโรงกลั่นนั้น ก็พอมีแนวทางอยู่ แต่ต้องตั้งทีมมานั่งคุยกันอีกที อย่างไรก็ดี ทั้งโรงกลั่นและภาครัฐ จะดำเนินการโดยยึดประโยชน์ให้สิ่งที่เกิดขึ้นไปแบ่งเบาภาระประชาชนเป็นหลัก" นายกุลิศ กล่าว
สำหรับกรณีในช่วงแรกๆ ที่กระทรวงพลังงานกล่าวว่า สามารถขอแบ่งกำไรขั้นต้นจากโรงกลั่น โรงแยกได้ โดยอาศัยอำนาจ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันมาตรา 14 (4) และมาตรการ 27 (1) ระบุว่า ถ้าดำเนินการไปเช่นนี้ และไม่ดูให้รอบคอบ อาจมีช่อง ให้คนอาจแย้งว่าไม่ถูกต้องได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาในภายหลังได้ ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานต้องการให้เกิดความชัดเจนมากกว่านี้ และอยู่ระหว่างการหาวิธีที่จะดำเนินการให้เร็วขึ้น
"โจทย์ 1 คือ ดำเนินการหาข้อกฎหมายที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงร่วมกัน และโจทย์ 2 คือ เรื่องวงเงิน ค่าการกลั่นในแต่ละตัวมีการกลั่นน้ำมันออกมาไม่เท่ากัน ซึ่งจะรีบดำเนินการให้จบภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ โดยขณะนี้ก็มีความก้าวหน้าในระดับหนึ่งแล้ว" นายกุลิศ กล่าว
นายกุลิศ กล่าวว่า สำหรับที่มาของค่าการกลั่นเดือนละ 8,000 ล้านบาทนั้น ทางกระทรวงพลังงานได้มีสูตรการคำนวณที่สำนักงานนโยบายและพลังงานใช้ในการดำเนินการอยู่ แต่หากโรงกลั่นมีข้อมูล หรือข้อเท็จจริง ก็สามารถนำมาชี้แจงได้ อย่างไรก็ดี ตัวเลขค่าการกลั่นของแต่ละแห่งก็มีความแตกต่างกัน
ในส่วนของกระทรวงพลังงานก็ได้มีการเก็บสถิติ โดยตัวเลขอ้างอิงในเดือนม.ค.-พ.ค. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.27 บาท/ลิตร ส่วนในเดือนมิ.ย. ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ส่วนเรื่องราคาที่จะใช้ในการคำนวณขอแบ่งกำไรขั้นต้นจากโรงกลั่น จะต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้ง
สำหรับการหาเงินมาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ขณะนี้ติดลบไปมากแล้วนั้น นายกุลิศ กล่าวว่า ขณะนี้มีทางออกในการแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว ซึ่งหากมีการพูดคุยเรียบร้อยแล้ว นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน จะแถลงข่าวด้วยตนเอง และนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ส่วนวันนี้ที่จะพูดคุยกันในที่ประชุม ครม. จะเป็นเรื่องการต่อมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการอยู่ และมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม
สถาบันปิโตรเลียมฯ ชี้น้ำมันแพงจากหลายปัจจัยกระทบ
นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคาแพงน้ำมันที่แพงขึ้นมีเหตุปัจจัยแวดล้อมหลายเรื่องรวมกัน ผู้ค้าและปั๊มน้ำมันไม่สามารถตั้งราคาเองโดยไม่คำนึงถึงกลไกตลาดและต้นทุนได้ และรัฐบาลก็ได้พยายามหลายวิธีด้วยกลไกหลาย ๆ อย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ มาอุดหนุนราคาขายปลีก โดยเฉพาะดีเซลด้วยการลดภาษีสรรพสามิตลงกว่า 5 บาทต่อลิตร การลดส่วนผสมของไบโอดีเซล B100 ในน้ำมันดีเซลจาก 7%, 10% และ 20% ให้เหลือเป็น B5 เท่านั้น การค่อยๆขยับเพดานการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล เป็น 35 บาท/ลิตร และก๊าซหุงต้ม LPG เป็น 363 บาทต่อถัง 15 กก.
