ข่าวเศรษฐกิจ

ครม. ลดภาษีประจำปีรถ EV 80% หวังกระตุ้นใช้รถไฟฟ้า 1.3 แสนคัน

26 ก.ค. 65
ครม. ลดภาษีประจำปีรถ EV 80% หวังกระตุ้นใช้รถไฟฟ้า 1.3 แสนคัน

ครม. เคาะ 2 มาตรการลดภาษีประจำปีรถอีวี 80%-ลดอากรนำเข้า หวังกระตุ้นให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น

วันนี้ (26 ก.ค. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 2 มาตรการสนับสนุนให้เกิดการใช้งานและส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV คือ 1. การลดภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์ EV และ 2. การยกเว้นอากรนำเข้าสำหรับรถ BEV



ลดภาษีประจำปีรถ EV

สาระสำคัญคือ ลดอัตราภาษีประจำปี สำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวที่จดทะเบียน ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2565 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2568 ลง 80% ตามอัตราภาษีประจำปีเป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจูงใจให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปริมาณ PM 2.5 ในอากาศ ตลอดจนช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศด้วย

มาตรการนี้คาดว่าจะช่วยให้มีรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจำนวน 128,736 คัน ในขณะที่เบื้องต้น รัฐจะสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีประจำปีรถยนต์ไฟฟ้าปีงบประมาณ 2565 -2568 ประมาณ 18,974,572 บาท แต่ก็ถือเป็นสูญเสียรายได้เพียง 0.05% เท่านั้น ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บทั้งหมด โดยไม่กระทบต่อรายได้ของกรุงเทพมหานคร และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะนำไปจัดทำบริการสาธารณะให้กับประชาชน

istock-601378566

ลดอากรนำเข้ารถ BEV

มีสาระสำคัญ คือ ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับ รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสาร ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และรถยนต์กระบะ ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการผลิตหรือประกอบรถ BEV ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี ในปี 2565 - 2568 (31 ธ.ค. 256)

ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่จากต่างประเทศ สำหรับการนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ และนำไปผลิตหรือประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในเขตปลอดอากร (Free Zone) หรือเขตประกอบการเสรี รวมเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่ม ในประเทศได้ไม่เกิน 15% ของราคายานยนต์ไฟฟ้า BEV หน้าโรงงาน

การยกเว้นอากรนี้ ยังต้องมีผลรวมของมูลค่าวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มูลค่าวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดจากประเทศสมาชิก ASEAN มูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับต้นทุนค่าแรง ต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยเพื่อให้ได้มาซึ่งของนั้น และกำไรไม่น้อยกว่า 40% ของราคาหน้าโรงงาน โดยผู้ขอใช้สิทธิต้องเป็นผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรฯ

สำหรับมาตรการข้อ 2 นี้ คาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้ประมาณ 36,128 ล้านบาท และอาจจะเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการภายในประเทศ แต่จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิต BEV ในประเทศ และช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต BEV

advertisement

SPOTLIGHT