สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ปี 1789 แต่นับจนถึงปัจจุบันรัฐธรรมนูญได้รับการแก้ไขมาแล้ว 27 ครั้ง
คำถามที่สำคัญที่มีการถกเถียงกันคือ รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ควรได้รับการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยหรือไม่ และหากใช่ การเปลี่ยนแปลงควรเกิดขึ้นในรูปแบบใดเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการรักษามรดกทางประวัติศาสตร์และการตอบสนองต่อความต้องการในอนาคตของชาติ และเพราะเหตุใด รัฐธรรมนูญที่เขียนมานานกว่า 200 ปีแล้ว ยังคงทรงคุณค่า จนสหรัฐฯเป็นประเทศที่ไม่เคยมีการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือฉีกรัฐธรรมนูญเลยสักครั้ง Spotlight World ได้รวบรวมคำตอบมาให้
รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ถูกออกแบบในปี 1789 สำหรับสังคมเกษตรกรรมขนาดเล็ก ที่ร้อยละ 95 ของประชากรที่มีเพียง 4 ล้านคนประกอบอาชีพเกษตรกร และในจำนวนดังกล่าวประชากรทั้งหมด ยังถูกแบ่งชนชั้นว่าเป็นทาสอีก 7 แสนคน แต่ปัจจุบัน ประเทศเติบโตจนมีประชากรกว่า 330 ล้านคน พร้อมความซับซ้อนทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
แม้กระทั่งการเลือกตั้งยังถูกออกแบบมาเพื่อเกษตรกร โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯยังคงจัดขึ้นในวันอังคาร เพราะเมื่อย้อนกลับไปกว่า 200 ปีก่อน การกำหนดวันต้องยึดโยงกับตารางงานของเกษตรกรเช่นกัน โดยวันพุธจะเป็นวันที่เกษตรกรนำผลผลิตมาขายที่ตลาด หากจะให้เดินทางไปเลือกตั้งวันพฤหัสหรือศุกร์ก็จะไม่สะดวก เพราะสมัยนั้น การเดินทางระหว่างเมืองใช้เวลาเป็นวัน ๆ ขณะที่วันอาทิตย์เป็นวันที่ชาวคริสเตียนไปทำพิธีที่โบสถ์ ส่วนวันเสาร์ในสมัยก่อน ไม่ถือว่าเป็นวันหยุด การหยุดงานวันเสาร์และอาทิตย์ในสหรัฐฯเพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วงคริสตทศวรรษที่ 1930 ดังนั้น วันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือน จึงถูกกำหนดให้เป็นวันเลือกตั้งสหรัฐฯ มาตั้งแต่ ค.ศ. 1845
แต่พอมาถึงปัจจุบัน การเลือกตั้งวันอังคารก็ไม่สะดวกสำหรับใครหลายคนเพราะต้องทำงาน ทางการไม่ได้ประกาศให้วันเลือกตั้งเป็นวันหยุดด้วย ดังนั้นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจึงนิยมเลือกตั้งล่วงหน้า หรือเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์แทน
โครงสร้างของรัฐบาลในรัฐธรรมนูญที่วางไว้ในปลายศตวรรษที่ 18 ให้อำนาจสภาคองเกรสในการออกกฎหมายต่างๆ แต่เมื่อมาถึงปัจจุบัน การกฎหมายของสภาคองเกรสมักนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างประนีประนอม เพราะสมาชิกสภานิติบัญญัติต้องคำนึงผลประโยชน์ของเขตเลือกตั้งตนเป็นหลัก มากกว่าการแก้ปัญหาระดับชาติ
แต่ความเข้มแข็งของสภาคองเกรสก็อาจจะถูกมองได้สองด้าน เพราะบางครั้งอำนาจของสภาคองเกรสก็คอยคานอำนาจของประธานาธิบดีเอาไว้ แต่ในบางโอกาส ก็นำไปสู่การหยุดชะงักของการเมืองสหรัฐฯ เช่น การที่สภาคองเกรสไม่ผ่านงบประมาณ หรือขยายเพดานหนี้ นำไปสู่การ “ชัทดาวน์” หรือหน่วยงานสหรัฐฯบางหน่วยงานต้องปิด เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา
ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มีถ้อยคำที่บางคนมองว่า ขัดกับคำมั่นสัญญาเรื่องความเท่าเทียมและการยอมรับ เช่น การที่นับว่าทาสเป็น “สามในห้าส่วน” ของคนหนึ่งคน นอกจากนี้ ข้อความเกี่ยวกับตำแหน่งประธานาธิบดียังคงใช้สรรพนามเฉพาะเพศชาย เช่น “เขา” หรือ “ของเขา” สะท้อนความล้าหลังในมุมมองเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แม้ในเวลาต่อมา จะมีผู้หญิงเล่นการเมืองแล้วก็ตาม
รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ เป็นแบบอย่างให้หลายประเทศนำบางแง่มุมไปปรับใช้ ทั้งในสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และประเทศในลาตินอเมริกา อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ไม่ได้ลอกเลียนแบบทุกส่วน เนื่องจากโครงสร้างการปกครองแตกต่างกัน อย่างสหรัฐฯ มีระบบสหพันธรัฐ และมีระบบการปกครองแบบประธานาธิบดีแทนที่ระบบรัฐสภา รวมถึงการใช้ตัวแทนโดยตรงแทนสัดส่วนผู้แทน
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ คงอยู่มายาวนาน คือหลักการสำคัญ เช่น ระบบสหพันธรัฐ การแยกอำนาจ การพิจารณาคดีโดยศาล และกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 5 ความน่าสนใจคือผู้ก่อตั้งประเทศและผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้ออกแบบระบบ เพื่อถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งผ่านมากว่า 200 ปี มันก็ยังคงได้ผล เพราะสหรัฐฯยังไม่เคยมีการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือฉีกรัฐธรรมนูญแม้เพียงครั้งเดียว