ทั้งนี้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้เป็นต้นมาจนถึงเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 โดยน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 17% ขณะที่ในตลาดสิงคโปร์ปรับขึ้น 84% ส่วนแก๊สโซฮอล 95 ก็ปรับราคาขึ้น 38% ส่วน ULG 95 ที่สิงคโปร์ปรับขึ้นในช่วงเดียวกัน 61% ซึ่งราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่น (ex-refinery prices) ของไทยก็ปรับตัวขึ้นใกล้เคียงกับราคาหน้าโรงกลั่นที่สิงคโปร์ด้วย ดังนั้น พอมีประเด็นเรื่องค่าการกลั่นเข้ามา ส่งผลให้หลายคนมีความสงสัยว่าที่โรงกลั่นมีกำไรมหาศาลจากส่วนต่างของค่าการกลั่นนี้ และรัฐควรจะเข้าไปทำอะไรมากกว่านี้เพื่อช่วยประชาชนเพิ่มเติมอีกหรือไม่
ขอแบ่งเงินจากกำไร “ส้มหล่น” โรงกลั่น มาพยุงราคาน้ำมันจะเป็นผลดีหรือไม่
นายคุรุจิต กล่าวว่า ควรจะไตร่ตรองให้รอบคอบและคิดถึงผลกระทบทั้งในระยะยาวและระยะสั้นต่อระบบเศรษฐกิจของไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ก่อนที่จะออกมาตรการใด ๆ ออกมา รวมทั้งควรมองไปถึงตอนจบด้วยว่า มาตรการที่จะนำมาใช้จะยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมจริงหรือเปล่า? ไม่ใช่แก้แบบเสี่ยงโชคยื้อเวลาโดยหวังอีกประเดี๋ยวนึงวิกฤติก็จะหายไป แล้วราคาในตลาดโลกคงจะลดลงมาเอง และไม่ควรแก้ปัญหาหนึ่งแต่ไปก่อให้เกิดอีกปัญหาหนึ่งให้คนรุ่นหลังหรือรัฐบาลข้างหน้ารับไปแก้กันเอาเอง
ประการแรก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ค่าการกลั่น (GRM) ไม่ใช่กำไรแท้จริงที่โรงกลั่นได้รับ และจะดูค่า GRM ควรจะต้องพิจารณาจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคา ของทุกผลิตภัณฑ์ที่กลั่นออกมาจากหอกลั่นเทียบกับราคาน้ำมันดิบชนิดที่แต่ละโรงกลั่นเขาสั่งซื้อเข้ามากลั่นจริง(หรือที่เรียกว่า crack spreads) และดู loss ในกระบวนการผลิตด้วย ไม่ใช่เอาส่วนต่างเฉพาะของราคาน้ำมันดีเซล (ซึ่งมักจะแพงที่สุด) ไปลบด้วยราคาน้ำมันดิบดูไบ (ซึ่งมักจะถูกที่สุด) แล้วไปสรุปเลยว่าเขาต้องมีกำไรมหาศาล เปรียบเสมือนโรงสีข้าว รับซื้อข้าวเปลือกมาสี สีข้าวแล้วได้ผลิตภัณฑ์ต่างชนิดที่ขายได้ในราคาต่างกัน เช่น แกลบ รำข้าว ปลายข้าว ข้าวหัก มิใช่มีแต่ข้าวสาร 5% หรือมีแต่ข้าวหอมมะลิอย่างเดียว เป็นต้น GRM จึงเป็นเพียงหนึ่งในตัวชี้วัดว่าโรงกลั่นมีประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับโรงกลั่นอื่น ๆในภูมิภาคแล้วเป็นอย่างไร เพื่อพัฒนาปรับปรุงลดต้นทุน ให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นในประเทศอื่น ๆ GRM จึงแสดงความสามารถของโรงกลั่นในการทำกำไรและแข่งขันในตลาดค้าส่งน้ำมันที่เป็นตลาดเสรี มิได้แปลว่า GRM มีค่าสูงแล้วจะมีกำไรดีเสมอไป
ประการที่สอง โรงกลั่นแต่ละโรงมีโครงสร้างการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ซึ่งยังไม่รวมถึงต้นค่าซื้อน้ำมันดิบมากลั่นที่แต่ละโรงซื้อมาในเวลาที่ต่างกันและคุณภาพของชนิดน้ำมันดิบที่ซื้อก็อาจแตกต่างกันด้วย
ค่าสำรองน้ำมันตามกฎหมาย ค่าบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากราคาขึ้นหรือลงของสต๊อกน้ำมัน cost structures จึงไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การจะไปคุมราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นแต่ละโรงแบบจะใช้ระบบ cost plus จึงไม่อาจทำได้และไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน รวมถึงการจะประกาศควบคุมราคาอย่างที่อดีตขุนคลังบางคนแนะนำ รัฐก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในขณะนี้ที่จะไปคุมราคาขายส่งหรือขายปลีกน้ำมันด้วย หากทำไปก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ทำให้ธุรกิจเขาอาจทบทวนลดการสั่งน้ำมันดิบเข้ามาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ประเทศก็จะมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและก็คงไม่ต่างอะไรกับที่รัฐบาลที่ประชานิยมสุดขั้วหรือต่อต้านระบบค้าเสรีอย่างเวเนซุเอลาหรือโบลิเวียหรืออิหร่าน
