หลังจากเห็นสเป็กและราคา iPhone 14 ที่เปิดตัวมาเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา หลายๆ คนอาจกำเงินเตรียมไปจับจองไอโฟนรุ่นใหม่เป็นเจ้าของแล้ว แต่ในยุคเงินเฟ้อ ของขึ้นราคาแบบนี้ การเอาเงินไปซื้อโทรศัพท์ราคาเกือบ 7 หมื่นบาท (รุ่นท็อป) ก็อาจจะเป็นเรื่องเกินตัวไปหน่อย โดยเฉพาะพี่น้องที่รับรายได้ขั้นต่ำในประเทศไทย
แต่ถึงแม้คนอาจจะคิดว่า iPhone เป็นสินค้าหรูหราและไม่ได้มี target group เป็นคนรายได้ต่ำอยู่แล้ว สำหรับคนรายได้ขั้นต่ำในบางประเทศ iPhone ก็อาจไม่ใช่ของไกลเกินเอื้อมขนาดนั้น หากรายได้ขั้นต่ำในประเทศนั้นๆ ‘สูง’ พอที่ประชาชนจากทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงสินค้าตัวนี้โดยไม่ขัดสน
ในวันนี้นี้ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนมาดูกันว่าคนที่รับรายได้ขั้นต่ำในแต่ละประเทศใกล้เคียงของเรามี ‘กำลังซื้อ’ ขนาดไหน และต้องทำงานกันอย่างน้อยกี่วันถึงจะซื้อ iPhone 14 เครื่องหนึ่งได้
และเพื่อหาคำตอบ เราได้นำราคา iPhone 14 ความจุ 128 GB ซึ่งเป็นรุ่นที่ถูกที่สุดในไลน์อัพ มาหารกับรายได้ขั้นต่ำต่อวันของแต่ละประเทศ ที่เรานำมาจากข้อมูล ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2021 ของ National Wages Productivity Commission หน่วยงานที่ดูแลเรื่องค่าแรงของประเทศฟิลิปปินส์
โดยถ้าประเทศนั้นมีรายได้ขั้นต่ำไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ Spotlight จะเลือกรายได้ขั้นต่ำที่สูงที่สุดมาคำนวณ เพราะอยากได้ จำนวนวันที่น้อยที่สุดที่คนรับรายได้ขั้นต่ำในประเทศนั้นๆ ต้องทำงานเพื่อซื้อ iPhone 14 ที่ถูกที่สุด 1 เครื่อง
ซึ่งจากข้อมูลที่รวบรวมมา ก็พบว่ากำลังซื้อของประเทศเราอยู่ในอันดับที่ 6 ซึ่งก็ถือว่าไม่ขี้เหร่นักเพราะเราใช้จำนวนวันน้อยที่สุดในจำนวนประเทศอาเซียนที่อยู่ในลิสต์ และสามารถซื้อไอโฟนได้เร็วกว่าคนรับรายได้ขั้นต่ำในประเทศลาวถึง 6 เดือน ถึงแม้จะต้องใช้เวลานานมากอยู่ดีถ้าเทียบกับ 3 ประเทศหลังที่คนรับรายได้ขั้นต่ำเก็บเงินซื้อไอโฟนได้ในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน
โดยประเทศที่คนมีกำลังซื้อสูงที่สุดในลิสต์ก็คือคนที่รับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศออสเตรเลียที่จะใช้เวลาเพียงประมาณ 8-9 วัน หรือสัปดาห์กว่าๆ เท่านั้นในการทำงานเก็บเงินเพื่อซื้อ iPhone 14 จำนวน 1 เครื่อง เรียกได้ว่าเร็วกว่าคนทำงานกินเงินเดือนในประเทศไทยเสียอีก
ซึ่งจะเห็นได้ว่าในขณะที่ไอโฟนเป็นสินค้าหรูหราราคาสูงในบางประเทศ ในบางประเทศไอโฟนก็อาจเป็นเพียงสินค้าธรรมดาที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ และไม่ต้องทำงานสูงอะไรนักถึงจะมีกำลังซื้อโทรศัพท์แบบนี้มาใช้
ข้อมูลและตัวเลขอย่างละเอียดดูได้จากตารางข้างล่างนี้
***Disclaimer: การเปรียบเทียบนี้เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นกำลังซื้อของแต่ละประเทศอย่าง "คร่าวๆ" เท่านั้น ในความเป็นจริงต้องหักค่าครองชีพแต่ละประเทศ และนำตัวแปรเฉพาะของแต่ละบุคคลเข้ามาคำนวณด้วย
ที่มา: NWPC