ข่าวเศรษฐกิจ

สรุป ‘ศึกเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ’ เลือกอย่างไร? สำคัญแค่ไหน? ใครจะชนะ?

11 พ.ย. 65
สรุป ‘ศึกเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ’ เลือกอย่างไร? สำคัญแค่ไหน? ใครจะชนะ?

หากใครติดตามข่าวต่างประเทศในช่วงนี้ อาจจะได้รับรู้มาบ้างว่าในขณะนี้สหรัฐอเมริกากำลังมี ‘การเลือกตั้งกลางเทอม’ ซึ่งหมายถึงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าการรัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองสำคัญอื่นๆ ในช่วง ‘กลาง’ วาระของประธานาธิบดี

istock-1421613123

สำหรับคนไทยที่คุ้นเคยกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกๆ 4 ปี การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในช่วงที่มีประธานาธิบดีหรือผู้นำดำรงตำแหน่งอยู่อาจเป็นเรื่องแปลก และบางคนอาจจะคิดว่าระบบนี้มีแต่ที่สหรัฐฯเท่านั้น แต่แท้จริงนอกจากสหรัฐฯ แล้ว ประเทศอื่นๆ อย่างเช่น แคนาดา เม็กซิโก อาร์เจนตินา และ ฟิลิปปินส์ ก็มีการจัดเลือกตั้งกลางเทอมเช่นกัน โดยมีกฎระเบียบแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละพื้นที่

และสำหรับคนไทยที่อยู่อีกซีกโลก ‘การเลือกตั้งกลางเทอม’ นี้อาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่การเปลี่ยนขั้วการเมืองในรัฐสภาสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อทิศทางการดำเนินนโนบายด้านการเมือง และเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจของทั้งโลกอย่างช่วยไม่ได้

ในบทความนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงชวนทุกคนมาทำความรู้จัก ‘การเลือกตั้งกลางเทอม’ กันว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร การเลือกตั้งกลางเทอมในครั้งนี้มีอะไรเป็นประเด็นสำคัญ และผลการเลือกตั้งในครั้งนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศ และนอกประเทศ อย่างไรบ้าง

การเลือกตั้งกลางเทอมคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

การเลือกตั้งกลางเทอม (Midterm Election) คือการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (Senate) หรือ ‘สภาสูง’ และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (House of Representatives) หรือ ‘สภาล่าง’ รวมไปถึงผู้ว่าการรัฐใน 36 มลรัฐ ผู้ว่าการดินแดนสหรัฐ 3 คน ที่จะจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี ไม่เหมือนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะจัดทุกๆ 4 ปี 

istock-1393141374

โดยในระบบ ‘สภาคู่’ ของสหรัฐอเมริกา สมาชิกวุฒิสภาจะดำรงตำแหน่งวาระละ 6 ปี มีรัฐละ 2 คน ทั้งหมด 50 คนจาก 25 รัฐ ทำให้สมาชิกวุฒิสภามีวาระดำรงตำแหน่งสลับฟันปลา (staggered term) ในการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งหนึ่งจะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 35 คน

ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. สหรัฐอเมริกาจะดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี ทำให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่ยกชุดในทุกการเลือกตั้งกลางเทอม อีกข้อแตกต่างจาก ส.ว. คือ ในขณะที่แต่ละรัฐจะมีจำนวน ส.ว. เท่ากันคือ 2 คน แต่ละรัฐจะมีจำนวน ส.ส. ไม่เท่ากัน โดยรัฐที่มีขนาดใหญ่จะมีจำนวน ส.ส. มากกว่ารัฐขนาดเล็ก

รัฐที่มี ส.ส. มากที่สุดคือ แคลิฟอร์เนีย ที่มี ส.ส. ถึง 52 คน รวมทั้งประเทศมี ส.ส. ทั้งหมด 435 คน เท่ากับว่าพรรคใดได้ ส.ส. เกิน 218 ที่นั่ง จะได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแน่นอนว่าถ้าพรรคของประธานาธิบดี ไม่ใช่พรรคเดียวกับที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร การผ่านนโนบายและร่างกฎหมายต่างๆ ที่ขัดกับนโยบายของฝั่งตรงข้ามจะเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้การเลือกตั้งกลางเทอมมักจะเป็นการเลือกตั้งที่แสดงความนิยมของแต่ละพรรค และทัศนคติของประชาชนต่อปัญหาต่างๆ ทั้งในด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ในขณะนั้น ซึ่งจะเป็นข้อมูลให้แต่ละพรรคนำไปวางแผนการส่งตัวแทนลงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ในอีก 2 ปี ถัดไป