เคยทำมาแล้วก็ล้มเหลวนำไปสู่ภาวะขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานและบริการ ประชาชนอดอยากจากภาวะเงินเฟ้อที่ไม่อาจควบคุมได้ รัฐบาลทุกยุคสมัยที่ผ่านมาตลอดสามสิบปีได้ตัดสินใจนำกลไกตลาดและการค้าเสรีมาใช้โดยลอยตัวราคาน้ำมันในประเทศ รัฐจะเข้าไปแทรกแซงก็แต่ในขอบเขตที่จำกัดในการเรียกเก็บเงินเข้าหรือจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนตาม พ.ร.บ.กองุทนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ เท่านั้น รัฐจึงไม่ควรย้อนกลับถอยหลังไปสู่ระบบที่จะทำให้การจัดหาและค้าน้ำมันมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ การส่งสัญญาณที่ผิดจะทำให้ภาคธุรกิจต้องทบทวนความเสี่ยง optimize products and crude runs สั่งน้ำมันดิบเข้ามากลั่นน้อยลง หรือกลั่นแต่ส่งออกมากขึ้น หรือปรับกระบวนการผลิตให้ผลิตสินค้าอื่นเช่นปิโตรเคมีมากขึ้น แทนที่จะผลิตออกมาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการจัดหาในประเทศ
ประการที่สาม โรงกลั่นทั้งหกโรงในประเทศไทย เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเปิดเผย
งบการเงิน งบกำไรขาดทุนจากผลประกอบการเป็นรายปีและรายไตรมาสตามกฎกติกาอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ เสียภาษีทุกประเภทเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษี VAT ภาษีสรรพสามิต และภาษีที่ดิน ธุรกิจของแต่ละรายมิได้จำกัดอยู่แต่การนำเข้าหรือกลั่นอย่างเดียว กำไรของเขาจึงไม่ใช่มาจากเฉพาะการกลั่นเท่านั้น แต่ละโรงอาจมีการลงทุนขยายงานหรือปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ไม่พร้อมกัน เช่นลงทุนติดอุปกรณ์คุมมาตรฐานคุณภาพน้ำมัน Euro 5 ตามนโยบายรัฐ เป็นต้น การจะไปขอให้แต่ละโรงเขาจัดสรรเงินก้อนแบ่งกำไรมาให้รัฐ
โดยจะใช้ตัวชี้วัด GRM เป็นตัวกำหนดแบบไม่แน่นอน (arbitrary) ผู้บริหารเขาคงต้องคิดหนักเพราะอยู่นอกเหนือขอบเขตของกฎหมายและพันธกรณีใดๆ และจะต้องนำไปขอรับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทด้วย ซึ่งคณะกรรมการของบริษัทฯ ก็พึงมีหน้าที่ตัดสินใจโดยชอบบนหลัก Fiduciary Duty ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต หากคณะกรรมการบริษัทมหาชนใช้ดุลพินิจโดยมิได้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ยึดถือประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้งจนเกิดความเสียหายธุรกิจ ก็อาจถูกผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่หรือรายย่อยฟ้องร้องเอาได้
ประการที่สี่ กำไรสุทธิของโรงกลั่นที่เป็นบริษัทจดทะเบียน จะรู้แน่ว่ามีกำไรหรือขาดทุนก็ต้องรอให้ครบ 12 เดือนของปีปฏิทินเสียก่อน การใช้ตัวเลข GRM เพียงแค่สองสามเดือนที่ผ่านมาแล้วสรุปว่าโรงกลั่น โดยมีกำไรมหาศาล หากในอีกหกเดือนหลังของปี 2565 นี้ราคาน้ำมันร่วงลงมา ค่า crack spreadsของดีเซลและเบนซินตกลงมาเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกหรือมีโรคระบาดใหม่เกิดขึ้นทำให้ต้องเกิดการ Lockdown รอบใหม่ โรงกลั่นกลายเป็นขาดทุนในรอบครึ่งปีหลัง เขาจะไปเรียกร้องขอเงินส้มหล่นนี้คืนจากรัฐได้ไหม ทุกวันนี้เพียงแค่มีข่าวว่ารัฐจะควบคุมราคาหรือกำหนดเพดานค่าการกลั่น หรือโรงกลั่นอาจต้องให้ความร่วมมือ 'บริจาค' เงินก้อนให้รัฐไปพยุงราคาน้ำมัน บรรดานักวิเคราะห์หลักทรัพย์ก็ต่างส่งสัญญาณ Sell
ทำให้หุ้นของโรงกลั่นทั้งหกโรงในตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาตกยกแผง market cap ลดวูบ บรรดากองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพบำเหน็จบำนาญ บรรดากองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพบำเหน็จบำนาญ หรือประกันสังคมทั้งหลาย หรือกองทุนการออมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น RMF, LTF หรือ SSF ที่เคยถือหุ้นโรงกลั่นอันจัดเป็นหุ้นพื้นฐานดีบน SET100 ต่างกลายเป็นมีมูลค่าสุทธิลดลง เพราะนักลงทุนเทขาย จากความหวั่นไหวไม่เชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจเสรี อาจกระทบต่อดัชนีจัดอันดับความชื่อถือ ratings
ของบริษัทฯ ได้
นอกจากนี้ในระยะยาว การที่รัฐจะไปเชิญนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศมาลงทุนในโครงการ mega projects ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก็อาจจะยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะนักลงทุนต่างชาติก็คงถามหาสิทธิภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนที่ไทยมีกับนานาประเทศ