 

‘เงินเฟ้อ - สิทธิทำแท้ง’ ประเด็นกุมชัยชนะ

ในการเลือกตั้งกลางเทอมทุกครั้ง จะมีการทำ Exit Poll ซึ่งเป็นโพลที่ถามประชาชนที่เพิ่ง ‘ออก’ จากคูหาเลือกตั้งทุกครั้งว่าประเด็นสำคัญที่มีส่วนในการตัดสินใจเลือกผู้แทนในครั้งนี้คือเรื่องใด

ในการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ 5 ประเด็นที่มีความสำคัญที่สุดในสายตาประชาชนชาวอเมริกันคือ 

  1. ปัญหาเงินเฟ้อ (31%) 
  2. สิทธิในการทำแท้ง (27%)
  3. ปัญหาอาชญากรรม (11%)
  4. นโยบายควบคุมปืน (11%)
  5. ผู้อพยพ (10%)

โดยจะเห็นได้ว่า 2 ประเด็นที่มีความสำคัญสูงที่สุดคือ ปัญหาเงินเฟ้อ และสิทธิในการทำแท้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่บ่งบอกได้ระดับหนึ่งว่าประชาชนจะเลือกพรรคไหน เพราะถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนนั้นคิดว่าปัญหาเงินเฟ้อเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด คนคนนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเลือกพรรครีพับลิกัน เพราะตอนนี้ความนิยมของประธานาธิบดี โจ ไบเดน และพรรคเดโมแครต ตกต่ำลงอย่างมากจากการจัดการเงินเฟ้อที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ในขณะที่ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนนั้นมองเรื่องสิทธิในการทำแท้งเป็นปัญหาใหญ่ คนคนนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเลือกผู้แทนจากพรรคเดโมแครตมากกว่า เพราะพรรครีพับลิกันมีจุดยืนต่อต้านการทำแท้งมาเสมอ โดยเฉพาะในเคสที่อายุครรภ์สูง

ซึ่งด้วยความที่ปัญหาเงินเฟ้อกำลังเป็นปัญหาที่ร้อนแรง และส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วทั้งหัวระแหง ก่อนหน้าจะมีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน สื่อหลายสำนักรวมไปถึงนักวิเคราะห์จึงมองว่าพรรครีพับลิกันจะได้เสียงข้างมากในสภาล่างไปในครั้งนี้ บางคนถึงกับทำนายว่าจะมี ‘ปรากฎการณ์คลื่นสีแดง’ หมายถึงการกวาดที่นั่งอย่างถล่มทลายของฝั่งรีพับลิกัน เกิดขึ้น

 

ผลคะแนนล่าสุดอย่างไม่เป็นทางการ

แต่ล่าสุด ผลการเลือกตั้งสำหรับสภาสูงก็ยังคงสูสีกินกันไม่ลง โดยพรรคเดโมแครตยังเป็นฝ่ายนำ 1 ตำแหน่ง และรีพับลิกันต้องชนะ 2 ใน 3 สนามที่เหลือ คือ แอริโซนา, เนวาดา และ จอร์เจีย จึงจะได้เสียงข้างมากในวุฒิสภา

ในขณะที่ในสภาล่าง รีพับลิกันกลับได้ที่นั่งไปเพียง 211 ที่นั่ง ชนะเดโมแครตที่ได้ไป 192 ที่นั่งเพียงไม่กี่เปอร์เซน และยังห่างไกลจากการได้ 218 ที่นั่งเพื่อครองเสียงข้างมากอยู่พอสมควร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนบางส่วนอาจยังไม่เสื่อมศรัทธากับพรรคเดโมแครต หรืออาจมองว่าปัญหาเงินเฟ้อไม่ได้เกิดจากการบริหารจัดการของไบเดนเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ด้วย 