'พาณิชย์' ชี้แจงไม่มีอำนาจคุมค่าการกลั่น
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรณีมีข้อเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เข้ามากำกับดูแล ค่าการกลั่น น้ำมันเพื่อช่วยให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลง นั้น มองว่า อำนาจหน้าที่ในเรื่องของราคาน้ำมันซึ่งน้ำมันนั้นเป็นสินค้าเฉพาะมีข้อกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแล โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันฉบับที่หนึ่ง คือ พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มาตรา 6(2)
ซึ่งกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไว้ว่า คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่วางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน โดยให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการพัฒนาและบริหารพลังงานของประเทศ ถ้าดูกฎหมายนี้จะเห็นว่าคนเกี่ยวข้องกับราคาพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการเฉพาะคือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมี นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นเลขานุการ ดังนั้นการกำหนดราคาหรือการวางหลักเกณฑ์เรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาและบริหารพลังงานแห่งประเทศด้วย เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของกระทรวงพลังงาน
ขณะที่กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับราคาพลังงาน และกรณีที่กระทรวงพลังงานอาจจะมีแนวคิดการเก็บเงินเข้ากองทุนพลังงาน พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกำหนดไว้ มาตรา 5 ให้มีการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานการณ์วิกฤตน้ำมัน และมาตรา 27 พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกำหนดไว้ว่าใครเป็นผู้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
โดยมาตรา 27(1)โรงกลั่น 27(2) ผู้นำเข้า ก็จะเห็นอยู่แล้วว่ากองทุนมีหน้าที่อะไรในเวลาสถานการณ์วิกฤต ใครควรเข้ามาบริหารจัดการและใครที่จะมีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุน คือ ผู้ผลิตน้ำมันในประเทศซึ่งเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันด้วย ซึ่งเป็นโรงกลั่นการใช้เงินเข้ากองทุนให้เป็นไปตามคณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด ประธานคือกระทรวงพลังงาน ที่กระทรวงพลังงานให้ข่าวคือการใช้อำนาจตามกฎหมายที่กระทรวงพลังงานรับผิดชอบกำกับดูแลอย่างถูกต้องทางกฎหมายที่สุด กรณีใดๆที่เป็นสินค้าเฉพาะโดยหลักการของกฎหมายต้องไปว่าที่กฎหมายเฉพาะนั้นๆก่อน
ในส่วนที่กระทรวงพาณิชย์กำกับดูแล พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยหลักการของกฎหมาย หากมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับเรื่องใด นักกฎหมายย่อมเข้าใจดีว่าต้องเดินเริ่มจากตรงนั้นเพราะกฎหมายกำหนดไว้ให้เห็นชัดเจนแล้ว
ส่วน LPG มีการประกาศราคาโดยกระทรวงพลังงาน และเป็นคนกำหนดราคที่จะมีการปรับราคาขึ้นราคาเป็นขั้นบันไดว่า เดือนละเท่าไหร่ต่อครั้ง ซึ่งเป็นวิธีการบริหารโดยใช้กฎหมายที่มีอยู่ โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแลควบคุมราคาไม่ให้มีการจำหน่ายเกินกว่าที่พลังงานกำหนด ทั้งนี้ การใช้อำนาจ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ของกระทรวงพาณิชย์จะใช้ในการกำกับดูแลสินค้าทั่วไปที่ไม่มีกฎหมายหรือกลไกเฉพาะ
เช่น กรณีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับประชาชน อย่างไรก็ตาม เพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมทางการค้า ได้มีการกำหนดมาตรการให้สถานีบริการน้ำมันปิดป้ายแสดงราคา และมีการตรวจสอบความถูกต้องเที่ยงตรงของหัวจ่ายน้ำมันมาอย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
1."รู้จักค่าการกลั่นคืออะไร? ทำไมรัฐเอามาช่วยลดราคาน้ำมัน"
2.รัฐบาลมีมตินำกำไรค่าการกลั่นมาลดราคาน้ำมัน คาดเบนซินลงได้ทันที 1บาท
3.กลุ่มโรงกลั่นแจงค่าการกลั่นไม่ได้สูงขึ้น 10 เท่า โต้ข้อมูล "ปล้นคนไทย"