และเมื่อปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากการบริหารของรัฐบาลกลางเพียงอย่างเดียว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางส่วนจึงไม่เชื่อว่าผู้แทนจากพรรครีพับลิกันจะสามารถเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้ดีกว่าพรรคเดโมแครต ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับจุดยืนของพรรคเรื่องการทำแท้งแล้ว ผู้เลือกตั้งบางคนที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดโดยเฉพาะก็อาจจะคิดว่าเดโมแครตยังเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็ยังรักษาสิทธิในเนื้อตัวประชาชน

 

จะเกิดอะไรขึ้นหากรีพับลิกันครองสภาล่าง

อย่างไรก็ตาม ถึงรีพับลิกันจะไม่สามารถทำให้ ‘คลื่นสีแดง’ เกิดขึ้นได้อย่างที่คาด แต่เสียงข้างมากก็ยังเป็นเสียงข้างมาก และเมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรที่คุมโดยฝั่งรีพับลิกันอยู่ การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก 2 ปีของ โจ ไบเดน และเส้นทางในการผลักดันนโยบายและผ่านร่างกฎหมายในประเด็นต่างๆ ของฝั่งเดโมแครต เช่น เรื่องรักษาสิทธิในการทำแท้ง การปรับแก้สิทธิในการครอบครองอาวุธปืน หรือเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ ย่อมไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่ๆ

 

  • สิทธิในการทำแท้งอาจถูกจำกัดเพิ่มขึ้นอีกในบางรัฐ

 

เรื่องสิทธิในการทำแท้งเป็นประเด็นที่ผู้แทนจากพรรคเดโมแครตยกขึ้นมาหาเสียงเสมอ เพราะถ้าหากรีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภา สิทธิในการทำแท้ง ซึ่งในปัจจุบันไม่ใช่สิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้ว อาจถูกจำกัดขึ้นอีกในบางรัฐ เช่น เเคนซัส เพนซิลเวเนีย จอร์เจีย และวิสคอนซิน 

โดยจากผลการเลือกตั้ง รัฐที่น่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้คือ จอร์เจีย ที่ได้ผู้ว่าการรัฐคนใหม่จากฝั่งรีพับลิกัน และได้ผู้แทนจากฝั่งรีพับลิกันเป็นเสียงข้างมากในสภาที่ 9 ต่อ 5 และกำลังลุ้นอยู่ว่าจะได้สมาชิกวุฒิสภาจากฝั่งไหน เพราะตัวแทนจากสองพรรคได้คะแนนสูสีกัน และต้องไปวัดกันต่อในการเลือกตั้งชี้ผลวันที่ 6 ธันวาคม

ปัจจุบันจอร์เจียถือได้ว่าเป็นรัฐที่สิทธิในการทำแท้งถูกจำกัดมากที่สุดรัฐหนึ่ง โดยตามกฎหมายของรัฐนี้ ผู้มีมดลูกที่มีอายุครรภ์เกิน 6 สัปดาห์จะไม่สามารถทำแท้งได้ หากการตั้งครรภ์นั้นไม่ได้เกิดจากการล่วงละเมิดทางเพศ หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อผู้มีมดลูก ซึ่งการห้ามทำแท้งหากอายุครรภ์เกิน 6 สัปดาห์นี้ถือว่าเร็วเกินไป เพราะในช่วงเวลานั้น ผู้มีมดลูกบางคนยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตัวเองตั้งครรภ์

istock-543041832

นอกจากนโยบายด้านสิทธิในการทำแท้งแล้ว การขับเคลื่อนนโยบายด้านสังคมอื่นๆ ของเดโมแครต ที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น นโยบายเก็บภาษีบริษัทน้ำมัน นโยบายลงทุนกับพลังงานสะอาด นโยบายเพิ่มการควบคุมอาวุธปืน ก็อาจจะถูกขัดขวางไปด้วย

 

  • รัฐบาลสหรัฐอาจต้องหยุดส่งเงินและอาวุธสนับสนุนยูเครน

 

นับตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 รัฐบาลสหรัฐได้ส่งเงินช่วยเหลือ และอาวุธเพื่อสนับสนุนยูเครนแล้วมูลค่าทั้งหมด 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการส่งเงินช่วยเหลือประเทศอื่นนี้ ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายอีกอย่างที่ไม่จำเป็นสำหรับพรรครีพับลิกัน เพราะพวกเขามองว่าเงินจำนวนนั้นควรจะเป็นเงินที่นำมาใช้เพื่อคนในประเทศ

เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลไบเดนต้องการส่งเงินหรืออาวุธช่วยเหลือยูเครนอีก ความพยายามนั้นก็น่าจะถูก ส.ส. จากพรรครีพับลิกันปัดตกไป เพราะไม่ตรงกับจุดยืนของพรรคที่มุ่งจะลดรายจ่ายสาธารณะของรัฐบาลให้มากที่สุด

นอกจากนี้ การที่ผู้แทนฝั่งรีพับลิกันได้คุมเสียงข้างมากยังหมายความว่า พรรครีพับลิกันจะมีอำนาจในการล้มการสืบสวนกรณีมวลชนบุกเข้าโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อ 6 มกราคมปี 2021 ได้ เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่พรรคเดโมแครตพยายามผลักดันให้มีการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องมา 2 ปี เพราะเชื่อว่าโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันมีส่วนในการปลุกระดมมวลชนให้บุกรัฐสภาเพื่อล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

 

 

  • ‘หนี้ท่วม-เศรษฐกิจถดถอย’ ปัจจัยเสี่ยงหลักปีหน้า

 

สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลของ โจ ไบเดน ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือ การกู้เงินมาอัดฉีดเข้าระบบ และใช้จ่ายกับนโยบายสาธารณะต่างๆ ทั้งแผนบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงโควิดผ่านการให้เงิน และให้เบี้ยเลี้ยงว่างงาน โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งในด้านคมนาคม และการสื่อสาร และล่าสุดคือนโยบายยกเลิกหนี้นักเรียน ที่ฝั่งรีพับลิกันวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออยู่ทุกวันนี้

โดยในปัจจุบัน ปริมาณหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาก็เรียกได้ว่าสูงแทบจะถึงเพดานแล้ว เพราะในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยอดหนี้สาธารณะของอเมริกาสูงถึง 31.22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ในขณะที่เพดานหนี้อยู่ที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเท่ากับว่าในอนาคตหากรัฐบาลต้องหาเงินมาช่วยเหลือประชาชนอีก รัฐบาลก็ต้องยกเพดานหนี้ขึ้นเพื่อกู้เพิ่ม

อย่างไรก็ตาม เมื่อรีพับลิกันมีเสียงข้างมากอยู่ในสภาผู้แทน การเพิ่มเพดานหนี้อาจเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เพราะในการหาเสียงครั้งนี้รีพับลิกันมีจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ หรือถ้าเพิ่มก็ต้องหาทางตัดรายจ่ายสาธารณะออกไป ซึ่งเท่ากับว่าบางโครงการที่ไบเดนตั้งใจจะทำ โดยเฉพาะโครงการที่ทั้งสองพรรคไม่ได้เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นเรื่องจำเป็น เช่นโครงการยกเลิกหนี้นักเรียน ก็มีสิทธิสูงที่จะล้มไปในอนาคต

นอกจากนี้ จุดยืนไม่เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะนี้ยังส่งผลลบต่อตลาดหุ้น เพราะเท่ากับว่าในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาขึ้น รัฐบาลมีแนวโน้มว่าจะรัดเข็มขัดนโยบายการเงิน ไม่อัดฉีดเงินเข้าระบบ ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องเจอผลกระทบรุนแรงแน่นอนเพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคจะลดฮวบ

ในเบื้องต้น จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้น่าจะไม่กระทบสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะสั้น แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในปี 2023 กระทบเศรษฐกิจโลก และกระทบการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ  ที่คาดว่าจะเติบโตช้าลงเหลือเพียง 1.1% ในปีหน้า




ที่มา: Chatham House, BBC, NBC, Committee for A Responsible Federal BudgetCNN

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT